การขยายตัวของเขตเมืองในแอริโซนาส่งผลให้ถิ่นอาศัยของนกเค้าโพรงถิ่นตะวันตกตัวจิ๋วกำลังถูกทำลาย กระตุ้นให้นักอนุรักษ์ต้องคิดหาวิธีช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์
กล่องกระดาษแข็งใส่สัตว์เลี้ยงตั้งอยู่บนหญ้าทะเลทราย ขณะเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสัตว์ชื่อ เอริก เมอร์เรย์ นั่งยองๆอยู่ใกล้ๆบนอิฐบล็อก กำลังขยับถุงมือคู่หนาเพื่อจับสัตว์ที่อยู่ข้างในออกมา จากนั้น ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างฉับไว ครั้งเดียว เมอร์เรย์ยื่นมือเข้าไปในกล่องแล้วจับนกเค้าขนสีน้ำตาลจุดขาวตัวเล็กๆตัวหนึ่งออกมา
แม้จะโตเต็มวัยแล้ว แต่นกเค้าตัวนี้สูงแค่ราว 23 เซนติเมตร มีขาเรียวยาวและกรงเล็บแหลมคม ตาสีเหลือง คู่โตของมันเบิกกว้างขึ้น ขณะค่อยๆหมุนหัวไปมาเพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว
ในวันฤดูใบไม้ผลินี้ เมอร์เรย์กับอาสาสมัครราวสิบสองคนมารวมตัวกันที่มาร์ตินฟาร์ม ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าขนาดราว 600 ไร่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา พวกเขามาร่วมปล่อยนกในแบบไม่เหมือนใคร หลังจากกางปีกของนกเค้าตัวหนึ่งออกอย่างระมัดระวังเพื่อดูให้แน่ใจว่าเป็นเพศเมีย “มีลายเป็นแถบอยู่เยอะจนถึงด้านล่างเลยครับ” เมอเรย์บอกพลางชี้ให้ดูลายสีเข้มตลอดแนวขนชั้นใน เขาหันไปทางโรงเลี้ยงชั่วคราวที่เพิ่งประกอบขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นกระโจมขนาด 3 คูณ 3 เมตรทำด้วยผ้าสแลนโปร่งบางสีดำ เขายกมุมหนึ่งของกระโจมขึ้นแล้วโยนนกตัวนั้นเข้าไปอย่างเบามือ


เจ้านกหันมองรอบตัว พุ่งหัวบินออกไปชนผนังผ้า ตกลงมากลิ้งบนหย่อมดินขุดใหม่ๆ มันไม่แยแส แต่ทำแบบเดิมซ้ำๆ
จากนั้น อาสาสมัครก็นำนกเค้าอีกตัวมาใส่ในโรงเลี้ยงดังกล่าว นกทั้งสองตัวยังบินโฉบไปมาเพราะตื่นตกใจ แม้จะเห็นแล้วดูน่าสงสาร แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆหลายร้อยครั้งตลอดทั้งปี ที่มาร์ตินฟาร์ม กระโจมนี้เป็นหนึ่งใน 25 หลังที่ทำขึ้นโดยเว้นระยะห่างจากกันตลอดแนวที่ดิน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไวลด์แอตฮาร์ต (Wild At Heart) กลุ่มช่วยเหลือสัตว์ที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการเหล่านี้ ได้โน้มน้าวเมืองทูซอนให้กันที่ดินหย่อมนี้เป็นเขตอนุรักษ์ กลุ่มนี้มีพื้นที่ซึ่งมีการดำเนินงานอยู่ทั้งหมดเจ็ดแห่งบนที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนในแอริโซนา
ความหวังคือภายในหนึ่งเดือนจะสามารถรื้อกระโจมออกได้ และนกพวกนี้น่าจะทำรังกันแล้วที่จุดนั้นหรือพูดให้ถูกก็คือใต้จุดนั้น เพราะพวกมันเป็นนกเค้าโพรง ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิวัฒน์เพื่ออาศัยอยู่ใต้ดิน



