หมาป่าจากเชอร์โนบิลอาจกำลังแพร่ยีนกลายพันธุ์

หมาป่าจากเชอร์โนบิลอาจกำลังแพร่ยีนกลายพันธุ์

หมาป่าจาก เชอร์โนบิล อาจกำลังแพร่ยีนกลายพันธุ์

มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่รอบๆ บริเวณโรงไฟฟ้า เชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน สถานที่ปิดตายมาตั้งแต่ปี 1986 จากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด

ผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบประชากรของหมาป่ายุโรปสีเทา และสัตว์ป่าอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขต Chernobyl Exclusion Zone หรือ CEZ พื้นที่ขนาด 2,600 ตารางกิโลเมตรที่ยังคงมีค่ากัมมันตภาพรังสีสูง แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารังสีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์มากน้อยแค่ไหน ทว่าการดำรงอยู่ของพวกมันสร้างความกังวลตามมาว่ายีนที่กลายพันธุ์จากการได้รับรังสี อาจถูกแพร่กระจายออกมานอกเขตเชอร์โนบิล

 

การเดินทางอันกว้างไกล

ในผลการทดลองล่าสุด ทีมนักวิจัยติตตามการเดินทางของหมาป่าจำนวน 13 ตัว ด้วยปลอกคอวัดปริมาณรังสี พวกเขาพบว่าปริมาณรังสีที่สะสมมีมากขึ้น เมื่อพวกมันต้องเดินทางผ่านพื้นที่ปนเปื้อน ทว่าผลการวิจัยพบว่าพวกมันเดินทางไปได้ไกลกว่าที่คาดคิดกันเอาไว้ เพราะหนึ่งในหมาป่าหนุ่มตัวหนึ่งสามารถเดินทางได้ไกลถึง 400 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากทางตะวันออกของเบลารุส เข้าสู่ยูเครน และถึงรัสเซียในที่สุด ผลการวิจัยใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงใน European Journal of Wildlife Research

เป็นครั้งแรกที่การเดินทางย้ายถิ่นระยะไกลจากหมาป่าในเขตเชอร์โนบิลไปยังถิ่นอื่นถูกบันทึกเอาไว้ รายงานจาก Jim Beasley นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัย Georgia ในสหรัฐอเมริกา

ปกติแล้วหมาป่าวัยหนุ่มจะออกเดินทางไกลเพื่อหาคู่ ดังนั้นแล้วสำหรับ Beasley ประเด็นนี้ไม่ได้น่าตกใจ ทว่าผลการวิจัยบ่งชี้ว่ามีประชากรสัตว์ป่าที่ชัดเจนกำลังอาศัยอยู่ในเขตอันตรายของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล “เราทราบมาว่ามีประชากรหมาป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในเขต CEZ” Michael Byrne หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยที่ศึกษานิเวศวิทยาว่าด้วยการอพยพของสัตว์ จากมหาวิทยาลัยมิสซูรีกล่าว “ในตอนแรกจำนวนประชากรพวกมันก็ค่อนข้างคงที่ จนกระทั่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพวกสัตว์วัยหนุ่มสาวจึงต้องออกขยายอาณาเขตไปยังแหล่งอื่น”

“คล้ายๆ กับถึงเวลาที่เราต้องออกจากบ้านไปหางาน” Byrne กล่าวติดตลก และการเดินทางอันกว้างไกลของสัตว์ป่าเหล่านี้นำมาซึ่งความกังวลต่อมาที่ว่า พวกมันสามารถกระจายยีนกลายพันธุ์ไปยังสัตว์ในพื้นที่อื่นๆ ได้หรือไม่?

 

แพร่กระจายยีนกลายพันธุ์

จากการศึกษาก่อนหน้าในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก, หนู และแมลงพบว่า รังสีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลสามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ รายงานจาก Tim Mousseau นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาท์แคโลไรนา ผู้ไม่ได้มีส่วนในการวิจัยครั้งนี้ นอกจากนั้นยังพบว่ายีนกลายพันธุ์สามารถส่งต่อไปยังรุ่นถัดไปได้ โดยในสัตว์ขนาดเล็กรังสีก่อให้เกิดเนื้องอก, ต้อกระจก ไปจนถึงขนาดสมองที่เล็กกว่าปกติ และร่างกายที่พัฒนาได้ไม่เต็มที่

อย่างไรก็ดีในกรณีของหมาป่า ประเด็นนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน “มันมีความเป็นไปได้สูง” Mousseau กล่าว แม้ว่ารอบๆ เชอร์โนบิลจะไม่มีประชากรหมาป่าอื่นๆ ให้หมาป่าจากเชอร์โนบิลผสมพันธุ์ด้วยก็ตาม ด้าน Anders Møller นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Paris-Sud แย้งว่าแม้ผลกระทบจากรังสีจะเป็นอันตราย แต่หมาป่าที่ได้รับผลกระทบจากรังสี ไม่น่าจะเดินทางอพยพได้ไกลขนาดนั้น ตรงกันข้ามเขาไม่เห็นด้วยกับไอเดียที่ว่า ประชากรของพวกมันกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในเชอร์โนบิล เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เองพบว่าประชากรหมาป่าในพื้นที่อื่นๆ ของยุโรปก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน

 

พื้นที่กัมมันตภาพรังสี

งานวิจัยของ Møller แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่สีแดง ซึ่งมีปริมาณการปนเปื้อนของรังสีมากนั้น กลับมีประชากรสัตว์ป่าอยู่น้อยที่สุด และเป็นไปได้ว่าสัตว์เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบในระดับทางพันธุกรรม “ผมสามารถสุ่มพื้นที่ในเชอร์โนบิลและบอกได้เลยว่าตรงนั้นมีปริมาณรังสีมากหรือน้อย โดยดูจากจำนวนนกที่อาศัยอยู่” และรวมถึงเสียงนกด้วยเช่นกัน

ขณะนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าพื้นที่ปนเปื้อนของเชอร์โนบิลนั้นเป็นพื้นที่ที่เพิ่มจำนวนสัตว์ป่า หรือไปลดจำนวนสัตว์ป่ากันแน่ ด้าน Byrne และทีมวิจัยเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นบ้านของประชากรหมาป่าจำนวนมากมาย และหากเป็นเช่นนั้นจริงพันธุกรรมที่ได้รับผลกระทบจากรังสีของพวกมัน อาจถูกส่งต่อไปยังประชากรหมาป่าในภูมิภาคอื่นๆ

ทั้งนี้ทีมวิจัยเน้นย้ำว่าการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตจะช่วยให้พวกเขาตอบคำถาม ตลอดจนข้อถกเถียงเหล่านี้ได้ “ผมไม่อยากจะบอกว่าสัตว์จากเชอร์โนบิลจะทำให้สัตว์อื่นๆ ทั่วโลกปนเปื้อนไปด้วย” Byrne กล่าว “แต่ถ้ามีรูปแบบของการกลายพันธุ์ใดๆ ที่ถูกส่งต่อไปยังสัตว์อื่นๆ ได้ นั่นคือเรื่องที่เราควรต้องกังวลกันได้แล้ว”

เรื่อง Douglas Main

 

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล สูญเสียยีนชนิดหนึ่งไป

 

 

Recommend