สลอธ ถึงจะช้าแต่ไม่ได้โง่
เราทุกคนรู้ดีว่า”สลอธ”นั้นเชื่องช้า ในฐานะของสัตว์นักปีนต้นไม้ที่ไม่ได้จำศีลผู้มีอัตราการเผาผลาญต่ำที่สุดในโลก สลอธมีถิ่นอาศัยอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และเมื่อมองไปที่มันความน่าเบื่อก็บังเกิดขึ้น….
แต่คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่าสลอธนั้นเคลื่อนไหวได้รวดเร็วเป็นสามเท่าจากปกติเมื่ออยู่ในน้ำ รายงานจาก Becky Cliffe นักสัตววิทยาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์สลอธในคอสตาริกา และเมื่ออยู่ในน้ำพวกมันมักจะลอยตุ๊บป่อง
“30% ของน้ำหนักตัวมันคือระบบย่อยอาหาร ที่ทำหน้าที่จัดการกับใบไม้ปริมาณมาก” Cliffe กล่าว “นั่นหมายความว่าในตัวของมันจะมีแก๊สที่เกิดจากการหมัก สลอธเปรียบเสมือนลูกบอลเป่าลมที่มีแขนขายื่นออกมาค่ะ”
ความเกียจคร้านของสลอธคือหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนทั่วไปมักเข้าใจผิด และ Cliffe ต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ผ่านหนังสือเล่มใหม่ที่เธอเขียนที่มีชื่อว่า Sloths: Life In The Slow Lane
“ฉันต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่าพวกมันคือสัตว์สุดยอดที่สามารถปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดได้อย่างน่าทึ่ง” เธอกล่าว
เฉื่อยชาแต่ใช่ว่าจะไม่มีสมอง
คุณผู้อ่านคิดว่าสามารถห้อยโหนกลับหัวอยู่บนกิ่งไม้ได้นานแค่ไหน หนึ่งนาที? หรือสิบนาที? สลอธสามารถทำเช่นนี้ได้ทั้งวัน ในทุกวัน
ในหกสายพันธุ์ของสลอธ พวกมันวิวัฒนาการให้มีกรงเล็บยาวที่ใช้แทนตะขอเกี่ยวและเส้นเอ็นที่มีความแข็งแรงอย่างมาก สลอธยังมีเครือข่ายของเส้นเลือดที่ไหลเวียนผ่านแขนของพวกมัน เพื่อช่วยลดความร้อนให้กล้ามเนื้อและช่วยให้การปีนป่ายใช้พลังงานน้อยลง
นอกจากนั้นสลอธยังเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรงอย่างน่าประหลาด แม้ว่ามวลกล้ามเนื้อทั้งหมดจะน้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับสัตว์ที่มีขนาดตัวเท่ากัน แต่กล้ามเนื้อของพวกมันเป็นกล้ามเนื้อแบบ Slow Twitch ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้แรงน้อยๆ ในเวลานานๆ เช่นการวิ่งมาราธอนเป็นต้น
หนึ่งสิ่งที่คุณผู้อ่านควรรู้ก็คือ ด้วยความที่มันเป็นสัตว์ที่มีระดับการเผาผลาญพลังงานต่ำมาก ดังนั้นพวกมันจึงต้องนอนรับแสงอุ่นๆ จากดวงอาทิตย์เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญในร่างกาย เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน ที่ว่าระบบการเผาผลาญของมันต่ำเพียงใด Cliffe เปรียบเทียบให้ฟังว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 30 วัน สำหรับกระบรวนการย่อยสลายใบไม้เพียงหนึ่งใบ
น่าเศร้าที่พฤติกรรมอันเชื่องช้าของมันถูกนำไปเปรียบเทียบกับสติปัญญาที่ทึบตามไปด้วย ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “หากเรายิงปืนข้างหัวสลอธ มันก็ยังคงไม่หันหน้ามา” Cliffe กล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เชื่องช้าของมันมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออันตรายรอบตัว นักปีนต้นไม้เหล่านี้วิวัฒนาการขึ้นมาพร้อมๆ กับนกอินทรีฮาร์ปี นักล่าซึ่งจะมองหาเหยื่อที่กำลังเคลื่อนไหว “พวกมันมีวิธีรับมือกับผู้ล่าในแบบของมันค่ะ”
เฝ้าดูและรอคอย
ด้วยความเชื่องช้าของมันทำให้เป็นการง่ายที่จะถ่ายภาพของสลอธ Suzi Eszterhas ช่างภาพผู้ใช้เวลา 6 ปีในการเก็บภาพสลอธลงในหนังสือเล่มใหม่ของ Cliffe ซึ่งเธอเล่าเรื่องของสลอธแม่ลูกอ่อนที่ชื่อ Apple กับลูกของมันที่ชื่อ Pie ให้ฟังว่า “เธอมักจะห้อยโหนอยู่บนอากาศที่ความสูงกว่าร้อยฟุต จากนั้นก็ค่อยๆ ปีนลงมาเพื่อส่งยิ้มให้แก่เรา”
นอกจากนั้นพวกเขายังเดินทางไปศึกษาและเก็บภาพของสลอธ pygmy ที่มีสามนิ้วซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งของสลอธที่ใกล้สูญพันธุ์ของเกาะปานามาขณะนี้ พวกมันตัวเล็กกว่าแมวบ้านเสียอีก และชื่นชอบที่จะว่ายน้ำบริเวณป่าชายเลน ซึ่ง Cliffe และ Eszterhas ใช้เวลาอยู่บนเรือถึง 5 วันในการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมมัน
“พอถึงวันสุดท้ายเราก็รู้สึกว่า เย้ ได้เวลากลับบ้านแล้ว” Cliffe กล่าว แต่น่าเศร้าที่พวกเขาไม่ได้กลับบ้านทันทีเนื่องจากพายุเข้า พวกเขาต้องใช้เวลาต่ออีกสองวันบนเรือ แต่บนข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี “เราจ่ายเงินให้คนจับปลาไปจับกุ้งล็อบสเตอร์มาให้เรากิน” Cliffe เล่าประสบการณ์ให้ฟัง “และเราได้ภาพตามที่ต้องการ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ”
เรื่อง Jason Bittel
อ่านเพิ่มเติม
บรรดาสัตว์เชื่องช้าเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความเร็วไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต