“ภาคีอนุรักษ์นานาชาติ จับมือภาครัฐและเอกชน
เปิดตัวโครงการ StAR ประเทศไทย
เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวใกล้สูญพันธุ์”
วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ไวล์ดเอด (WildAid) และโอเชี่ยนบลูทรี (Ocean Blue Tree) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เปิดตัวโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว StAR Project-Thailand (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery Project Thailand: StAR Project) ที่จังหวัดภูเก็ต
โครงการ StAR Project Thailand เป็นการขยายผลและต่อยอดมาจากโครงการ StAR Project Indonesia ที่ริเริ่มโดย ReShark องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์ประชากรฉลามและกระเบน ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียมาแล้วเมื่อปี 2566
จากความสำเร็จที่อินโดนีเซีย ReShark เห็นโอกาสในการฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีพื้นที่ ISRAs ที่มีความสำคัญต่อฉลามเสือดาวถึง 2 แห่ง คือหมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ อีกทั้งยังมีการประกาศขึ้นบัญชีให้ฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสองปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนต่อการอนุรักษ์ในระยะยาว
ทำไมต้องเป็นฉลามเสือดาว? เมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการ StAR Project Thailand องค์กรไวล์ดเอด อธิบายว่า ฉลามเสือดาวถือเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศแนวปะการัง แต่ปัจจุบัน พวกมันพบเห็นได้น้อยลงในไทยจากภัยคุกคามหลักคือ การถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) และการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ทำให้พวกมันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) ตามการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ตามบัญชี IUCN Red List และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
“ปัจจุบันประชากรของฉลามและกระเบนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากพวกมันมีการเจริญเติบโตช้า โตเต็มวัยช้า และมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ การเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (rewilding) จึงเป็นความหวังสำคัญในการรักษาประชากรไว้และช่วยส่งเสริมอัตราการฟื้นตัวของประชากร”
“นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฉลามและกระเบน ตั้งแต่เรื่องการทำประมงเกินขนาดไปจนถึงการทำลายถิ่นอาศัย” เมธาวี จึงเจริญดี กล่าว
เมธาวี อธิบายต่อว่า StAR Project-Thailand ให้ความสำคัญกับขั้นตอนก่อนการปล่อยลูกฉลามคืนสู่ธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetics) การใช้ไข่ที่มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำพันธมิตรทั่วโลก และทำการศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อยืนยันว่าลูกฉลามเหล่านี้เป็นกลุ่มพันธุกรรมเดียวกันกับที่พบในน่านน้ำไทย
“ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะพันธุกรรมของฉลามเสือดาวจากในโลกจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม Western Population และ Eastern Population ซึ่งมีความแตกต่างกันมากในระดับพันธุกรรม หากใช้พ่อแม่พันธุ์จากแหล่งที่ไม่ตรงกัน เช่น จากอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Eastern Population มาปล่อยในทะเลไทยที่เป็นกลุ่มของ Western Population ลูกที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคในท้องถิ่น”
“สิ่งนี้เรียกว่า Genetic Polution หรือการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เป็นความเสี่ยงจากการผสมแบบ Outbreeding ซึ่งเราให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการป้องกันไม่ให้พ่อแม่พันธุ์ผสมแบบ Inbreeding เลย”
ปัจจุบัน StAR Project-Thailand ได้เคลื่อนย้ายลูกฉลามเสือดาวจำนวน 9 ตัว อายุ 1 ปี 2 เดือน ขนาดประมาณ 80-110 เซนติเมตร ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอควาเรีย ภูเก็ต จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต ไปยังคอกทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ที่โรงแรมเกาะไม้ท่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ลูกฉลามปรับตัวก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต
โดยลูกฉลามเสือดาวทั้ง 9 ตัวนี้ จะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดระหว่างที่พวกมันปรับตัวให้คุ้นเคยกับกระแสน้ำ คลื่น และระดับน้ำทะเลตามธรรมชาติ โดยจะมีการกระตุ้นพฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติ ด้วยการการโปรยและซ่อนอาหารไว้ภายในคอกทะเล ตลอดจนเปิดโอกาสให้ลูกฉลามได้ค้นหาอาหารธรรมชาติประเภทอื่น ๆ ภายในพื้นที่ดังกล่าวด้วยตนเอง และเมื่อพวกมันมีขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ก็จะทำการติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเพื่อติดตามหลังการปล่อย ซึ่งคาดว่าขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขอบคุณภาพจาก
Sirachai Arunrugstichai / WildAid / Ocean Blue Tree / Vital Impacts