จากที่เคยเป็นนกเค้าที่มีประชากรมากที่สุดชนิดหนึ่งในทวีป [อเมริกาเหนือ] นกเค้าโพรงเผชิญกับการลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ประชากรตอนนี้เหลือเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนที่เคยมีในอดีต โดยอยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของแคนาดา ถูกคุกคามในเม็กซิโกกับฟลอริดา และถูกกำหนดสถานะทางการคุ้มครองหลากหลายระดับในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคตะวันตกของสหรัฐฯ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองและเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งขุดพลิกผืนดินที่นกชนิดนี้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่มีที่อื่นใดในสหรัฐฯที่ความก้าวหน้า นำมาซึ่งหายนะปรากฏชัดเจนเท่าในแอริโซนา โดยเฉพาะในเขตมหานครฟีนิกซ์ หนึ่งในเขตเมืองเติบโตเร็วที่สุดในประเทศ กิจการทางอุตสาหกรรมและโซลาร์ฟาร์มกำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วย่านชานเมือง
นกเค้าโพรงวิวัฒน์ให้เข้าใช้โพรงที่ถูกทิ้งร้าง โดยทั่วไปเป็นของแบดเจอร์ แพรรีด็อก และกระรอกดิน ตามท้องทุ่งในภูมิภาคตะวันตก สัตว์หลายชนิดที่พวกมันเคยพึ่งพา มีจำนวนลดลงเนื่องจากภัยแล้งและการรณรงค์ส่งเสริมให้กำจัดพวกมันในอดีต แต่ในแอริโซนา กลุ่มไวลด์แอตฮาร์ตกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถนำสัตว์เหล่านี้ออกมาจากขอบเหวได้ แม้ในขณะที่ต้องต่อสู้กับการลองผิดลองถูกที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้
ทั้งหมดเริ่มต้นจากเครือข่ายโพรงเทียมที่ทำขึ้นมาชุดหนึ่งใต้ผิวดินตื้นๆ
ในแต่ละกระโจมจะมีท่อพีวีซียื่นพ้นพื้นดินขึ้นมา เพื่อสร้างทางเข้าออกขนาด 15 เซนติเมตรเชื่อมต่อกับโพรงที่มนุษย์สร้างขึ้น โพรงนี้ยาวประมาณห้าเมตรและมุดลงลึกราวหนึ่งเมตร ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าโพรงจะยังเย็นอยู่ ขณะที่อุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น โพรงนี้เชื่อมต่อกับรังหลักที่สร้างโดยการตัดครึ่งถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร เพื่อจำลองขนาดของที่อยู่อาศัยทั่วไปที่นกเค้าอาจพบเจอในธรรมชาติ
เป็นเวลา 30 วันที่นกสองตัวในแต่ละกระโจมจะถูกเลี้ยงด้วยอาหารประจำวันเป็นหนูแช่แข็งสามตัวให้แบ่งกันกิน เมื่อถึงเวลารื้อกระโจมออก อาสาสมัครจะกลับมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ของกินเล่นระหว่างที่นกทำความคุ้นเคยกับแหล่งล่าเหยื่อใหม่ๆของพวกมัน
แนวคิดการเคลื่อนย้ายถิ่นที่ต้องวางแผนและดำเนินการอย่างจำเพาะเจาะจงนี้เริ่มขึ้นเมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน ตอนที่นักอนุรักษ์ บ็อบ ฟอกซ์ และแซม ภรรยาผู้ล่วงลับของเขา เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูแห่งหนึ่งของกรมบริหารปลาและกีฬาล่าสัตว์แอริโซนา ในปี 1991 แซมได้รับอนุญาตให้ดูแลลูกนกแสกตัวหนึ่งชื่อ คีอา สองสามีภรรยาจึงสร้างกรงนกขนาดเล็กหลังหนึ่งขึ้นมาในสนามหลังบ้าน จนเมื่อคีอาโตพอ พวกเขาก็ประหลาดใจเมื่อเห็นมันเริ่มเป็นพี่เลี้ยงให้ลูกนกพลัดถิ่นอื่นๆ
