เมธาวี จึงเจริญดี : นักวิจัยฉลามกับบทพิสูจน์ที่ ‘ไม่ง่าย’ ในประเทศไทย

เมธาวี จึงเจริญดี : นักวิจัยฉลามกับบทพิสูจน์ที่ ‘ไม่ง่าย’ ในประเทศไทย

“ในประเทศที่คำว่า ‘ฉลาม’ แทบไม่เคยเป็นประเด็นหลักในการอนุรักษ์

และอาชีพ ‘นักวิจัยฉลาม’ ฟังดูแปลกแยกกว่าคุ้นเคย

เราสงสัยว่าคนที่ทำงานด้านนี้ เขาทำอะไรกันแน่”

นั่นคือเหตุผลที่เรานัดหมายกับเม เมธาวี จึงเจริญดี นักชีววิทยาทางทะเล(นักวิจัยฉลาม) ที่ได้รับเลือกจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญฉลามของ IUCN หรือ IUCN SSC Shark Specialist Group องค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุด ที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก 

เมจบจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก สถาบันที่ขึ้นชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเลอันดับต้น ๆ ของโลก เส้นทางของเธอเปิดกว้าง และมีโอกาสทำงานในต่างประเทศ แต่เมเลือกกลับมาทำงานที่ไทย เพราะอยากอนุรักษ์ฉลามในบ้านที่เธอรัก ผ่านโครงวิจัยและอนุรักษ์ฉลามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Maya Shark Watch Project, ISRAs (Important Shark and Ray Areas), Spot the Leopard Shark – Thailand และ StAR Project – Thailand 

เราตั้งต้นจากหัวข้อ ’นักวิจัยฉลามคืออะไร‘ และคิดว่าเธอจะเล่าให้ฟังถึงข้อมูล วิธีติดตามประชากร หรือเทคนิควิจัยภาคสนาม แต่สิ่งที่เราได้กลับมา คือเรื่องราวการทำงานอีกด้านหนึ่งของเธอ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เพราะเบื้องหลังทุกโปรเจกต์ของเธอ ไม่เคยมีคำว่า ‘ง่าย’ เลยสักครั้ง

เม เมธาวี จึงเจริญดี ภาพถ่ายโดย อรรถพล ปลอดเถาว์

ตัดสินใจผิดไหม? เลือกกลับไทยมาอนุรักษ์ฉลาม

ฉลามไม่ใช่สัตว์ที่ใครจะตกหลุมรักได้ง่าย ๆ มันอันตราย ดุร้าย และมักถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ แต่เม กลับรู้สึกตรงกันข้ามตั้งแต่ยังเด็ก เธอตกหลุมรักฉลามจากภาพยนตร์เรื่อง Jaws ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันพากันปิดตาด้วยความกลัว เมเล่าว่าเธอรู้สึกตื่นเต้น และคิดอย่างไร้เดียงสาว่า ‘ฉลามเท่ดี’

ความรู้สึกเล็ก ๆ นั้น ทำให้เมในวัยเด็กสนใจทะเลมากขึ้น เธอเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับฉลาม และเลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะต่อยอดไปสู่การศึกษาปริญญาโทวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย 

“เมสนใจเรื่องฉลามครีบดำ ตั้งแต่ตอนที่อยู่เรียนอยู่ออสเตรเลียแล้วค่ะ” เธอเล่าให้เราฟัง ถึง Maya Shark Watch Project งานวิจัยที่เธอและ ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักชีววิทยาทางทะเลและนักสำรวจของ National Geographic ร่วมกันก่อตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อสำรวจจำนวนและพฤติกรรมของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา 

“ตอนที่พี่ชินชวน เมตัดสินใจว่าจะเรียนต่ออีกแค่เทอมเดียว แล้วรีบกลับไทยมาเริ่มโครงการนี้  แต่พอกลับมา แทนที่เราจะได้ทำอย่างที่ตั้งใจ กลายเป็นว่าเราไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ เพราะกรมอุทยานฯ แจ้งว่าอ่าวมาหยาอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุง เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นฟู”

