ชะมดกรงถูกเลี้ยงแต่ผลกาแฟซึ่งใช้ผลิตเมล็ดกาแฟ ในธรรมชาติ อาหารของชะมดประกอบด้วยผลไม้ แมลง และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ นำมาทำเป็น กาแฟขี้ชะมด
กาแฟขี้ชะมด : ความลับเบื้องหลังกาแฟแพงที่สุดในโลก
ใครๆ ก็รู้ว่าโกปิลูวัก หรือ กาแฟขี้ชะมด นั้นทำมาจากอึของชะมด ซึ่งเป็นความโชคร้ายของมัน (จริงๆ แล้วโกปิลูวักมาจากอึของอีเห็นข้างลายที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paradoxurus hermaphroditus หรืออีเห็นธรรมดา อยู่ในวงศ์ชะมดและอีเห็น แต่กาแฟขี้ชะมดเป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันในท้องตลาด)
มันเป็นทั้งกาแฟแพงที่สุดในโลกและทำมาจากอึ หรือจะพูดให้ถูกคือทำจากเมล็ดกาแฟที่ถูกย่อยบางส่วนแล้วอึออกมาโดยชะมด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายแมว เท่าที่รู้กัน “โกปิลูกวัก” หนึ่งถ้วยขายในสหรัฐอเมริการาคาราว 2,600 บาท
ชะมดมีหางยาวเหมือนลิง หน้ามีลายคล้ายแร็กคูน บนตัวมีลายยาวหรือลายจุด พบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ชะมดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารเพราะมันกินแมลงและสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก นอกเหนือจากผลไม้อย่างผลกาแฟกับมะม่วง ในขณะเดียวกันมันก็ถูกเสือดาว งูตัวใหญ่ๆ และจระเข้กินด้วย
ตอนแรกๆ การค้ากาแฟขี้ชะมดทำท่าจะดีต่อสัตว์อย่างชะมดอยู่เหมือนกัน ในอินโดนีเซีย ชะมด ซึ่งเป็นสัตว์วงศ์เดียวกับอีเห็น มักบุกเข้าไปกินผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ขาย มันจึงถูกมองเป็นศัตรูพืช ดังนั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมโกปิลูวัก จึงส่งเสริมให้คนท้องถิ่นปกป้องชะมดเพราะอึของมันมีค่า เอ็นไซม์ย่อยอาหารของชะมดเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนในเมล็ดกาแฟ ซึ่งกำจัดความเป็นกรดบางส่วนออก ทำให้ได้กาแฟรสชาตินุ่มนวลขึ้น
แต่เมื่อกาแฟขี้ชะมดเริ่มโด่งดังไปพร้อมกับที่อินโดนีเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่อยากมาเยือนและมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่า ชะมดที่เคยอยู่ป่าก็ถูกจับมาขังในไร่กาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการผลิตกาแฟ อีกส่วนก็เพื่อทำเงินจากนักท่องเที่ยวที่มายืนจ้องพวกมัน
นักวิจัยจากหน่วยวิจัยการอนุรักษ์สัตว์ป่า มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร World Animal Protection ซึ่งมีสำนักงานในลอนดอน ประเมินสภาพความเป็นอยู่ของชะมดป่า 50 ตัวที่ขังอยู่ในกรงที่ไร่กาแฟ 16 แห่งในบาหลี และรายงานผลในวารสาร Animal Welfare ฉายให้เห็นภาพน่าอเนจอนาถ
ไร่กาแฟทุกแห่งที่นักวิจัยไปเก็บข้อมูล ไม่มีแห่งใดเลยที่จะใส่ใจสวัสดิภาพของสัตว์ ตั้งแต่ขนาดและความสะอาดของกรง จนถึงความสามารถที่ชะมดจะใช้ชีวิตเยี่ยงชะมดปรกติ “บางกรงเล็กมากๆ จนเรียกว่าเป็นกรงกระต่ายก็ได้ แถมยังเปียกชุ่มด้วยฉี่และอึไปทั่ว” นีล ดิครูซ หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
ชะมดบางตัวผอมมากเนื่องจากถูกเลี้ยงด้วยอาหารอันจำกัดคือผลกาแฟเท่านั้น สิ่งที่ร่างกายมันได้รับคือผลที่ห่อหุ้มเมล็ดกาแฟ บางตัวก็อ้วนเกินเพราะไม่เคยได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ บางตัวก็ถูกกระตุ้นด้วยคาเฟอีน ดิครูซเล่า