การดำเนินงานข้างต้นต้องมีใบอนุญาตจากทั้งทางรัฐแอริโซนาและองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนให้สามีภรรยาฟอกซ์เปิดศูนย์ฟื้นฟูของตัวเองขึ้นมา เป็นศูนย์ระดับมืออาชีพในเมืองเคฟครีกแถบชานเมืองฟีนิกซ์ ซึ่งให้ที่อาศัยแก่นกนักล่าที่ได้รับบาดเจ็บอย่างนกแสก เหยี่ยวออสเปรย์ และเหยี่ยวอื่นๆ
โทรศัพท์บ้านของสามีภรรยาฟอกซ์กลายเป็นคล้ายสายด่วน 24 ชั่วโมงสำหรับชาวบ้านที่พบนกบาดเจ็บในแอริโซนา นกเค้าโพรงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่น่ากังวล และกรมบริหารปลาและกีฬาล่าสัตว์ของรัฐก็หันมาทำงานเชิงรุก โดยแนะนำไซต์ก่อสร้างต่างๆให้สำรวจพื้นที่ก่อนเริ่มการก่อสร้างใดๆ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายนกเค้าออกจากพื้นที่ได้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มไวลด์แอตฮาร์ตเติบโตเป็นทีมงานเต็มเวลาขนาดเล็กกับเครือข่ายอาสาสมัครซึ่งมีจำนวนมากกว่า คอยรับโทรศัพท์ที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆให้ไปช่วยดักจับและย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่อย่างมีมนุษยธรรม
แนวคิดเรื่องโพรงเทียมมาจากแซม ฟอกซ์ “ตอนนั้นยังไม่มีกลไกอะไรสำหรับการย้ายถิ่นใหม่ครับ” บ็อบ ฟอกซ์ เท้าความหลัง “ทีนี้พอพวกมันพร้อมสำหรับการปล่อยแล้ว แซมก็บอกว่า ‘คุณจะโยนพวกมันออกไปเฉยๆไม่ได้นะ คุณต้องสร้างอะไรสักอย่างให้พวกมันด้วย’ ”
ท้ายที่สุด กลุ่มไวลด์แอตฮาร์ตก็ออกแบบรังที่สร้างได้ในราคาถูกและติดตั้งง่าย แต่ต้องเผชิญกับเส้นการเรียนรู้ที่หนักหน่วง มีอยู่ปีหนึ่ง แบดเจอร์เพียงตัวเดียวกัดแทะโพรงทะลุหมดทั้ง 50 โพรงเพื่อหาของกินง่ายๆ อีกปีหนึ่ง ฝนที่ตกหนักจนน้ำท่วม ทำให้รังไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ปัจจุบัน โพรงเหล่านี้มีลวดตาข่ายอยู่ใต้ก้นถังเพื่อป้องกันรังจากสัตว์นักขุดดินทั้งหลาย ท่อทางเข้าส่วนใหญ่ถูกยกสูงขึ้นมาเล็กน้อยและวางหินล้อมรอบ เพื่อให้อยู่สูงพ้นน้ำในกรณี น้ำท่วม นอกจากนี้ ทีมงานยังเติมคอนเกาะทำจากแท่งไม้ให้ด้วย นกเค้าจะได้มีที่เกาะสูงเหนือพื้นดินสำหรับกวาดตาสำรวจสัตว์ผู้ล่า
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อกระโจมถูกรื้อออก “เราเจอปริศนาเหล่านี้ครับ” เกรก คลาร์ก ผู้ประสานงานด้านถิ่นอาศัยขององค์กรไม่แสวงกำไรดังกล่าว เล่าให้ฟัง “นกเค้าวางไข่กันเยอะมากในกระโจมแล้วทุกคนก็คิดว่าสุดยอดมาก เว้นแต่ว่ามีไข่จำนวนหนึ่งถูกทอดทิ้ง และไม่มีใครเลยที่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ”

หลายปีก่อนหน้านี้ องค์การบริหารปลาและสัตว์ป่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับความพยายามในการจำลองถิ่นอาศัย ย้อนหลังไปเมื่อปี 2017 หน่วยงานทำการศึกษาเรื่องแนวทางปฏิบัติของไวลด์แอตฮาร์ต โดยเปรียบเทียบพื้นที่รัง 122 แห่ง ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นกรณีเคลื่อนย้ายถิ่น กับพื้นที่รังอื่นๆในบริเวณปลอดการรบกวนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การย้ายถิ่น ตลอดสองปีถัดมา ไวลด์แอตฮาร์ตทำงานร่วมกับทีมงานอิสระทีมหนึ่งซึ่งรวมถึงมาร์ทา เดสมอนด์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกสเตต และเดวิด เอช. จอห์นสัน ผู้ก่อตั้งโครงการ โกลบอลอาวล์ (Global Owl Project) ซึ่งร่วมกันวางกลยุทธ์ที่มีหลักฐานรองรับ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการย้ายถิ่นใหม่ให้นกเค้า