“เมรู้สึกผิดหวังพอสมควร เพราะอุตส่าห์เปลี่ยนแผน จากที่ตั้งใจว่าจะเรียนให้ครบ 2 ปี แล้วอยู่ทำงานต่อ พอกลับมาเจอแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปทางไหน เมเลยไปทำงานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งจาก IUCN ให้เป็นสมาชิก IUCN SSC Shark Specialist Group มีหน้าที่ในการประเมินสถานะและวางแผนการอนุรักษ์ฉลาม”

ภาพมุมสูงของเกาะพีพี เล จากฝั่งอ่าวโละซามะ ที่ถูกจัดให้เป็นที่เทียบเรือท่องเที่ยว โดยอ่าวมาหยาที่ถูกจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้ในฉากหลังผ่านแนวภูเขาหินปูน ซึ่งเป็นสถานการณ์การจัดการในยุคปัจจุบัน หลังถูกปิดพื้นที่เพื่อปรับปรุงการบริหารการใช้ประโยชน์ด้วย พีพีโมเดล ในปี 2018 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

จนเมื่อปลายปี 2564 รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดอ่าวมาหยาอีกครั้ง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ทางกรมอุทยานฯ จึงอนุญาตให้เธอและทีมเข้าไปเก็บข้อมูลได้เป็นครั้งแรก 

“พอได้ยินแบบนั้นพวกเราเลยรีบรวมทีมกัน ประกอบด้วยไอ้บ้า 3 คน คือ เม พี่ชิน และพี่วิช (วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร) พวกเราใช้ทุนและอุปกรณ์ส่วนตัว รีบขับรถลงกระบี่ พอไปถึงที่อ่าวมาหยา พวกเราก็ได้เข้าไปทำงานพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง”

“พวกเราและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯตรังทุกคน ทำงานกัน 6 วัน ด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีทั้งน้ำจืดและที่พัก มีเพียงเพิงร้านค้าสวัสดิการ(ที่ยังสร้างไม่เสร็จ) ที่ให้เราเอาอุปกรณ์วิจัยไปชาร์จแบต พอเก็บข้อมูลเสร็จ ยังไม่ทันได้พัก เราก็ต้องรีบสรุปข้อมูลให้ได้ภายใน 4 วัน เพื่อเสนอต่อคณะทำงานของกรมอุทยานฯ”

“ซึ่งข้อมูลที่เราได้จากกล้องใต้น้ำ (BRUVS – Baited Remote Underwater Video Stations) และโดรนบอกเราว่า มีฉลามครีบดำไม่ต่ำกว่า 100 ตัวอาศัยอยู่ในอ่าว ซึ่งเราสามารถระบุอัตลักษณ์ของฉลามได้ 32 ตัว”

ถึงจะดูน้อย แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้คณะกรรมการของกรมอุทยานฯ เห็นว่าอ่าวมาหยาเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของฉลาม และสมควรให้งดกิจกรรมเล่นน้ำ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกฉลามมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งต้องขอบคุณกรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และเจ้าหน้าจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ที่ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลและงานวิจัยของ Maya Shark Watch ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

เมธาวี จึงเจริญดี นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ร่วมก่อตั้ง Thai Sharks and Rays ปรับกระป๋องใส่เศษปลา เพื่อดึงดูดฉลาม สำหรับงานศึกษาวิจัยพฤติกรรมการใช้พื้นที่ของฉลามหูดำในอ่าวมาหยาด้วยอุปกรณ์กล้องใต้น้ำ ระหว่างทริปแรกที่เข้าไปเริ่มต้นพัฒนาโครงการวิจัยนี้ร่วมกับกรมอุทยานจนกลายเป็นโครงการ Maya Shark Watch ในปัจจุบัน ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ข้อมูลคือจุดอ่อนที่สุดของเรา 

หลังจากนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการอุทยานฯ เมเดินหน้าทุ่มเทให้กับงานอนุรักษ์ฉลามอย่างต่อเนื่อง ทั้งในบทบาทของสมาชิก IUCN SSC Shark Specialist Group ผู้จัดการโครงการ Maya Shark Watch Project ควบคู่ไปกับงานประจำของเธอที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

ตลอดหลายปีที่เธอคลุกคลีกับฉลาม เมพบว่าอุปสรรคสำคัญของการทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่ยังรวมถึงการขาดข้อมูลพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการวิจัยและการวางแผนอนุรักษ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้ามมาโดยตลอด ปัญหานี้ชัดเจนมากขึ้นช่วงปลายปี 2566 เมื่อ IUCN SSC Shark Specialist Group ติดต่อมาหาเธอ ให้ประเทศไทยร่วมส่งพื้นที่เพื่อเสนอให้ IUCN รับรองเป็นพื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบน

พื้นที่นี้มีชื่อเต็มว่า Important Shark and Ray Areas หรือ ISRAs เมเล่าว่า โครงการนี้เป็นความพยายามของ IUCN ที่จะระบุพื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบนทั่วโลก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนอนุรักษ์ในระยะยาว ถึงการรับรองนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่มันก็ช่วยด้านการวางนโยบาย ทำให้การตัดสินใจว่าจะอนุรักษ์พื้นที่นี้หรือไม่ทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ

ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาของ ISRAs นั้น ต้องสามารถระบุได้ว่า พื้นที่นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างไรในวงจรชีวิตของสัตว์ เช่น เป็นพื้นที่ผสมพันธุ์ เป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาล แหล่งอาหาร หรือแหล่งพักอาศัย และที่สำคัญคือต้องมีหลักฐานชัดเจนเป็นงานวิจัย ว่าฉลามหรือกระเบนใช้พื้นที่นั้นซ้ำ ๆ อย่างเนื่องในระยะยาว 

ถ้าพื้นที่ใดผ่านเกณฑ์ที่ว่า พื้นที่นั้นก็จะได้รับการรับรองว่าเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในระดับสากล แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะถูกจัดให้เป็น ‘พื้นที่ที่น่าจับตา’ (Area of Interest) ซึ่งจะไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้อีกจนกว่าจะถึงรอบการทบทวนครั้งถัดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า 

เม และ วิช วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร สมาชิกทีม Thai Sharks and Rays ที่เริ่มบุกเบิกโครงการ Maya Shark Watch นี้มาด้วยกันกับทางกรมอุทยาน เดินแบกอุปกรณ์ BRUV จากหาดทรายของอ่าวมาหยาลงสู่ทะเลเพื่อเก็บข้อมูลฉลามหูดำ ซึ่งระหว่างการออกสนามทางทีมวิจัยจะนำอุปกรณ์ไปติดตั้งใต้น้ำวันละสี่ครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจนถึงยามค่ำ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

อย่างที่เมเล่าไว้ตั้งแต่ต้น ว่าประเทศเราไม่ค่อยเก็บข้อมูลเรื่องพวกนี้ เมื่อไม่มีข้อมูล เธอเลยต้องเริ่มจากข้อมูลของคนใกล้ตัวก่อน การรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนแรก เธอใช้วิธีประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook เพื่อขอรูปฉลามและกระเบนจากเพื่อน ๆ มาเป็นหลักฐานให้ IUCN แต่ข้อมูลที่ได้ก็น้อยมาก จนไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้  

