พลายศักดิ์สุรินทร์ ชีวิต ช้างไทย ในกำมือ “คนต่างแดน” ช้างทูตสันถวไมตรีมีเท่าไหร่

พลายศักดิ์สุรินทร์ ชีวิต ช้างไทย ในกำมือ “คนต่างแดน” ช้างทูตสันถวไมตรีมีเท่าไหร่

พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทย ในเมืองไทยมีชีวิตที่ดีแล้วหรือยัง  ชีวิตในกำมือ “คนต่างแดน” ช้างทูตสันถวไมตรีมีเท่าไหร่ – เหลียวมองมายังเมืองไทย

ไม่มีการส่ง ช้างไทย ไปต่างประเทศในนามของทูตสันถวไมตรีมานานแล้ว และได้ยุติมานาน 3 ปี แล้ว

คือใจความในคำกล่าวของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่กล่าวขึ้นในการรับตัว “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยเชือกที่ 3 ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ.2544 พร้อมกับพลายศรีณรงค์ และต่อจากพลายประตูผาที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน

โดยให้เหตุผลที่ช้างเหล่านี้ได้รับคัดเลือกให้ไปมีอยู่ว่า ช้างเหล่านี้มีงายาวที่สวย เป็นลักษณะของ “งาอุ้มบาตร” อันเป็นเอกลักษณ์ของช้างไทย มีจุดประสงค์เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา พลายศักดิ์สุรินทร์ได้กลับมายังเมืองไทย หลังจากต้องไปอยู่ในการดูแลของชาวศรีลังกามานานกว่า 21 ปี

ชีวิตของพลายศักดิ์สุรินทร์กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในระดับประชาชนชาวไทยและระดับทางการทูตระหว่างไทยและศรีลังกาที่ว่าช้างไทยเชือกนี้ถูกละเลย-ใช้งานหนัก จนร่างกายทรุดโทรม และชีวิตความเป็นอยู่ในวัด Kande Vihara ก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ร้อนไปถึงรัฐบาลไทยที่ได้เรียกร้องให้มีการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อบ่ายวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา

พลายศักดิ์สุรินทร์, ช้างไทย

ในส่วนของช้างอีกสองเชือกที่เหลือในศรีลังกา อย่าง “พลายประตูผา” มีรายงานว่า อ.ดร.ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาพระพุทธศาสนา-วิทยาลัยสงฆ์ ชาวไทยที่อยู่ศรีลังกา ซึ่งได้เดินทางร่วมกับคณะทำงานจากประเทศไทยที่พาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาประเทศไทย ได้ออกมาเผยข้อมูลถึง พลายประตูผาอีกหนึ่งช้างไทยในศรีลังกา ที่อายุมาก (49 ปี) ซึ่งมีอาการบาดเจ็บ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งยังถูกพาออกนอกพื้นที่ไม่ให้เจอเจ้าหน้าที่ไทย และมีภาพเผยแพร่ว่ามีโซ่ที่มัด 3 ขา จนเป็นแผลและรอยแผลยับเยิน และอยู่ในสภาพผอมอิดโรยชรามากแล้ว

อ.ดร.ชญาน์นันท์  ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ระบุว่า “เขา (พลายประตูผา) ควรได้รับการดูแลที่ดีกว่าที่เป็นอยู่..จำเป็นอย่างยิ่ง พลายประตูผาไม่มีโอกาสได้พบคณะบุคคลสำคัญจากประเทศไทย.. เชือกที่ควรห่วงใยและควรได้เยี่ยมได้เห็นคือเชือกนี้.. #พลายประตูผาเขาไม่ได้ดูดีและแข็งแรงแม้เพียงครึ่งของพลายศรีณรงค์” พร้อมวอนให้ช่วยพาพลายประตูผากลับไทยด้วยอีก 1 ตัว

โดยในส่วนของพลายศรีณรงค์ ช้างไทยในศรีลังกาอีก 1 เชือก มีรายงานว่ายังคงอยู่ในวัดที่เมืองรัตนปุระ ซึ่งก็มีรายงานว่ายังมีการใช้งานในขบวนแห่ตามวัดต่างๆ อยู่ ทั้งยังมีรายงานว่ามีสภาพการเลี้ยงดูค่อนข้างดี รูปร่างอ้วนสมบูรณ์ ได้อยู่ในเมืองที่มีน้ำตกและน้ำจากธรรมชาติ ซึ่งควาญช้างพลายศรีณรงค์ในศรีลังกา กล่าวกับสำนักข่าวไทยพีบีเอสให้ฟังว่า เขาเป็นดูแลช้างมาตั้งแต่แรกที่ได้รับจากไทยซึ่งจะให้รับงานแค่ปีละ 5-6 ครั้ง เพื่อไม่ให้ช้างต้องทำงานหนัก