แต่ที่น่าหดหู่ที่สุดก็คือพื้นกรงที่ทำจากลวดสานกันเป็นตาข่าย บังคับให้ชะมดต้องยืน นั่ง นอนอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา “ถ้าหากคุณต้องยืนบนลวดที่สานกันแบบนั้นตลอดเวลา มันจะทำให้คุณเป็นแผลและมีรอยขีดข่วน” ชะมดไม่สามารถหนีพ้นจากพื้นชนิดที่ว่าได้เลย ดิครูซกล่าวว่า “มันสร้างความเจ็บปวดตลอดเวลาและรุนแรง”
ยิ่งไปกว่านั้น ชะมดจำนวนมากไม่มีน้ำสะอาดกินและไม่มีโอกาสจะมีปฏิสัมพันธ์กับชะมดตัวอื่น ชะมดเป็นสัตว์หากินกลางคืน แต่มันต้องอยู่ในที่โล่งตลอดเวลาในเวลากลางวัน และต้องเผชิญกับเสียงดังจากการจราจรและนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ขี้ชะมดป่าหรือขี้ชะมดกรง ไม่มีใครรู้แน่
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้โกปิลูวักพิเศษ ก็เพราะชะมดป่าเลือกผลกาแฟคุณภาพดีกิน เมื่อขังชะมดไว้ในกรงแล้วเลี้ยงมันแต่ผลกาแฟเก่าๆ ผลที่ได้ก็จะมีคุณภาพต่ำไปด้วย นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ในบทความของ Specialty Coffee Association of America องค์การการค้ากาแฟของผู้คั่วกาแฟกรูเมต์และบาริสตาว่า โกปิลูกวัก ไม่ได้ดีอย่างที่ว่ากัน ถึงแม้ว่ากระบวนการย่อยอาหารของชะมดจะทำให้กาแฟนุ่มนวลขึ้น แต่มันก็ทำลายกรดและกลิ่นที่บอกลักษณะกาแฟชั้นดีออกไปด้วย
ปัจจุบันไม่มีใครบอกได้ว่ากาแฟโกปิลูวักถุงใดที่มาจากชะมดป่าหรือชะมดกรง เมื่อปี 2013 บีบีซีเคยเปิดโปงความไร้มนุษยธรรมในการผลิตกาแฟจากชะมดในกรงขัง จนยุโรปต้องออกกฎติดฉลากกาแฟที่มาจากชะมดป่า แม้แต่ผู้ค้ากาแฟอย่าง โทนี ไวลด์ ซึ่งแนะนำโกปิลูวักให้ชาวตะวันตกได้รู้จัก ก็ต่อต้านเรื่องนี้ในบทความที่ตีพิมพ์ใน Guardian เขากล่าวว่ามันกลายเป็นอุตสาหกรรม ทารุณ และจอมปลอม
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรับรองใดๆ ที่จะทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่ากาแฟที่ติดฉลากขี้ชะมด “ป่า” จะเชื่อถือได้ และผู้รับรองกาแฟที่กำลังทำงานเพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมก็ปฏิเสธจะออกใบรับรองกับกาแฟขี้ชะมดยี่ห้อใดๆ ตามมาตรฐานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture Network-SAN) ของพันธมิตรป่าฝนและผู้รับรองอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงซึ่งใช้ในการออกตราประทับรับรองห้ามการล่าและจับสัตว์ป่าในการทำเกษตร การห้ามชะมดกรงเป็นแนวทางที่ถูกพูดถึงเป็นพิเศษในกรณีของกาแฟจากอินโดนีเซีย ส่วนมาตรฐานการรับรองกาแฟยั่งยืน UTZ ก็ห้ามขังสัตว์ป่าเพื่อการเกษตรเช่นกันและไม่รับรองโกปิลูวักใดๆ ทั้งสิ้น
อเล็กซ์ มอร์แกน จากพันธมิตรป่าฝนซึ่งใช้มาตรฐาน SAN ระบุว่ามันเสี่ยงเกินไปที่จะรับรองโกปิลูวัก เพราะมันยากมากที่จะรับรองว่าเมล็ดกาแฟมาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์หรือไม่ “ความเห็นส่วนตัวของผมคือจงหลีกเลี่ยงมัน” มอร์แกนกล่าว “ส่วนใหญ่มันมักจะมากจากถิ่นที่ผลิตกาแฟด้วยการขังชะมดทั้งนั้น”
เรื่อง : เรเชล เบล
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ National Geographic ตั้งแต่เดือนเมษายน 2016 ผลิตจากหน่วยข่าวสืบสวนพิเศษของ National Geographic ซึ่งเน้นเรื่องอาชญากรรมสัตว์ป่าและได้รับทุนจากมูลนิธิ Band และกองทุน Woodtiger
อ่านเพิ่มเติม
มายกแก้ว กาแฟ อวยพรให้อายุยืนกันดีไหม