เธอจึงวานให้ศิรชัยไปขอความร่วมมือจากกลุ่มต่าง ๆ ไม่นาน Digitalay เพจเล่าเรื่องราวทะเล โดยกลุ่มนักดำน้ำ ที่มีผู้ติดตามกว่า 20,000 คน ก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ ขณะเดียวกันทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา คนดังในวงการตกปลา ก็ช่วยส่งต่อข่าวนี้ ให้กับกลุ่มนักตกปลาทั่วประเทศ ด้วยใจความว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เรานักตกปลาจะได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฉลามและกระเบน 

“ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์พลเมือง ภายในระยะเวลาแค่ 3 วัน เมได้รับภาพทั้งจากนักดำน้ำและนักตกปลามากกว่า 600 รูป เม พี่ชิน และพี่มีน (ชุตินันท์ โมรา) ช่วยกันนั่งจำแนกข้อมูลทุกคืนจนถึงเช้าอยู่หลายวัน และพบว่าในหลายพื้นที่ที่เราไม่เคยมีข้อมูล กลับมีหลักฐานชัดเจนว่ามีฉลามหรือกระเบนอาศัยอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่หลายปีก่อน” 

ช่างภาพใต้น้ำลอยตัวอยู่เหนือแนวทรายที่เต็มไปด้วยฝูงกระเบนจุดฟ้าที่มารวมฝูงกันที่เกาะสี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ซึ่งพฤติกรรมนี้ของฝูงปลากระเบนจุดฟ้าถูกคาดว่าเกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ และนักดำน้ำเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยส่งภาพถ่ายและข้อมูลมากมายให้แก่นักวิจัยในฐานะนักวิทยาศาสตร์พลเมืองเพื่อการเสนอพื้นที่หมู่เกาะสิมิลันเป็น พื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบนในระดับสากล ที่ถูกรับรองในปี 2024 ภายถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ทุกภาพที่ทุกคนส่งมา เมเล่าว่า เธอใส่ไว้ในรายงาน ระบุชื่อผู้ถ่าย วัน เวลา พิกัดอย่างละเอียด และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญของ IUCN พิจารณา ผลจากความร่วมมือของทุกคน ทำให้ประเทศไทยสามารถเสนอพื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบนได้ 6 พื้นที่ ได้แก่ 1.หมู่เกาะสิมิลัน-หมู่เกาะสุรินทร์ 2.หมู่เกาะพีพี 3.หินแปดไมล์ 4.เกาะเต่า 5.หินม่วง-หินแดง 6.เกาะตาลัง-เกาะทะลุ จากทั้งหมด 9 พื้นที่ ที่เธอส่งไป 2 พื้นที่ที่ถูกปัดตกกลายเป็น Area of Interest ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่ถูกปัดตกเพราะข้อมูลไม่เพียงพอ 

เมเล่าต่อว่า สิ่งที่เธอประทับใจที่สุดในโครงการนี้ คือบริเวณพื้นที่ Area of Interest ทั้ง 2 จุด เป็นจุดที่นักตกปลาให้ข้อมูลมา ซึ่งบางแห่งเป็นหมายลับที่พวกเขารู้กันในวงแคบ ๆ ว่ามีปลาฉลามหางดาบที่ไม่เคยมีการบันทึกในงานวิชาการไหนมาก่อน

“สำหรับเมแล้ว พี่ ๆ นักตกปลาเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากต่อการอนุรักษ์และงานวิจัย เพราะในหลาย ๆ พื้นที่ เช่นบริเวณปากแม่น้ำ หรือป่าโกงกาง เราก็ได้นักตกปลานี่แหละค่ะ ที่เป็นคนมาให้ข้อมูลเรา ตอนที่ ดร.นันทริกา ชันซื่อ จะศึกษาเรื่องกระเบนราหูน้ำจืด คุณทัพพ์ ก็เป็นคนที่ช่วยจับกระเบนราหูน้ำจืดขึ้นมา เพราะถ้าเขาไม่จับมันขึ้นมา ดร.นันทริกาก็ศึกษาอะไรไม่ได้เลย”

