ผู้รอดชีวิตจากยุคไดโนเสาร์

ผู้รอดชีวิตจากยุคไดโนเสาร์

ปลาสเตอร์เจียนฝ่าฟันภัยคุกคามมาได้ตลอด 162 ล้านปี จนกระทั่งมนุษย์กดดันพวกมันจนใกล้สูญพันธุ์

แม่น้ำกว้างใหญ่และเงียบสงบ ขณะนี้เป็นเดือนธันวาคมทางตอนใต้ของคาซัคสถาน ภูมิประเทศใกล้แม่น้ำซีร์ดาร์ยาแต่งแต้มไปด้วยกอหญ้าที่อยู่ในช่วงพักตัว ที่ราบน้ำท่วมถึงทับถมไปด้วยตะกอน ต้นไม้ไร้ใบ ตลิ่งแม่น้ำช่วงนี้ไม่สวยงามน่าดูชมสักเท่าไร แต่เมื่อพูดถึงสิ่งที่เบอร์นี คูไฮดา กำลังค้นหาอยู่นั้น บริเวณนี้นับว่าสมบูรณ์แบบ

“นี่คือถิ่นอาศัยแบบที่เราต้องการครับ” คูไฮดา นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์จาก พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเทนเนสซี กล่าว เขาคาดหวังว่าจะพบปลาสเตอร์เจียนซีร์ดาร์ยา ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นของแม่น้ำแถบนี้ แต่ไม่มีใครพบเห็นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจากโซเวียตสร้างเขื่อนทั่วระบบแม่น้ำนี้  โครงการเหล่านั้นขัดขวางปลาสเตอร์เจียนไม่ให้เข้าถึงแหล่งวางไข่ และเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำซีร์ดาร์ยาไปตลอดกาล ถ้าปลาสเตอร์เจียนดังกล่าวยังคงอยู่ด้วยเหตุใดก็ตาม คูไฮดาคิดว่า  บริเวณที่ตื้นและและเต็มไปด้วยตะกอนของแม่น้ำสายนี้คือสถานที่ที่จะพบตัวมันได้

หลายเดือนก่อน คูไฮดาได้รับการติดต่อจาก รี:ไวลด์ (Re:Wild) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ที่บริหารจัดการโครงการค้นหาสิ่งที่เรียกว่าชนิดพันธุ์ที่สาบสูญ หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีใครพบเห็นมาอย่างน้อยสิบปีและอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปได้อย่างแน่ชัด เจ้าหน้าที่ของรี:ไวลด์ติดต่อคูไฮดาเพราะทราบว่า เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่เคยเห็นปลาสเตอร์เจียนซีร์ดาร์ยา

ปลาสเตอร์เจียนซีร์ดาร์ยาเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะโดดเด่น และด้วยความยาวมากที่สุดราว 22 เซนติเมตรจึงจัดว่าเล็กที่สุดในจำนวนปลาสเตอร์เจียนทั้งหมด 26 ชนิด ชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือปลาสเตอร์เจียนเบลูกา ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ ซึ่งจับได้จากแม่น้ำโวลกาเมื่อปี 1827 วัดความยาวได้มากกว่าเจ็ดเมตรและหนักกว่า 1,450 กิโลกรัม ปลาสเตอร์เจียนทุกชนิดมีใบหน้าแบนยาว มีหนวดเรียวห้อยลงสำหรับหาเหยื่อที่อาศัยอยู่ตามก้นแหล่งน้ำ และมีแผ่นแข็งคล้ายกระดูกขนาดใหญ่เรียงกันห้าแถวไปตามแนวยาวลำตัว เป็นเรื่องยากที่จะสับสนปลาโบราณชนิดกับปลาชนิดอื่น 

