แหล่งน้ำเป็นพิษ ทำปลาไหลยุโรปติดโคเคน

แหล่งน้ำเป็นพิษ ทำปลาไหลยุโรปติดโคเคน

แหล่งน้ำเป็นพิษ ทำ ปลาไหลยุโรป ติดโคเคน

ท่ามกลางสังคมในหลายประเทศที่กำลังต่อสู้ปราบปรามยาเสพติด และยาผิดกฎหมายเหล่านี้ ทว่าผลกระทบจากยาอันตรายใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่กับคน เพราะขณะนี้มันกำลังทำร้ายบรรดาสัตว์น้ำตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน โดยผลการวิจัยใหม่ออกเตือนว่า โคเคนที่ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำกำลังส่งผลกระทบต่อปลาไหลยุโรป ซึ่งปัจจุบันเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ และยังไปรบกวนวงจรการผสมพันธุ์ของพวกมัน อีกด้วย

ในฐานะส่วนหนึ่งของการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทดลองเติมโคเคนลงไปในตู้ที่ปลาไหลยุโรปอาศัยอยู่ภายในห้องปฏิบัติการ เป็นเวลา 50 วัน เพื่อจับตาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ปกติแล้วปลาไหลยุโรปเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตซับซ้อน พวกมันใช้ชีวิตช่วง 15 – 20 ปีแรกในแหล่งน้ำจืด หรือน้ำกร่อยของแหล่งน้ำยุโรป ก่อนที่จะเดินทางว่ายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อดั้นด้นไปผสมพันธุ์และวางไข่ และตัวอ่อนก็จะเดินทางกลับมายังแหล่งน้ำจืดในยุโรปอีกครั้ง เป็นระยะทางกว่า 3,700 ไมล์ ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการเพาะฟาร์มปลาไหลยุโรป เพื่อส่งขายในฐานะอาหารโดยเฉพาะก็ตาม แต่ปลาไหลตามธรรมชาติยังคงเผชิญกับการถูกคุกคามจากการประมงเกินขนาด, การสร้างเขื่อนที่เปลี่ยนทิศทางของน้ำ ไปจนถึงมลพิษในน้ำ

และจากรายงานล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่าปลาไหลยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเสพติดโคเคนในช่วงต้นของชีวิต รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงใน Science of the Total Environment

Anna Capaldo นักวิจัยด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Naples Federico II ผู้นำการวิจัยแสดงข้อมูลที่ตรวจพบสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วโลก และยิ่งพบมลพิษในปริมาณที่เข้มข้นมากขึ้น เมื่อแหล่งน้ำนั้นๆ ตั้งอยู่ใกล้กับเมือง เช่นแม่น้ำเทมส์ ในกรุงลอนดอน หรือในแม่น้ำ Amo ที่ใกล้กับหอเอนปิซ่า

(วิถีชีวิตของชนเผ่าที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อน)

 

ผลการทดสอบยาเสพติด

Capaldo และทีมวิจัยทดลองเลี้ยงปลาไหลยุโรปในน้ำที่ปนเปื้อนโคเคนเป็นปริมาณเล็กน้อย หรือเทียบเท่ากับแหล่งน้ำบางแห่ง พวกเขาพบว่าในภาพรวมสุขภาพทั่วไปของมันไม่ต่างจากปลาที่ไม่ได้รับสารเสพติด ทว่าร่างกายของมันกำลังบอกบางอย่าง

ทีมวิจัยพบการตกค้างของสารเสพติดในสมอง, กล้ามเนื้อ, เหงือก, ผิวหนัง ไปจนถึงเนื้อเยื่ออื่นๆ ของปลาไหล กล้ามเนื้อของมันแสดงให้เห็นถึงอาการบวมผิดปกติ ตลอดจนฮอร์โมนก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงพบได้ใน 10 วันต่อมา แม้ว่าพวกเขาจะฟื้นฟูพวกมันด้วยการย้ายไปใส่ในตู้ปลาที่ปราศจากโคเคนแล้วก็ตาม

“ทุกส่วนในร่างกายของมันได้รับผลกระทบหมด” Capaldo กล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ โคเคนไปเพิ่มระดับของคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด และจะกระตุ้นให้ร่างกายบริโภคไขมันมากขึ้น ปัญหาก็คือในวงจรชีวิตของปลาไหลยุโรป พวกมันต้องเก็บสะสมไขมันก่อนที่จะออกเดินทางครั้งใหญ่เพื่อไปผสมพันธุ์ ทว่าการมีระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้การอพยพล่าช้าออกไป

นอกจากนั้น นักวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าสารโดพามีนที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับโคเคน จะส่งผลให้พวกมันไม่ต้องการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ “ดูเหมือนว่าการติดโคเคนจะส่งผลให้อัตราการสืบพันธุ์ของพวกมันลดลง” Capaldo กล่าว อีกทั้งการที่กล้ามเนื้อของมันบวมจากยาเสพติด ยังลดความสามารถในการว่ายน้ำระยะทางไกลอีกด้วย

ด้าน Emma Rosi นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยระบบนิเวศ Cary ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวเสริมว่า ต้องใช้ยาเสพติดเป็นปริมาณมากจึงจะทำลายอวัยวะภายในของสัตว์ได้ ทว่าในความเข้มข้นต่ำก็ยังคงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิต และการหาอาหารของมัน ทั้งนี้ตัวเธอเคยศึกษาผลกระทบของยา Prozac ที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า และแอมเฟตามีนต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำ ผลที่ได้พบว่าแม้แต่แบคทีเรีย หรือสาหร่ายซึ่งเป็นห่วงโซ่เล็กๆ ในระบบก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งยังส่งผลต่อแมลงที่เติบโตในน้ำด้วยเช่นกัน

เพิ่มเติมจากงานวิจัยของ Capaldo โคเคนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น เพราะแหล่งน้ำหลายแห่งยังปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากยาผิดกฎหมาย, โลหะหนัก, ยาปฏิชีวนะ และวัตถุอันตรายทางการเกษตร “เรายังไม่รู้ว่าผลกระทบที่ชัดเจนของสารเหล่านี้คืออะไร แต่ที่แน่ๆ มันส่งผลต่อสุขภาพของปลาไหล” เธอกล่าว พร้อมระบุว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกันกับปลาไหล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

 

บำบัดยาเสพติด

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจำต้องได้รับการแก้ไขมากกว่าการบำบัดแหล่งน้ำ หรือรณรงค์ให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการทิ้งยา Daniel Snow ผู้อำนวยการจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางน้ำ มหาวิทยาลัยเนแบรสกาชี้ว่า ปัญหาทั้งหมดจะยุติได้ด้วยการหยุดใช้ยาผิดกฎหมาย

“มันเป็นหนทางแก้ไขที่ใช้กฎหมายยุติได้ ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง” เขากล่าว โดยก่อนหน้านี้ตัวเขาได้วิจัยผลกระทบของยาต่อสัตว์น้ำมาก่อน ทั้งยังหวังว่างานวิจัยใหม่ของ Capaldo จะช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้คนหยุดคิดถึงผลกระทบจากสิ่งที่พวกเขาทำว่าส่งผลต่อสัตว์อย่างไรบ้าง

เรื่อง Joshua Rapp Learn

 

อ่านเพิ่มเติม

เต่าแม่น้ำแมรี่ ติดอันดับสัตว์เลื้อยคลานเสี่ยงสูญพันธุ์

 

Recommend