“หลายครั้งที่นักตกปลากลายเป็นจำเลยของสังคมว่ามีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เมอยากบอกว่า การตกปลาเป็นการจับปลาที่ให้ผลเสียน้อยที่สุดแล้วค่ะ เพราะนักตกปลาจะเลือกเหยื่อแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับปลา ตกหนึ่งครั้งก็ได้แค่หนึ่งตัว แถมกว่าจะได้ขึ้นมาแต่ละครั้งก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน ผิดกับเรือประมงอวนลาก ที่จับปลาแบบไม่สนใจอะไร”

นักวิจัยจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับนักตกปลาในการเก็บข้อมูลของกระเบนราหูน้ำจืด ปลาหายากซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและมลพิษในแม่น้ำ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันโครงงานวิจัยนี้จะหยุดไปเนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายและข้อขัดแย้งจากบางชุมชน แต่ข้อมูลจากโครงงานวิจัยนี้ที่ร่วมมือกับนักตกปลากลับเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการระบุบริเวณพื้นที่อาศัยของกระเบนราหูน้ำจืด ซึ่งช่วยให้ลุ่มน้ำแม่กลองถูกรองรับว่าเป็น AOI (Area of Interest) พื้นที่ที่น่าสนใจเพื่อพัฒนายกระดับเป็นพื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบนในระดับสากลต่อไปในอนาคตด้วยการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

บทเรียนฉลามเสือดาว : รวมข้อมูลจากชาวไทย ผู้หลงใหลท้องทะเล

หลังจากจบการเสนอชื่อของ ISRAs เมตัดสินใจลาออกจากงานที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาเป็นนักวิจัยอิสระ เพื่อบริหารโครงการวิจัยของเธออย่างเต็มตัว หนึ่งในโครงการสำคัญที่เธอดูแลอยู่ คือโครงการ Spot the Leopard Shark – Thailand ที่ชวนนักดำน้ำมาอัพโหลดภาพฉลามเสือดาว สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ของไทย 

Spot the Leopard Shark -Thailand เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2556 จากความร่วมมือของนักวิจัย 2 คนคือ ร.คริสติน ดัดเจียน (Dr. Christine Dudgeon) จากออสเตรเลียและดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานข้อมูลประชากรฉลามเสือดาวในประเทศไทย ผ่านวิธีการที่เรียกว่า Photo Identification ซึ่งแยกแยะจากลวดลายของจุดบนลำตัว 

แต่ทำไมต้องเป็นฉลามเสือดาว? เรื่องนี้เมอธิบายว่า ฉลามเสือดาวเคยเป็นภาพคุ้นตาของนักดำน้ำในทะเลอันดามัน เมื่อก่อนพวกมันมักนอนสงบอยู่บนพื้นทรายหรือว่ายผ่านแนวปะการังในให้เห็นอยู่เสมอ แต่วันนี้ความคุ้นตานั้นกลายเป็นความทรงจำ เพราะปัจจุบันฉลามเสือดาวหายากเต็มที

“การขาดข้อมูลพื้นฐาน เช่นจำนวนประชากร พื้นที่กระจายตัว เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการวางแผนอนุรักษ์ โครงการนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงช่องว่างเหล่านั้น ด้วยข้อมูลที่ได้จากวิทยาศาสตร์พลเมือง” 

เมติดตั้งกล้อง action camera บนโครง PVC เพื่อใช้เก็บข้อมูลฉลามที่ถูกดึงดูดด้วยกลิ่นเข้ามาว่ายผ่านเข้ากล้อง ในกระบวนการทำวิจัยที่เรียกว่า BRUV (Baited Remote Underwater Video) หรือการเก็บข้อมูลด้วยกล้องด้วยกล้องใต้น้ำที่มีการใช้เหยื่อล่อ ซึ่งเป็นวิธีการทำวิจัยรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการศึกษาการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำและการใช้พื้นที่นั้น ๆ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