การฟื้นฟูประชากรปลาสเตอร์เจียนเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลา ปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบในแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ รัฐนิวยอร์ก ซึ่งอาจมีอายุยืนกว่า 100 ปี จะไม่เริ่มผสมพันธุ์จนกว่าจะอายุ 15 ถึง 33 ปี (ภาพถ่าย: เดวิด ดูบิเลต์)
ปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบกินหอยม้าลายซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน โดยอาศัยหนวดสี่เส้นกวาดไปตามก้นแม่น้ำ เพื่อค้นหาเหยื่อ เช่นเดียวกับฉลาม ปลาสเตอร์เจียนมีตัวรับไฟฟ้าบนใบหน้าที่ช่วยพวกมันรับสัมผัสความเคลื่อนไหวของสัตว์อื่น
โครงการเพาะพันธุ์ช่วยเติมประชากรปลาสเตอร์เจียน ในภาพนี้ ปลาวัยอ่อนยาว 10-15 เซนติเมตรที่เรียกว่า ลูกปลาขนาด นิ้วมือ สำรวจบ่อเลี้ยงที่สถานีเพาะเลี้ยงปลาโอไนดาทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนิวยอร์ก พวกมันจะเติบโตในบ่อใหญ่ เป็นเวลาสี่เดือน ก่อนถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ปลาสเตอร์เจียนดำรงอยู่มานาน 162 ล้านปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทวีปเลื่อน ภูเขาไฟปะทุ และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ “พวกมันรอดชีวิตจากอุกกาบาตที่ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์มาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ธรรมชาติและอวกาศกระหน่ำใส่พวกมันครับ” คูไฮดากล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นมนุษย์ ปัจจุบัน ปลาสเตอร์เจียนจัดเป็นปลากลุ่มใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ประชากรปลาสเตอร์เจียนทั่วโลกลดลงเข้าขั้นหายนะถึงร้อยละ 94 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น  กำหนดสถานะการอนุรักษ์ให้ปลาสเตอร์เจียน 25 ชนิด ตั้งแต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ 17 ชนิดใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และหนึ่งชนิดสูญพันธุ์จากธรรมชาติ  ในจำนวนชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งสามชนิดซึ่งรวมถึงซีร์ดาร์ยาเป็นที่เกรงกันว่าจะสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน

ในเชิงนิเวศวิทยา ปลาสเตอร์เจียนอยู่บนปากเหวแห่งการสูญพันธุ์  ในเชิงเศรษฐกิจ พวกมันเป็นสัตว์ที่จัดว่ามีมูลค่าสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ปลาสเตอร์เจียนหลายชนิดมีจำนวนลดลงมาจากการถูกจับมากเกินควร คาเวียร์ซึ่งเป็นไข่สีดำสนิทที่ปลาสร้างขึ้นอย่างมากมาย หมักด้วยเกลือ และส่งขายทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์ที่กินได้ของสถานะ ทางสังคมและความมั่งคั่ง 

แต่กระทั่งชนิดที่ไม่ถูกจับมาเอาไข่อย่างซีดาร์ยา การตัดสินใจที่มนุษย์กระทำไปและการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม    ก็สร้างความเสียหายมหาศาล “เพียง 200 ปี มนุษย์ทำลายแม่น้ำทุกสายที่มีปลาสเตอร์เจียนอาศัยอยู่” คูไฮดากล่าว ปลาสเตอร์เจียนวิวัฒน์ขึ้นในช่วงเวลากว่า 160 ล้านปีในแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง “ปลาสเตอร์เจียนทุกชนิดอพยพย้ายถิ่นครับ” คูไฮดาบอก ปัจจุบัน เส้นทางที่พวกมันใช้มีสิ่งกีดขวางมากเกินไป เขื่อน อ่างเก็บน้ำ การขุดลอกแม่น้ำ และการผันน้ำเพื่อการชลประทาน ล้วนขัดขวางการอพยพไปยังแหล่งวางไข่ทางต้นน้ำ และทำให้ตัวอ่อนลอยตามน้ำลงมาไม่ได้น้ำชะล้างจากเกษตรกรรมอาจก่อให้เกิดภาวะสาหร่ายสะพรั่งที่เป็นพิษ ขณะที่การพัฒนาที่ดิน การตัดไม้ และการทำเหมืองแร่ทำลายแหล่งวางไข่และทำให้เกิดตะกอนที่เป็นอันตราย