ปรากฏว่าไวลด์แอตฮาร์ตจัดให้นกเค้าอยู่รวมกันมากเกินไป คือหกถึงสิบตัวในกรงเดียวกัน “ข้อนี้ดูจะเป็นปัจจัยก่อความเครียดสำคัญสำหรับนกเค้าทั้งหมด และส่งผลต่อการที่ไข่จะได้รับการดูแลมากน้อยเพียงใด” คลาร์ก อธิบาย
การย้ายถิ่นใหม่ให้นกเพศผู้ในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ก่อให้เกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง พวกนกเพศผู้ไม่มีประสบการณ์การล่าในพื้นที่ใหม่ และเมื่อกระโจมถูกรื้อออก หนูที่ได้กินโดยไม่ต้องล่าก็หายไป พวกนกเพศเมียจึงมักจะทิ้งรังไปหาคู่ที่ดีกว่า
ทั้งหมดนี้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตจำนวนมาก จากการติดเครื่องส่งวิทยุที่ตัวนกเค้าเคลื่อนย้ายถิ่น 43 ตัวกับ นกเค้าที่อยู่ประจำถิ่นอีก 42 ตัว ทีมวิจัยสามารถติดตามผลพวงทางลบนี้ได้ โดยรู้ว่านกเคลื่อนย้ายถิ่นจะประสบกับอัตราการตายที่สูงกว่าเสมอ ในกรณีนี้ จำนวนนกตายในกลุ่มที่เพิ่งย้ายมาใหม่ๆนั้นสูงกว่าเท่าตัว กล่าวคือ นกเค้าเคลื่อนย้ายถิ่น 24 ตัวตายลง เทียบกับนกเค้าอยู่ประจำถิ่น 11 ตัวที่ตาย “สถานการณ์ไม่ดีเอาเลยค่ะ”เดสมอนด์กล่าว
แต่ข้อมูลใหม่ก็จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน ไวลด์แอตฮาร์ตใช้กระโจมขนาดเล็กลง กระจายห่างกันมากขึ้น และให้นกเค้าอยู่ด้วยกันเพียงคู่เดียว
จอห์นสัน ผู้ดำเนินงานวิจัยกับองค์กรทั่วโลกในด้านการเคลื่อนย้ายถิ่น บอกว่า ไวลด์แอตฮาร์ตโดดเด่นกว่าใครในเรื่องจำนวนนกเค้าที่ได้รับ ในปีปกติทั่วไป กลุ่มนี้มีนกเค้าราว 200 ตัวที่จำเป็นต้องย้ายถิ่นใหม่ แต่ในปีที่การก่อสร้างบ้านเรือนอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าเฉลี่ยนี้เพิ่มเป็นมากกว่า 250 ตัว เมื่อไม่นานมานี้ พลังงานหมุนเวียนทำให้ความกดดันยิ่งหนักหน่วงขึ้น โดยมีนกเค้ากว่า 100 ตัวถูกย้ายถิ่นใหม่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาสืบเนื่องจากโครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ
พื้นที่สำหรับการย้ายถิ่นใหม่จำนวนมากรองรับนกได้แค่ราว 50 ตัว หากพื้นที่เต็มหมดแล้ว นกเค้าที่ย้ายถิ่นอาจต้องอยู่ในโรงเลี้ยงนานขึ้น ซึ่งอาจทำให้ร่างกายพวกมันอ่อนแอลง ส่งผลต่อความสามารถในการอยู่รอดเมื่อได้รับการปล่อย
เพื่อหาทางออก ทีมงานจึงเริ่มสานสัมพันธ์กับผู้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บางราย ซึ่งกำลังย้ายเข้าสู่พื้นที่ที่มีนกเค้าอาศัยอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทลองโรดเอเนอร์จีที่กำลังพัฒนาที่ดินราว 25,000 ไร่ในละแวกนั้น ตกลงที่จะเว้นพื้นที่ไว้ให้นับหมื่นไร่โดยจะไม่เข้าไปพัฒนา รวมทั้งทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อสร้างโพรงใหม่ๆ บนที่ดินที่กันไว้เพื่อการนี้
เรื่อง เจสซิกา คัตซ์
ภาพถ่าย แจ็ก ไดคิงกา
แปล อัครมุนี วรรณประไพ