จากฐานข้อมูลของดร.คริสติน ดัดเจียน เมเล่าว่า ดร.คริสติน ดัดเจียนสามารถระบุตัวฉลามได้มากถึง 221 ตัว นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีข้อมูลเฉพาะรายตัวของสัตว์ทะเลหายากในระดับนี้

อย่างไรก็ตามโครงการของดร.คริสติน ดัดเจียนก็ต้องปิดตัวลง ในปี 2562 เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และอุปสรรคด้านภาษา เพราะการสื่อสารกับนักดำน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ทำได้เฉพาะภาษาอังกฤษ ทำให้ข้อมูลที่เคยถูกส่งมาอย่างต่อเนื่องเริ่มลดน้อยลง จนไม่สามารถขยายฐานข้อมูลได้อีกในระดับที่มีประสิทธิภาพ 

ปีที่แล้วองค์กร WildAid โดยการสนับสนุนจากองค์กร Ocean Blue Tree ได้ให้โอกาสเมเข้ามารับช่วงต่อในฐานะ Project Manager เธอตัดสินใจพลิกโฉมโครงการนี้ใหม่เปลี่ยนจากการขอความร่วมมือเฉพาะกลุ่ม สู่โครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองเต็มรูปแบบ ที่เปิดโอกาสให้สาธารณะชนมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลอย่างเต็มที่ 

“เราเปิดให้ทุกคนส่งภาพเข้ามา ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดำน้ำมืออาชีพ ขอแค่ระบุวัน เวลา พิกัด แล้วอัพโหลดภาพผ่าน QR Code ที่เราจัดไว้ เราจะนำภาพเหล่านั้นมาวิเคราะห์ลวดลาย เพื่อตรวจสอบว่าเป็นฉลามตัวใหม่หรือเคยพบเจอแล้วในฐานข้อมูลเดิม”

“ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ถึงมีนาคมปีนี้ เมสามารถระบุอัตลักษณ์ฉลามเสือดาวเพิ่มได้ 58 ตัว และเมื่อรวมกับฐานข้อมูลเดิมของดร.คริสติน ดัดเจียน ก็เท่ากับว่าตอนนี้เรามีข้อมูลฉลามเสือดาวในไทยทั้งหมด 278 ตัว(มี 1 ตัวพบซ้ำกัน)” 

เม ชี้ฉลามวัยเจริญพันธุ์ที่ถูกถ่ายไว้ได้ด้วยกล้องใต้น้ำในขณะที่มันผ่านเข้ามาตามกลิ่นเหยื่อล่อ ซึ่งลวดลายบนครีบของฉลามหูดำแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกันไป และสามารถใช้ในการระบุตัวตนฉลามแต่ละตัวได้เมื่อมีการจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล ทำให้สามารถติดตามการกลับเข้ามาใช้พื้นที่อ่าวมาหยาของฉลามในระยะยาวได้ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เป้าหมายต่อไปของโครงการไม่ได้หยุดที่การระบุตัวตนเท่านั้น ตอนนี้โครงการ Spot the Leopard Shark Thailand รีแบรนด์สู่ โครงการ StAR (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery) ประเทศไทย เพื่อขยับจากการเก็บข้อมูลไปสู่การฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ

โครงการ StAR Project Thailand เป็นการขยายผลและต่อยอดมาจากโครงการ StAR Project Indonesia ที่ริเริ่มโดย ReShark องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์ประชากรฉลามและกระเบน ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียมาแล้วเมื่อปี 2566 

จากความสำเร็จที่อินโดนีเซีย ReShark เห็นโอกาสในการฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีพื้นที่ ISRAs ที่มีความสำคัญต่อฉลามเสือดาวถึง 2 แห่ง อีกทั้งยังมีการประกาศขึ้นบัญชีให้ฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสองปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนต่อการอนุรักษ์ในระยะยาว 