ปลาสเตอร์เจียนขาวเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ สามารถเติบโตจนยาวกว่าสี่เมตร ในภาพนี้ เจ้าหน้าที่ประมงของรัฐติดแท็กให้ปลาขนาดสองเมตรในแม่น้ำสเนก รัฐไอดาโฮ

คูไฮดาหวังว่าจะยังมีปลาสเตอร์เจียนซีร์ดาร์ยาจำนวนเล็กน้อยเหลือรอดอยู่ ถ้าพบปลานี้ คูไฮดาจะทำตามหลักปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน กล่าวคือจับเพศผู้และเพศเมียในวัยสืบพันธุ์ นำมาผสมพันธุ์กันในบ่อฟักไข่และเลี้ยงลูกปลาสำหรับนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในบริเวณที่มีเขื่อนกีดขวางเส้นทางวางไข่ ปัจจุบันมีสถานเพาะพันธุ์ปลาและโครงการขนย้ายตั้งอยู่  ส่วนในพื้นที่ที่มีการจับปลามากเกินควร  ตอนนี้มีกฎหมายและหน่วยงานที่ห้ามหรือจำกัดการจับปลาอย่างไม่ยั่งยืน ทุกวันนี้ แม้แต่อุตสาหกรรมคาเวียร์ก็กำลังมีบทบาทในการช่วยให้ปลาสเตอร์เจียนพ้นจากปากเหวแห่งการสูญพันธุ์

เดือนเมษายน แม่น้ำวูล์ฟในรัฐวิสคอนซินชุกชุมไปด้วยปลาสเตอร์เจียน พวกมันหากินตามโขดหินใกล้ตลิ่ง ครีบสะบัดจนน้ำแตกเป็นฟองในทางน้ำล้นของเขื่อนชาวาโน ซึ่งคั่นระหว่างโรงงานกระดาษทางด้านหนึ่งของแม่น้ำและสวนสเตอร์เจียนของเมืองชาวาโนซึ่งเป็นสวนอเนกประสงค์ริมแม่น้ำ ตั้งแต่สร้างเขื่อนนี้ขึ้นเมื่อปี 1892 บริเวณนี้เป็นจุดไกลสุดของแม่น้ำที่ปลาสเตอร์เจียนว่ายขึ้นมาได้ ผู้คนเริ่มมาอออยู่ริมตลิ่งเพื่อชมพิธีกรรมประจำฤดูใบ้ผลิของทุกปี โดยปลาสเตอร์เจียนนับพันตัวจะแหวกว่ายจากทะเลสาบวินเนเบโกซึ่งอยู่ห่างลงไปทางปลายน้ำ 200 กิโลเมตร ขึ้นมาวางไข่ ปลาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อยจากจำนวนปลาสเตอร์เจียนโตเต็มวัยราว 40,000 ตัวในระบบทะเลสาบวินเนเบโก ประชากรปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบทั่วรัฐวิสคอนซินเป็นกลุ่มประชากรสมบูรณ์ที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก

เรื่องราวการฟื้นตัวของพวกมันเป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์ปลาสเตอร์เจียนหวังจะนำไปเป็นแบบอย่างทั่วโลก ในนิทานปรัมปราของชนพื้นเมือง ทวีปอเมริกาเหนือเคยมีปลาสเตอร์เจียนชุกชุมมากจนคุณสามารถเดินข้ามแม่น้ำโดยเหยียบหลังปลาไป ปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบซึ่งวางไข่ใต้เขื่อนชาวาโนและเติบโตได้ยาวประมาณสองเมตร เคยกระจายพันธุ์จากกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์และอ่าวฮัดสันลงไปทางใต้ถึงลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี แต่พอถึงทศวรรษ 1970 ส่วนใหญ่กลับถูกจับจนหมดไปจากแม่น้ำหลายสายที่เคยอาศัยอยู่

ในรัฐวิสคอนซิน ประชากรปลาสเตอร์เจียนหลายกลุ่มลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น แต่การจัดการอย่าง มองการณ์ไกลช่วยพลิกสถานการณ์ให้รอดพ้นจากหายนะ เมื่อปี 1915 รัฐวิสคอนซินห้ามจับปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบทั้งหมดเป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นปรับเปลี่ยนเกณฑ์ทั้งในแง่ปริมาณและขนาดที่จับได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นข้อกำหนดยังคงบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