อาจกล่าวได้ว่า เราไม่อาจคาดเดาชะตากรรมของบรรดาช้างไทยที่ถูกส่งออกไปต่างประเทศในฐานะทูตสันถวไมตรีว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร หากประเทศไทยส่งพวกมันไปแล้วและได้ละสายตาไปเมื่อถึงประเทศปลายทาง

พลายศักดิ์สุรินทร์, ช้างไทย

*********************

เหตุผลของการส่งช้างไทยไปเป็นทูต เว็บไซต์ thematter.co ได้รายงานว่า การส่งสัตว์ไปเป็นทูต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว ในประวัติศาสตร์ก็พบหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีความพยายามที่จะส่ง “ช้าง” ไปเป็นสิ่งเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างชาติด้วยเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ใช้ช้างเป็นทูตสันถวไมตรี นั่นก็เป็นเพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยและมีความผูกพันกับชีวิตคนไทยมาช้านาน และเคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในธงชาติแบบเก่า และเป็นวิธีการปักหมุด soft power เช่นเดียวกับที่จีนส่งแพนด้าไปยังประเทศต่างๆ

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า นอกจากพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมานานกว่า 22 ปีแล้ว ยังมีช้างไทยที่ถูกส่งออกไปเป็นตัวแทนประเทศอย่างเป็นทางการรวม 20 เชือก

  • ปี 2523 กรมป่าไม้ ส่งออก “พลายประตูผา 1 เชือก” ไปประเทศศรีลังกา
  • ปี 2544 กรมป่าไม้ ส่งออก “พลายศักดิ์สุรินทร์-พลายศรีณรงค์ 2 เชือก” ไปประเทศศรีลังกา
  • ปี 2544 กรมป่าไม้ ส่งออก “ช้าง 3 เชือก” ไปประเทศเดนมาร์ก
  • ปี 2545 กรมป่าไม้ ส่งออก “ช้าง 2 เชือก” ไปประเทศญี่ปุ่น
  • ปี 2547 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งออก “ช้าง 2 เชือก” ไปประเทศสวีเดน
  • ปี 2548 จ.สุรินทร์ (ภาคเอกชน) ส่งออก “พลายอาทิตย์-พังอุทัย 2 เชือก” ไปประเทศญี่ปุ่น
  • ปี 2559 องค์การสวนสัตว์ฯ ส่งออก “ช้าง 8 เชือก” ไปประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วยพลายกุ้ง, พังทองดี, พังน้ำอ้อย, พังดอกคูณ, พังพรทิพย์, พังผักบุ้ง, พังแตงโม อีกเชือกไม่ระบุชื่อ

พลายศักดิ์สุรินทร์, ช้างไทย

ปัจจุบัน ช้างไทยที่เป็นทูตสันถวไมตรี  ซึ่งมีอยู่ 10 เชือก ทางกรมอุทยานฯ ให้คำมั่นว่าจะมีการติดตามสถานภาพของช้างต่างแดนอีกครั้ง โดยเบื้องต้นยังไม่มีข้อน่ากังวลใดๆ  อย่างไรก็ตาม กรมอุทยาน ได้ระบุเพิ่มเติมว่าช้างไทยที่ถูกส่งออกไปต่างแดนก่อนหน้านี้ ไม่สามารถทวงคืนได้ เพราะช้างเหล่านี้ไปในนามของทูต

*********************

– เหลียวมองชีวิต “ช้างหมู่มาก” ในเมืองไทย ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ชะตากรรมอันน่าสงสารของพลายศักดิ์สุรินทร์ อาจไม่ต่างจากช้างหลายเชือกในเมืองไทยที่ยังคงมีความขัดแย้งร่วมกับคน และมีสถานะไม่ต่างจากศัตรูพืชที่ต้องกำจัด

แม้จากการสำรวจล่าสุดในปี 2566 โดย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเมินว่ามีจำนวนช้างป่าประมาณ 4,013-4,422 ตัว เพิ่มจากการสำรวจเมื่อปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 3,100 – 3,400 ตัว จึงกล่าวได้ว่าจำนวนช้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ถ้ามองข้อมูลอีกด้านจากกรมอุทยานฯ พบว่าในปี 2566 ในช่วงแค่ 2 เดือนกว่า ก่อนถึงวันช้างไทย (13 มีนาคม) มีช้างป่าตาย 10 ตัว บาดเจ็บ 10 ตัว และมีคนเสียชีวิตจากช้าง 12 คน และบาดเจ็บ 14 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก “ความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่พืชสวนกับช้างป่า” จากการที่ช้างมาหากินและบุกทำลายพืชสวนพืชไร่ของชาวบ้าน