“สิ่งที่เราจะทำต่อไปก็คือ เราและกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งจะร่วมกันเพาะพันธุ์ฉลามเสือดาว เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากอควาเรียม ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมตรงกับประชากรฉลามเสือดาวในน่านน้ำไทย”

“ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะพันธุกรรมของฉลามเสือดาวจากในโลกจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม Western Population และ Eastern Population ซึ่งมีความแตกต่างกันมากในระดับพันธุกรรม หากใช้พ่อแม่พันธุ์จากแหล่งที่ไม่ตรงกัน เช่น จากอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในกลุ่ม Eastern Population มาปล่อยในทะเลไทยที่เป็นกลุ่มของ Western Population ลูกที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคในท้องถิ่น”

“สิ่งนี้เรียกว่า Genetic Pollution หรือการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เป็นความเสี่ยงจากการผสมแบบ Outbreeding ซึ่งเมให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการป้องกันไม่ให้พ่อแม่พันธุ์ผสมแบบ Inbreeding เลย”

ฉลามเสือดาววัยเด็กว่ายวนกินอาหารในบ่อเพาะเลี้ยงของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Phuket Aquaria ที่สามารถเพาะพันธุ์ลูกฉลามชนิดนี้สำเร็จเป็นที่แรกในไทย งานเพาะเลี้ยงฉลามเสือดาวของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและได้ร่วมมือกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กร ReShark เพื่อทำโครงการปล่อยลูกฉลามคืนสู่ธรรมชาติต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2025 ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เรายังเหลือฉลามอยู่แค่ไหน 

คำตอบของเมคือ“น่าเป็นห่วงมาก” ไม่ใช่เพราะไม่มีข้อมูล แต่เพราะตัวเลขที่มี บอกให้เรารู้ว่าตอนนี้เราไม่เหลืออะไรแล้ว

แค่ข้อมูลจากกรมประมง ก็เพียงพอที่จะบอกทิศทางของปัญหาได้อย่างชัดเจน เธอบอกว่าตัวเลขน้ำหนักรวมของฉลามและกระเบนที่ถูกจับขึ้นมาบนแพปลา ในฐานะ Bycatch ‘ผลพลอยได้’ ของการทำประมง ลดลงจากประมาณ 12,000 ตันเมื่อ 20 ปีก่อนเหลือเพียง 1,200 ตัน ในปัจจุบัน 

“ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจับได้น้อยลง แต่มันหมายความว่าเราไม่เหลืออะไรให้จับแล้วต่างหาก”

สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อเธอพบรายงาว่าเรือประมง ยังมีออกไปจับฉลามตามฤดูกาล การกระทำเช่นนี้ ทำให้ฉลามตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพวกฉลามตัวใหญ่ อย่างฉลามครีบดำ ที่โตช้าและออกลูกครั้งละ 2 – 4 ตัว เธอกังวลว่าถ้ายังต้องมาตายด้วยน้ำมือของมนุษย์อีก การจะฟื้นประชากรให้ได้แค่ 100 ตัว ก็อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี 

“ตอนนี้ IUCN ให้ความสำคัญกับปลากระดูกอ่อนมากขึ้นเนื่องจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัตว์กลุ่มนี้กว่า 59% ที่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตั้งแต่ Vulnerable, Endangered ไปจนถึง Critically Endangered” เธออธิบาย 

ฉลามวาฬว่ายน้ำผ่านอุปกรณ์ไซจับปลาของชาวเลอุรักลาโว้ย ที่กองหินใต้น้ำชื่อว่า “หินแปดไมล์” ใกล้เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งชาวเลที่หาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลานี้ เป็นผู้บอกนักดำน้ำถึงการเข้ามาแวะเวียนของฉลามวาฬที่หินแปดไมล์ในช่วงวิกฤติ Covid จนกองหินแห่งนี้กลายเป็นจุดดำน้ำยอดนิยม และได้รับการรับรองเป็น ISRAs (Important Shark and Ray Areas) พื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบนในระดับสากลในปี 2024 ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ประเทศไทยขาดอะไรในการอนุรักษ์ฉลาม 