เมื่อปลาสเตอร์เจียนเพศเมียพร้อมวางไข่ เพศผู้กลุ่มหนึ่งจะเข้ามารุมล้อมมัน แล้วใช้หางฟาดท้องเพศเมียอย่างแรงจนผู้สังเกตการณ์บนตลิ่งรู้สึกได้ว่าโขดหินสะเทือน กระทั่งเพศเมียปล่อยไข่ออกมาครั้งละหลายพันฟอง ไข่และน้ำเชื้อหรืออสุจิของปลาผสมกันแล้วตกลงบนโขดหินหรือกรวดที่ก้นแม่น้ำ หนึ่งสัปดาห์ต่อมาก็ฟักเป็นตัวอ่อนให้กระแสน้ำในฤดูใบไม้ผลิพัดพาลงไปตามแม่น้ำ 

เรื่องตลกร้ายก็คือ อุตสาหกรรมที่ทำให้ปลาสเตอร์เจียนหลายชนิดลดจำนวนลง ปัจจุบันกำลังมีบทบาทสำคัญในการกลับมาของปลา ที่ฟาร์มปลาสเตอร์เจียนของครอบครัวนอกเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี แซร์จีโอ โจวันนีนี ยืนอยู่บนตะแกรงเหล็กเหนือน้ำและชี้ลงไปใต้เท้ายังปลาตัวที่ชื่อ กาวัลโล ปัจจุบัน คาเวียร์ส่วนใหญ่ของโลกผลิตจากฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาเช่นฟาร์มแห่งนี้ ซึ่งเป็นฟาร์มที่นักอนุรักษ์ปลาสเตอร์เจียนหวังว่าจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์ปลาสเตอร์เจียนหลายชนิดในยุโรปที่นำมาทำคาเวียร์ ครอบครัวโจวันนีนีเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติก ปลาสเตอร์เจียนรัสเซีย ปลาสเตอร์เจียนสเตอร์เลต และปลาสเตอร์เจียนเกล็ดรูปดาวรวม 300,000 ตัว เพื่อขายในตลาดโลก ปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกขายเพื่อคาเวียร์และเนื้อ แต่กาวัลโลไม่ถูกขาย

การขยายพันธุ์เริ่มจากการจับปลาตามธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิระหว่างพวกมันกำลังวางไข่ ในแม่น้ำวูลฟ์ รัฐวิสคอนซิน ปลาสเตอร์เจียนถูกจับขึ้นจากน้ำอย่างระมัดระวังเพื่อรีดไข่จากเพศเมียกระบวนการผสมพันธุ์เริ่มต้นหลังจากไข่ถูกรีดจากปลาสเตอร์เจียนเพศเมีย

ทุกคนพากันคิดว่ากาวัลโลซึ่งคล่องแคล่วและกระโดดเหมือนม้าผยอง เป็นปลาเพศผู้  นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเพศชายของมัน แต่เมื่อปี 2020 หลังจากครอบครัวย้ายกาวัลโลจากบ่อที่ใช้น้ำจากน้ำพุธรรมชาติไปยังบ่อที่ใช้น้ำจากแม่น้ำของฟาร์ม กาวัลโลสร้างไข่เป็นครั้งแรก มันมีอายุประมาณ 50 ปี ปัจจุบัน ไข่ของมันมีส่วนกำหนดอนาคตของปลาชนิดนี้”เราให้ปลาสเตอร์เจียนเพศเมียตัวนี้อยู่ในน้ำจากแม่น้ำ สามสี่ปีผ่านไป ปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้นครับ” โจวันนีนีเล่า 

