นกแก้ว: มวลมนุษย์แห่งโลกของนก

นกแก้ว: มวลมนุษย์แห่งโลกของนก

นกแก้ว: มวลมนุษย์แห่งโลกของนก

เสียงนักร้องกำลังวอร์มเสียงลอยผ่านกรงนกเขียวชอุ่มของสวนนกอัมจีนีริเวอร์  ใครคือนักร้องชูโรงนางนี้หนอ  นกแก้วชื่อ มอลลีนั่นเอง  นกแก้วแอมะซอนหน้าผากฟ้าตัวนี้หัดร้องไล่บันไดเสียงจากเจ้าของคนก่อน  นกแก้วหลายตัวในสวนสัตว์และศูนย์เพาะพันธุ์นกในเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ แห่งนี้  เป็นนกแก้วที่ได้รับการช่วยเหลือมาจากเจ้าของซึ่งไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาจากการเลี้ยงนกขนาดใหญ่ที่ต้องการความเอาใจใส่อย่างมาก  นกแก้วไม่เพียงเสียงดังและชอบทำลายข้าวของ  บางชนิดยังฉลาดพอๆกับเด็กสามขวบ และบางชนิดอาจอายุยืนถึง 80 ปี

กระนั้น แรงจูงใจให้เลี้ยงนกแก้วซึ่งนักนิเวศวิทยาเชิงอนุรักษ์ สจวร์ต มาร์สเดน เรียกว่า “มนุษย์แห่งโลกของนก” ก็ไม่อาจต้านทานได้  นกซึ่งชอบอยู่เป็นสังคมและฉลาดมากนี้  สร้างความผูกพันแน่นแฟ้นและมีความหมายกับผู้เป็นเจ้าของ  เมื่อผสานกับความสามารถในการลอกเลียนเสียงมนุษย์ ก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญว่า  นกแก้วน่าจะเป็นนกเลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ความนิยมชมชอบในนกแก้วกลับทำร้ายพวกมัน  ทั้งๆที่ทั่วโลกมีการเพาะขยายพันธุ์อย่างกว้างขวาง  นกแก้วหลายชนิดยังคงถูกจับจากธรรมชาติอย่างผิดกฎหมาย  เหตุผลหนึ่งคือ ธุรกิจผิดกฎหมายที่ทำเงินนับพันล้านดอลลาร์จากการลักลอบค้าสัตว์ เช่น ช้าง และแรด เพิ่มเติมนกแก้วลงไปในบัญชีสัตว์ที่ค้าขาย

“ในสหรัฐอเมริกา ถ้าคุณไปซื้อนกแก้ว โอกาสที่มันจะเป็นนกจากการเพาะเลี้ยงมีสูงถึงร้อยละ 99” โดนัลด์ ไบรต์สมิท นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็มซึ่งศึกษานกมาคอว์ในเปรู กล่าว  แต่ “ถ้าคุณอยู่ในเปรู คอสตาริกา หรือเม็กซิโก โอกาสที่มันจะเป็นนกที่จับมาจากธรรมชาติคือร้อยละ 99 ครับ”

ความต้องการนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง  ซ้ำเติมด้วยการตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียถิ่นอาศัย เป็นแรงผลักดันหลักที่ส่งผลให้นกแก้วตกอยู่ในสถานะอันตราย  นกแก้วทุกชนิด  ยกเว้นสี่ชนิดจากจำนวนประมาณ 350 ชนิด เข้าข่ายที่จะได้รับการปกป้องภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES)

(รู้หรือไม่ว่านกแก้วได้รับความนิยมมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน)

นกแก้ว
นกแก้วปีกแดงเพศผู้แห่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี อาจดูสวยงามน่าหลงใหลแล้ว แต่เพศเมียน่าจะเห็นสีสันจัดจ้านกว่า เช่นเดียวกับนกอื่นๆ หลายชนิด นกแก้วชนิดนี้สามารถเห็นแสงอัลตราไวโอเล็ต ขนนกแก้วบางเส้นเรืองแสงภายใต้แสงอัลตราไวโอเล็ตซึ่งชี้ว่า นกสื่อสารกับตัวที่มีโอกาสเป็นคู่ผสมพันธุ์ด้วยคลื่นแสงในช่วงสเปกตรัมที่ซับซ้อน
นกแก้ว
สีสันสดใสแต่งแต้มรอบดวงตานกแก้วมะเดื่อแก้มแดง ซึ่งกินผลมะเดื่อตามชื่อ (รวมทั้งผลไม้อื่น น้ำต้อย และอาจกิน แมลงด้วย) นกซึ่งพักพิงอยู่ในป่าเป็นหลักนี้ยังอาศัยอยู่ใกล้ชุมชนมนุษย์ในอินโดนีเซียและปาปัวนิวกีนีได้อย่างสุขสบาย