จากสารคดี ปัญญาแห่งช้างป่า ที่เผยแพร่ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2566 โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าวถึงสาเหตุแห่งความขัดแย้งว่า เป็นผลพวงจากจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าในอดีตเพื่อทำเกษตร และความแห้งแล้งในผืนป่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดนี้ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการออกมาหากินนอกผืนป่า ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งนํ้าและพืชอาหารนานาชนิด ทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด และกล้วย ซึ่งวันชัยกล่าวถึงประเด็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งมีภาครัฐ องค์กรต่างๆ และชาวบ้านร่วมดำเนินการกันอยู่อย่างแข็งขัน

ช้างป่า
โดยทั่วไปช้างป่ามักออกมาในยามคํ่าคืนที่ปลอดมนุษย์ แต่ช้างป่าโขลงใหญ่นี้กำลังหากิน และพ่นฝุ่นตามลำตัว เพื่อป้องกันผิวหนังจากแสงอาทิตย์อย่างผ่อนคลายกลางไร่มันสำปะหลังในเขตอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัด ฉะเชิงเทรา โดยใช้เวลาในไร่ดังกล่าวตั้งแต่บ่ายถึงคํ่า ภาพจากสารคดี ปัญญาแห่งช้างป่า

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีแสงสว่างที่ส่องทอดไปในบรรดา “ปางช้าง” ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของบรรดา “ช้างบ้าน” หรือช้างเลี้ยง หลายแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีรายได้ส่วนใหญ่จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว

ใน สารคดี “มองโลกผ่านเลนส์ ปางช้างในช่วงโควิด-19” โดย จิตรภณ ไข่คำ และสารคดี “วิกฤตชีวิตช้างไทย ในห้วงการขาดนักท่องเที่ยวจากโควิด-19” ในเว็บไซต์ของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย (ngthai.com) ได้สรุปความเล่าย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ปางช้างเหล่านี้แทบสูญเสียรายได้ในการดูแลสวัสดิภาพช้างเหล่านี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ด้วยความผูกพันที่บรรดาควาญช้างมีต่อช้างเลี้ยงเหล่านี้ได้เร่งระดมทุนในทุกวิถีทางเพื่อให้ช้างเหล่านี้อยู่รอด ทั้งการช่วยเหลือจากภาครัฐ การรับบริจาคจากคนทั่วไป และการยอมควักเงินส่วนตัวของบรรดาเจ้าของช้างเพื่อให้พวกมันอยู่รอด จนผ่านวิกฤตนั้นครั้งนั้นมาได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลของช้างไทยที่ถูกทอดทิ้งในศรีลังกานั้น ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2565 จนแม้แต่ช้างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทำหน้าที่แห่ “พระเขี้ยวแก้ว” สัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของชาวเนปาลนั้นแทบไร้การเหลียวแล

แต่เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย เราคงอนุมานได้ว่า “ความผูกพันอันลึกซึ้ง” ระหว่างช้างไทยกับคนไทยนั้นแนบแน่นจนเราไม่อาจรู้ตัว ช้างไทยเพียงหนึ่งเชือกที่ตกระกำลำบากมาอย่างยาวนาน คนไทยจำนวนมากก็ร่วมกันใจเรียกร้องเพื่อนำกลับมาให้ชีวิตที่ดีกว่าในบ้านเกิด (และเราคาดหวังว่าจะมันจะได้รับการดูแลเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ)

และแม้จะมีขัดแย้งถึงกันระหว่างคนกับช้างป่าจนถึงขั้นเสียชีวิต ก็ยังมีความพยายามในการเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียในครั้งต่อไป และเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดขึ้น ควาญช้างไทย (และอาจรวมไปถึงคนไทยจำนวนมาก) ก็จะพยายามดูแลรักษาช้างเหล่านี้เอาไว้อย่างสุดความสามารถ

คงไม่มีถิ่นฐานใดที่เหมาะกับช้างไทย นอกจากผืนแผ่นดินเกิดของพวกมันเอง

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ Amarin TV

ที่มา

https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/840637

https://thematter.co/brief/207491/207491

https://www.thaipbs.or.th/news/content/329229

https://www.thaipbs.or.th/news/content/328248

https://www.thaipbs.or.th/news/content/329290

https://mgronline.com/travel/detail/9660000059720 

https://www.voathai.com/a/7163981.html

https://mgronline.com/travel/detail/9660000060653

https://workpointtoday.com/20muthu-raja/

https://www.dailynews.co.th/news/2500388/ 


อ่านเพิ่มเติม ช้างพยายามอยู่ร่วมกับคน แล้วคนจะอยู่ร่วมกับช้างได้หรือ

Recommend