สายพันธุ์ใหม่ของหมีน้ำถูกพบในญี่ปุ่น

สายพันธุ์ใหม่ของหมีน้ำถูกพบในญี่ปุ่น

สายพันธุ์ใหม่ของ”หมีน้ำ”ถูกพบในญี่ปุ่น

หมีน้ำ หรือทาร์ดิเกรดคือสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋ว และพวกมันสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างยืนยาวแม้ดวงอาทิตย์จะดับสูญไปแล้ว ในขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับมันมนุษย์เรายังมีความรู้เพียงน้อยนิด

Kazuhara Arakawa นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคโอ ในกรุงโตเกียว พบเข้ากับเจ้าหมีน้ำสายพันธุ์ใหม่นี้เข้า ระหว่างที่เขากำลังเก็บตัวอย่างจากลานจอดรถบริเวณอพาร์ทเมนท์ของเขาในเมืองสึรุโอกะ ของญี่ปุ่น เขาหยิบเอาก้อนกรวดดังกล่าวขึ้นมาและนำกลับไปตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการ และหลังจากตรวจสอบดีเอ็นเอของมัน Arakawa และทีมงานชาวโปแลนด์ของเขาก็ประกาศว่าทาร์ดิเกรดตัวนี้เป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ พวกเขาตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้แก่มันว่า Macrobiotus shonaicus จากขาอ้วนป้อมของมัน

รายงานการค้นพบครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร PLoS One เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

 

อย่าคิดแหยมกับหมีน้ำ

ทาร์ดิเกรดถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1773 โดยนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน แต่กว่าจะได้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับมันก็ต้องรอเวลาให้ผ่านไปหลายปี ฉายา “หมีน้ำ” และ “Moss Piglets” ถูกตั้งให้แก่เจ้าสัตว์พิศวงลำตัวอวบป้อมที่อวัยวะภายในของมันสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น มันมีตาแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วยเซลล์ไม่กี่เซลล์ เมื่อวัดขนาดความยาวของตัวอยู่ที่ 0.02 นิ้ว และที่น่าทึ่งก็คือทาร์ดิเกรดสามารถพบได้ในทุกสิ่งแวดล้อมบนโลก ไม่ว่าตั้งแต่สถานที่อันมืดมิด ใต้ะเลลึก ที่ที่ชื้นที่สุดในโลก หรือแม้แต่สถานที่อันอุดมสมบูรณ์อย่างป่าฝนเขตร้อน

แม้ว่าตลอดช่วงชีวิตของมันจะหมดไปกับการเดินไปมาตามมอสหรือไลเคน แต่ทาร์ดิเกรดคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา พวกมันเป็นที่รู้จักดีในฐานะสัตว์ที่ปรับตัวเก่งที่สุดในโลก พวกมันมีชีวิตที่ยืนยาวหลายทศวรรษ และอยู่มานานกว่าที่คิด ฟอสซิลของทาร์ดิเกรดที่เคยถูกค้นพบสามารถย้อนอายุกลับไปได้ไกลถึง 500 ล้านปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์ทดสอบความอึดของมันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง พวกเขาเผามันในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 300 องศาเซลเซียส และแช่แข็งพวกมันในอุณหภูมิติดลบ 328 องศาเซลเซียส เท่านั้นยังไม่พอพวกเขายังส่งมันไปกลับยังอวกาศ ผลการทดสอบพบว่าไม่ว่าในสิ่งแวดล้อมจะสุดขั้วขนาดไหนก็ตาม เจ้าสัตว์ชนิดนี้สามารถมีชีวิตรอดได้ พวกมันจะปรับตัวเข้าสู่โหมดจำศีลที่เรียกว่า cryptobiosis เมื่อไม่กี่ปีก่อนมีรายงานการค้นพบว่าหมีน้ำรอดตายจากการถูกแช่แข็งนาน 30 ปี  พวกมันปรับตัวให้มีชีวิตรอดได้จากการขาดน้ำและอาหาร ทั้งยังทนต่อความดันและรังสีอย่างน่าทึ่งอีกด้วย

“ทาร์ดิเกรดเป๊นสัตว์ที่อึดทนมาก” Thomas Boothby นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนา เคยกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกในปี 2017 “นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่าพวกมันเอาชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมสุดขั้วได้อย่างไร”

หมีน้ำสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้นับเป็นสายพันธุ์ที่ 168 แล้วที่พบในญี่ปุ่น (ทั่วโลกมีสายพันธุ์ของหมีน้ำมากกว่า 1,000 สายพันธุ์) และแต่ละปีมีรายงานพบสายพันธุ์ใหม่ของทาร์ดิเกรดมากถึง 20 สายพันธุ์ อวัยวะที่มองเห็นได้เช่น ปาก และขา ของหมีน้ำสายพันธุ์ M. shonaicus มีรูปร่างคล้ายคลึงกับทาร์ดิเกรดสายพันธุ์อื่น เพียงแต่ว่าเจ้าหมีน้ำสายพันธุ์ใหม่นี้มีจำนวนพื้นผิวของด้านในของขาที่มากกว่า นอกจากนั้นมันยังมีส่วนของไข่รูปร่างกลมที่ยื่นออกมาจากร่างกายพร้อมติ่งที่มีความยืดหยุ่น ซึ่ง Arakawa เชื่อว่า ติ่งที่ยื่นออกมานี้มีไว้เพื่อช่วยให้พวกมันแปะไข่ที่วางให้ยืดติดกับพื้นผิวของสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

ทาร์ดิเกรดสายพันธุ์ M. shonaicus นี้มีความคล้ายคลึงกับทาร์ดิเกรดอีกสองสายพันธุ์ หนึ่งคือสายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาและอีกสายพันธุ์ที่พบในอเมริกาใต้ นั่นหมายความว่าเจ้าหมีน้ำสายพันธุ์ใหม่นี้อาจสืบเชื้อสายมาจากหมีน้ำโบราณ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าการศึกษามันให้มากขึ้นจะช่วยให้ข้อมูลว่าพวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ความสามารถในการทนทานต่อการแช่แข็งอาจมีส่วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัคซีนแช่แข็งแบบแห้งได้ ในอนาคตวัคซีนเหล่านี้สามารถเก็บกักไว้ได้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่าวัคซีนปกติ และใช้เพียงแค่น้ำเล็กน้อยในการผสมก่อนใช้งานจริง นอกจากนั้นความต้านทานในการคายน้ำของหมีน้ำอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พบวิธีการรักษาผลผลิตจากพืชหรือเนื้อสัตว์ให้ยังคงความชุ่มชื้นตลอดเวลา

“ทาร์ดิเกรดแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจทำลายได้” Rafael Alves Batista นักวิจัยหมีน้ำจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปีที่ผ่านมา “แต่อาจเป็นไปได้ว่ายังคงมีสายพันธุ์อื่นๆ ของหมีน้ำล่องลอยอยู่ที่ไหนสักที่ในอวกาศก็เป็นได้”

เรื่อง Elaina Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่คือสิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่จะรอด หากวันสิ้นโลกมาถึง

Recommend