ชนิดที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือนกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกัน ซึ่งพูดเก่งที่สุดในบรรดานกแก้วด้วยกัน  จากรายงานของไซเตส  ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา นกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกันอย่างน้อย 1.3 ล้านตัวถูกส่งออกอย่างถูกกฎหมายจาก 18 ประเทศที่พวกมันอาศัยอยู่ อีกหลายแสนตัวน่าจะตายระหว่างการขนย้ายหรือถูกจับจากป่าดิบชื้นในแอฟริกากลางและตะวันตก

ศูนย์กลางการค้านกแก้วอยู่ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งส่งออกนกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกันมากกว่าประเทศอื่น  ตามประวัติแล้ว คำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ และยุโรป แต่ความกลัวไข้หวัดนกและกฎหมายที่จำกัดการค้านก  ทำให้ตลาดเหล่านั้นหมดความสำคัญลง  ปัจจุบันตะวันออกกลางเติมเต็มช่องว่างนั้น  เมื่อปี 2016 แอฟริกาใต้ส่งออกนกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกันหลายพันตัวไปยังภูมิภาคดังกล่าว

ในปีเดียวกันนั้น  ไซเตสตัดสินใจทำสิ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียง นั่นคือการเพิ่มนกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกันเข้าไปในบัญชีหมายเลข 1 ซึ่งครอบคลุมชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตรายจากการสูญพันธุ์  ปัจจุบัน การจะขายนกในตลาดต่างประเทศต่อไปได้  ผู้เพาะเลี้ยงต้องพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของไซเตสว่า นกแก้วใหญ่สีเทาแอฟริกันของพวกเขาเพาะเลี้ยงในกรงเลี้ยง  ไม่ได้ถูกจับมาจากธรรมชาติ  ลูกนกที่เกิดในกรงเลี้ยงส่วนใหญ่สวมห่วงขาถาวรที่ใช้ระบุอัตลักษณ์ แต่พ่อค้านกผิดกฎหมายก็อาจคิดหาวิธีสวมห่วงขาให้นกที่จับจากป่าจนได้  ดังนั้นจึงมักไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างนกที่เพาะในกรงเลี้ยงกับนกที่จับจากธรรมชาติ

นักอนุรักษ์ชี้ว่า  ความท้าทายในระยะยาวอยู่ที่การโน้มน้าวให้สาธารณชนเห็นว่า  นกแก้วเป็นมากกว่าลูกสมุนตลกๆ ที่เกาะไหล่โจรสลัด  หรือสัตว์เลี้ยงที่ร้องเพลงหรือลอกเลียนคำหยาบคายอยู่ในกรง พวกมันเป็นนกหลายร้อยชนิดพันธุ์ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีในเกือบทุกทวีป เป็นวงศ์นกสีสวยและส่งเสียงเอะอะโวยวายที่หากชะตากรรมของพวกมันไม่ได้ รับการเหลียวแลต่อไปเรื่อยๆ ก็คงสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ในเวลาไม่นานนัก

เรื่อง  คริสทีน เดลลามอร์

ภาพถ่าย  โจเอล ซาร์โทรี

นกแก้ว
นกแก้วหัวแพรซึ่งมีแก้มสีชมพูและเสียงร้องไพเราะ เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมมานานหลายศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบันนกซึ่งมักถูกจับจากป่าในพม่าและไทยชนิดนี้มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์
นกแก้ว
นกแก้วดำซึ่งมีขนสีเข้มมีชีวิตรักที่โลดโผน กล่าวคือเพศเมียจะตามเกี้ยวและผสมพันธุ์กับเพศผู้หลายตัว พฤติกรรมของนกพื้นเมืองในมาดากัสการ์ชนิดนี้อาจวิวัฒน์ขึ้นเพื่อตอบสนองการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากเพศผู้ป้อนอาหารเพศเมียระหว่างการเกี้ยวพาราสี

 

อ่านเพิ่มเติม

นกในยุคไดโนเสาร์เอาชีวิตรอดจากอุกกาบาตได้อย่างไร?

Recommend