มันยังเป็นปาฏิหารย์ด้วยกาวัลโล และปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกตัวอื่นๆ ในฟาร์มมีชีวิตอยู่ได้ จาชินโต พ่อของแซร์จีโอ ซื้อกาวัลโลและปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกอีกราว 60 ตัวจากชาวประมงในแม่น้ำโปและแควสาขาตอนกลางทศวรรษ 1970 ก่อนแซร์จีโอจะเกิด พวกมันเป็นปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกธรรมชาติตัวท้ายๆ ที่ถูกจับได้แบบเป็นๆ  เมื่อปี 2010 ไอยูซีเอ็นกำหนดสถานะการอนุรักษ์ให้ปลาชนิดนี้ว่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอาจสูญพันธุ์จากธรรมชาติ 

แม้จาชินโตจะมีประสบการณ์เพาะพันธุ์ปลาเทราต์และปลาไพก์ แต่เขาไม่รู้วิธีผสมพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนในบ่อเลี้ยงเลย เขาเคยได้ยินมาว่าชาวโซเวียตประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนในทะเลสาบแคสเปียนตั้งแต่ทศวรรษ 1860 ในช่วงทศวรรษ 1940 นักวิทยาศาสตร์โซเวียตพบวิธีชักนำให้ปลาตกไข่ด้วยการฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และในปี 1969พวกเขาเก็บไข่โดยการผ่าช่องท้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อเข้าถึงอวัยวะสืบพันธุ์ เหมือนการผ่าท้องทำคลอดในมนุษย์

เมื่อจาชินโตขอความช่วยเหลือเรื่องปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกจากโซเวียตในปี 1978 พวกเขาปฏิเสธ เขาจึงหันมาเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกโดยได้รับความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและอิตาลี พอถึงปี 1988 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการห้ามจับปลาสเตอร์เจียนในธรรมชาติ  เขาก็ประสบความสำเร็จในที่สุดด้วย “วิธีรีดไข่” หรือการกดท้องเพศเมียที่ไข่สุกเบาๆ เพื่อ “รีด” ไข่ออกจากปลา โดยไม่จำเป็นต้องผ่าท้อง

หลังจากนั้นไม่นาน เขาแจกจ่ายลูกปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกขนาดนิ้วมือให้องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งเพื่อใช้ในโครงการ  เพิ่มพันธุ์ปลา จากนั้นในช่วงทศวรรษ 1990 เขาเริ่มเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกและชนิดอื่นๆ เพื่อผลิตคาเวียร์ด้วย เชื่อกันว่า ปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกทุกตัวในโลกทุกวันนี้สืบเชื้อสายมาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่จาชินโตรวบรวมมาในทศวรรษ 1970 “เมื่อมองย้อนกลับไป” บีอาเต สตรีเบล-กรีเทอร์ หัวหน้าโครงการปลาสเตอร์เจียนขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวและ เสริมว่า “คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่า [ครอบครัวโจวันนีนี] อาจช่วยปลาสเตอร์เจียนเอเดรียติกเอาไว้ครับ”

จากครอบครัวโจวันนีนี ปลาสเตอร์เจียนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงขึ้นรถบรรทุกไปยังอาโกรอิตตีกาลอมบาร์ดา ผู้ผลิต   คาเวียร์ในเมืองอุตสาหกรรมกัลวีซาโนที่อยู่ใกล้เคียง ในแต่ละปี อาโกรอิตตีกาลอมบาร์ดาผลิตคาเวียร์ 28 ตัน กระบวนการได้มาซึ่งคาเวียร์แตกต่างจากโครงการขยายพันธุ์ของโจวันนีนี เพราะยังคงต้องฆ่าปลา ปลาสเตอร์เจียนถูกถ่ายลงรางรูปตัววีสำหรับฆ่าปลา จากนั้นส่งต่อไปยังห้องผ่าท้องซึ่งคนงานสวมถุงมือทางการแพทย์และเสื้อกาวน์ ควักรังไข่และแยกไข่สีเข้มเป็นมันระยิบระยับหลายแสนฟองออกมา ไข่ซึ่งมีน้ำหนักมากถึงร้อยละ 25 ของน้ำหนักปลา จะถูกล้าง ชิมรสชาติ คัดเกรด ชั่งน้ำหนัก เคล้าเกลือ บรรจุกระป๋อง อัดให้แน่น และท้ายสุดก็ผนึกกระป๋องและติดฉลากเพื่อจำหน่าย 