“สิ่งที่เรายังขาดมากที่สุดไม่ใช่คนเก่ง แต่คือระบบที่ทำให้คนเก่งได้เติบโต“ เธอเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนรักธรรมชาติและอยากมาทำงานด้านนี้ 

“เมเคยคุยกับน้อง ๆ ที่มาฝึกงานกับเม เขาบอกว่าเขารักฉลามมาก อยากมาทำงานแบบเม แต่เขามองไม่เห็นอนาคตตัวเอง มองไม่เห็นว่าจะหาทุนทำวิจัยจากไหน มองไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพ”

เสียงของเมไม่ได้สะท้อนแค่ประสบการณ์ของนักศึกษาฝึกงาน แต่ยังสะท้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเธอเองที่เคยอยู่จุดนั้นมาก่อน ตอนที่จะเริ่มทำวิจัยเธอต้องไปขอทุนจากต่างประเทศ ต้องอาศัยจังหวะ ต้องเจอคนที่เชื่อมั่นในเธอ ถ้าวันนั้นเธอไม่โชคดี ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมายืนอยู่ตรงนี้ได้ไหม 

เม และ เจ้าหน้าทีจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง รองเก็บน้ำฝนจากอาคารเพื่อมาใช้ล้างตัวและอุปกรณ์ ระหว่างที่พักอาศัยบนเกาะพีพี เล เพื่อทำงานศึกษาวิจัยฉลามหูดำในอ่าวมาหยา ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ทำไมคนที่มีความตั้งใจถึงต้องฝากอนาคตไว้กับโชค แล้วทำไมระบบที่ควรจะพยุงนักวิจัยกลับปล่อยให้พวกเขาต้องดิ้นรนคนละทิศคนละทาง เธอยืนยันกับเราอีกครั้ง ว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดคนเก่ง เรามีนักวิจัยที่มีผลงานระดับโลกจำนวนไม่น้อย เพียงแต่พวกเขาอาจไม่เคยถูกพูดถึงในวงกว้าง 

เธอยกตัวอย่าง ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ที่วิจัยเรื่องการผสมเทียมปะการัง – สู้โลกร้อน และคุณหิรัญ กังแฮ ที่คิดสูตรอาหารเลี้ยงเต่ามะเฟือง จนนักวิจัยต่างชาติต้องบินมาดูงานที่ภูเก็ต และบอกว่าสองท่านนี้คือตัวอย่างที่ดีว่า ถ้าเรามีระบบสนับสนุนที่ดีพอ คนของเราก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้เหมือนกัน

“เมไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ ต้องฝากชีวิตไว้กับโชคแบบเม อยากให้พวกเขามีพื้นที่ให้ลอง มีโอกาสได้พัฒนา มีคนคอยสนับสนุน เพราะความตั้งใจอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมาพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอ ๆ กัน”

เม พูดคุยหยอกล้อกับเพื่อน ๆ และนักศึกษาฝึกงานจาก ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) ระหว่างเก็บค่าน้ำทะเล ที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยตัวแปรของการเลือกใช้พื้นที่ในอ่าวของฉลามหูดำ นอกจากการทำงานวิจัยแล้วโครงการ Maya Shark Watch ของกรมอุทยาน เมก็ทำงานสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับฉลามให้แก่ทั้งเยาวชนและนักท่องเที่ยว ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เรื่อง อรณิชา เปลี่ยนภักดี

ภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย และ อรรถพล ปลอดเถาว์


อ่านเพิ่มเติม : มหาสมุทรจะฟื้นตัว ความหวังของ Sir David Attenborough

นักทำสารคดีวัย 99 ปี ชายผู้หลงรักโลกใต้ทะเล

Recommend