ไดโนเสาร์บินได้ แต่ไม่ใช่แบบนกในปัจจุบัน

ไดโนเสาร์บินได้ แต่ไม่ใช่แบบนกในปัจจุบัน

ไดโนเสาร์บินได้ แต่ไม่ใช่แบบนกในปัจจุบัน

ไดโนเสาร์บินได้ มีขนนามอาร์คีออปเทอริก (archaeopteryx) ได้รับสมญานามว่าเป็นนกตัวแรกของโลก เนื่องจากปีกของมันที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการสำคัญซึ่งเชื่อมโยงระหว่างนกและสัตว์เลื้อยคลาน ว่าแต่มันบินได้จริงหรือไม่?

นั่นเป็นคำถามที่นักบรรพชีวินวิทยาถกเถียงกันมานานหลายสิบปี แม้อวัยวะดังกล่าวจะมีรูปร่างคล้ายปีกก็จริง แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสามารถพยุงมันขึ้นไปบนอากาศได้ หรือแท้จริงแล้วอาร์คีออปเทอริกเพียงแค่ร่อนถลาลงจากต้นไม้?  หรือปีกคู่นี้ช่วยให้มันหนีรอดจากผู้ล่าที่อยู่บนพื้นดิน? หรือไม่ปีกของมันก็มีเพื่อจุดประสงค์อื่นที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง?

และล่าสุดผลการวิเคราะห์กระดูกขาของมันเผยให้เห็นว่ามันมีโครงสร้างกระดูกที่ใกล้เคียงกับไก่ฟ้าและนกกระทา ซึ่งพวกมันบินได้เป็นระยะทางสั้นๆ ผลการค้นพบครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Nature Communications on Tuesday เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ทฤษฎีที่ว่า อาร์คีออปเทอริกสามารถร่อนไปในอากาศได้ ซึ่งทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์เข้าไปในฟอสซิลของมันโดยไม่เกิดผลกระทบต่อกระดูกโบราณแม้แต่น้อย “นี่เป็นการศึกษาที่ใช้หนึ่งในเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก” Steve Brusatte นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้กล่าวชื่นชม

 

ด้วยแรงบิด

ย้อนกลับไปเมื่อ 150 ล้านปีก่อน ในดินแดนที่กลายมาเป็นประเทศเยอรมนีปัจจุบัน อาร์คีออปเทอริกมีชีวิตที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และพวกมันมีขนสีดำสนิทเช่นอีกาในทุกวันนี้

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1860 เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบฟอสซิลของ อาร์คีออปเทอริก การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะในปีต่อมา ชาร์ล ดาร์วิน นักชีววิทยาได้เผยแพร่ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขา ดาร์วินเชื่อว่าฟอสซิลชิ้นนี้คือรูปแบบของวิวัฒนาการระดับกลางซึ่งเชื่อมโยงระหว่างสัตว์เลื้อยคลานและนก ฟอสซิลชิ้นนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “Urvogel” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า นกตัวแรก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาของการถกเถียงเกี่ยวกับความสามารถทางการบินของ อาร์คีออปเทอริก นักบรรพชีวินวิทยาพยายามมองหาว่าเจ้าสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้มีอะไรที่หายไป เมื่อเทียบกับนกที่ยังมีชีวิตอยู่ รายงานจาก Julia Clarke นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส กล่าว

ตัวอย่างเช่น ในนกสมัยใหม่พวกมันมีกระดูกอกที่ช่วยให้กล้ามเนื้อยกปีกและกล้ามเนื้อกดปีกของมันสามารถกระพือขึ้นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาร์คีออปเทอริกไม่มีกระดูกทำนองนี้ ซึ่ง Clarke ตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างลักษณะนี้มักเป็นกระดูกอ่อน ซึ่งยากที่จะหลงเหลือในรูปของฟอสซิล

เพื่อหาคำตอบ นักวิจัยตรวจสอบฟอสซิลของมันด้วยกล้องจุลทรรศน์ เทคโนโลยีที่สามารถใช้กับซากดึกดำบรรพ์เช่นนี้มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก ด้วยความร่วมมือจาก European Synchrotron Radiation Facility (ESRF) ในเมืองเกรโนเบิล ของฝรั่งเศส สถานที่แห่งหนึ่งที่มีเทคโนโลยีรังสีเอ็กซ์ที่ดีที่สุดในโลก

“ในงานวิจัยที่ผ่านๆ มามีหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับการบิน แต่ล้วนไม่ได้รับการพิสูจน์จริงๆ” Dennis Voeten นักบรรพชีวินวิทยาจาก ESRF กล่าว โดยตัวเขาเป็นผู้นำในการศึกษาครั้งนี้ “เราตัดสินใจที่จะเข้าใกล้มันยิ่งขึ้นด้วยอีกวิธี: เราพยายามมองหาตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการบินภายในกระดูกของมัน แทนที่จะพิจารณาว่ามันอาจจะบินได้หรือไม่ได้”

 

Recommend