อสุจิถูกดูดจากท้องของปลาสเตอร์เจียนเพศผู้
ผสมอสุจิกับไข่เข้าด้วยกันอย่างเบามือด้วยขนไก่งวง (ภาพถ่าย: เดวิด ดูบิเลต์)
หลายเดือนหลังจากนั้น ลูกปลาถูกปล่อยสู่แม่น้ำ (ภาพถ่าย: เดวิด ดูบิเลต์)

ย้อนกลับไปที่คาซัคสถาน เจ้าหน้าที่ประมงคาซัคสถานสูบบุหรี่รออยู่บนตลิ่งแม่น้ำซีร์ดาร์ยา นึกสงสารขณะที่คูไฮดาพยายามทรงตัวไม่ให้ล้มระหว่างเดินไปตามก้นแม่น้ำ เขาและนีลีลากอวนไปใต้ผิวน้ำ ในการลากอวนครั้งแรก พวกเขาได้กิ่งไม้ และผักพื้นบ้านจำพวกผักกระชับนับไม่ถ้วน รวมทั้งปลาซิวและปลาบรีมจำนวนหนึ่ง  บนตลิ่ง พวกเขาใส่ตัวอย่างแต่ละชนิดที่จับได้ลงกล่องพลาสติกเพื่อวัดขนาดและถ่ายภาพ จากนั้นคลายอวน แล้วลุยกลับลงไปในแม่น้ำ หวังว่าการลากอวนครั้งต่อไปจะได้ปลาสเตอร์เจียนที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดพบเห็นมานานกว่า 50 ปี และปูทางไปสู่การฟื้นฟูพวกมัน

ความก้าวหน้าในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหมายความว่า อุตสาหกรรมคาเวียร์สามารถมีส่วนร่วมในความพยายามอนุรักษ์ เช่น ฟาร์มแห่งนี้ใกล้เมืองมิลาน ในอิตาลี เลี้ยงปลาสเตอร์เจียนสเตอร์เลตเผือก และผลิตคาเวียร์ส่วนใหญ่ของโลก

งานเช่นนี้กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง  ด้วยความพยายามของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างคูไฮดา, สเตดิก และครอบครัวโจวันนีนี ประชากรปลาสเตอร์เจียนเริ่มฟื้นตัวแล้ว ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ประชากรปลาสเตอร์เจียนแอตแลนติก ปลาสเตอร์เจียนอ่าว และปลาสเตอร์เจียนทะเลสาบ ล้วนกลับมาเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ตกต่ำในศตวรรษที่ผ่านมา ปลาเพาะเลี้ยงจากฟาร์มที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ปลาในแม่น้ำวูล์ฟของวิสคอนซิน กลับไปยังต้นน้ำอันเป็นถิ่นกำเนิดของพวกมันทุกหนแห่ง  จากนิวยอร์กถึงมินนิโซตา เยอรมนีถึงจีน และบางแห่งเริ่มจะขยายพันธุ์เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี 

พอถึงปี 2021 หลังการปล่อยคืนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นานกว่า 30 ปี นักวิทยาศาสตร์พบปลาเพศเมียมีไข่มาเกยตื้นหนึ่งตัวและพบปลาวัยอ่อนในแม่น้ำสามสายของอิตาลี ซึ่งชี้ว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ถูกนำมาปล่อยอาจเริ่มขยายพันธุ์อีกครั้งในธรรมชาติ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2024 ปลาสเตอร์เจียนแม่น้ำแยงซีที่เกิดในสถานเพาะเลี้ยง วางไข่ในต้นน้ำอันเป็นถิ่นกำเนิดของพวกมันเป็นครั้งแรก หรือเกือบสองปีหลังคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติประกาศว่าปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

เรื่อง แฮนนาห์ นอร์ดเฮาส์

ภาพถ่าย เจนนิเฟอร์ เฮย์ส

แปล ปณต ไกรโรจนานันท์


อ่านเพิ่มเติม : ตามล่าผีเสื้อของพ่อ

 

Recommend