บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ
ฉลาม ปรากฎตัวขึ้นบนโลกกว่า 400 ล้านปีมาแล้ว พวกมันวิวัฒนาการตัวเองจนกลายเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในห้วงมหานทีอันกว้างใหญ่ไพศาล ปราดเปรียว ทรงพลัง มุ่งมั่น และทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของมหาสมุทรมาเป็นเวลานับล้านๆปี
การมีอยู่ของฉลามคือหลักประกันความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทะเล เพราะในฐานะนักล่าลำดับสูงสุด ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาอื่นๆให้แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อาศัย ขณะเดียวกันยังควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองๆ ลงมาให้อยู่กับร่องกับรอย ทำให้แบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
ลักษณะเฉพาะทางชีววิทยาของฉลามที่แตกต่างจากปลากลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่ คือเจริญเติบโตช้า กว่าจะโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อาจต้องใช้เวลาหลายปี ฉลามหัวบาตรใช้เวลา 15-20 ปีกว่าจะพร้อมผสมพันธุ์ และในขณะที่ปลาส่วนใหญ่วางไข่กันนับหมื่นนับแสนฟอง ฉลามออกลูกคราวละไม่กี่ตัว ฉลามหัวบาตรออกลูกคราวละ 6-8 ตัวเท่านั้นและใช้เวลาตั้งท้อง 10-11 เดือน ยาวนานกว่าคนเสียอีก
ฉลามจึงมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด กล่าวคือมีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำโดยธรรมชาติ เมื่อถูกล่าและนำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่มีการควบคุม ประชากรในธรรมชาติย่อมไม่อาจทดแทนตัวเองได้ทัน
ไม่นานมานี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับฉลามและปลากระเบนทั่วโลกว่า สถานภาพการอนุรักษ์ของสัตว์ทะเลในกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะราวหนึ่งในสี่ของฉลามและกลุ่มปลากระเบน 1,041 ชนิดทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์
ภัยคุกคามหลักสำหรับปลาฉลามคือการถูกจับมากเกินไป (overfishing) ในอดีตการถูกจับโดยไม่ตั้งใจ (bycatch) นับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ฉลามมีประชากรลดลง ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไป เพราะความที่ประมงทะเลจับปลาเศรษฐกิจหลักๆ ได้น้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งตลาดรองรับหูฉลามที่มีมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ฉลามที่ถูกจับมาได้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จากปลาที่ไม่เคยมีราคาจึงกลายเป็นโบนัสก้อนโตของเรือประมง ทำให้มีการใช้เหยื่อล่อฉลามเป็นการเฉพาะมากขึ้น