แพ ขยะพลาสติก แห่งแปซิฟิกไม่ใช่ในแบบที่คุณคิด
แพขยะแห่งแปซิฟิก คือชื่อของวงขยะขนาดยักษ์ที่ลอยตัวอยู่ ณ ผิวมหาสมุทรบนพื้นที่ระหว่างฮาวายและรัฐแคลิฟอร์เนีย สาเหตุที่มันโด่งดังก็เพราะขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของมัน ซึ่งหากจะถามว่าใหญ่ขนาดไหน? ขยะพลาสติก แห่งแปซิฟิกมีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกาเสียอีก แต่ยังคงไม่สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ
อย่างไรก็ดีแม้จะขาดคุณสมบัติของผืนดิน แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดยั้งนักโฆษณาในการสถาปนาแพขยะแห่งนี้ให้เป็นประเทศใหม่ไปได้ ด้วยความกว้างของดินแดนขยะสุดลูกหูลูกตาพวกเขาตั้งชื่อให้มันว่าประเทศ “Trash Isles” และขณะนี้มีพลเมืองอย่างเป็นทางการแล้วหนึ่งคน คือ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
แพขยะแห่งแปซิฟิกถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1977 โดย Charles Moore ผู้ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขับเรือยอร์ชฝ่าขวดน้ำพลาสติก เพื่อเดินทางกลับบ้านในลอสแอนเจลิส Curtis Ebbesmeyer นักสมุทรศาสตร์ชาวซีแอตเทิลเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ให้แก่มัน โดยตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินสมุทรและตามรอยสินค้าที่หล่นหายระหว่างการขนส่ง เช่น น้องเป็ดเหลืองของเล่นยอดฮิตในห้องน้ำ หรือรองเท้ากีฬาไนกี้เป็นต้น และ ณ ตอนนี้แพขยะแห่งแปซิฟิกยังกลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญของแคมเปญทำความสะอาดมหาสมุทรสุดยิ่งใหญ่มูลค่า 32 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งก่อตั้งโดยวัยรุ่นชาวเนเธอร์แลนด์ Boyan Slat ที่ปัจจุบันตัวเขาอายุ 23 ปีแล้ว และเป็นเจ้าของบริษัท Ocean Cleanup บริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
นอกเหนือจากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น อันที่จริงเรื่องราวของแพขยะแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ใช่ว่าจะทราบกระจ่างชัดมากนัก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้
มีอะไรกันแน่ภายในแพ?
ไมโครพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 94% ของขยะจำนวน 1.8 ล้านล้านชิ้นของแพขยะแห่งแปซิฟิก แต่หากวัดกันที่น้ำหนักแล้ว ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีสัดส่วนเพียงแค่ 8% เท่านั้น จากการศึกษานักวิทยาศาสตร์พบว่า ในขยะปริมาณ 79,000 เมตริกตันของแพแห่งนี้ ส่วนใหญ่ของขยะแล้วเป็นอุปกรณ์ประมงทั้งสิ้น ไม่ใช่ขวดพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์หีบห่อแบบที่เรามักคุ้นชินจากภาพข่าว
ผลการศึกษาใหม่โดยทีมนักวิจัยของ Slat นี้ถูกเผยแพร่ลงใน Scientific Reports สรุปได้ว่าเจ้าแพขยะปริมาณ 79,000 ตันนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ 4 – 16 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนั้นพวกเขายังพบว่าอวนจับปลาปริมาณมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 46% ของขยะที่เกิดจากอุปกรณ์ประมง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในจำนวน 20% ของอุปกรณ์เหล่านี้ถูกพัดพามาจากเหตุสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อปี 2011
Laurent Lebreton นักสมุทรศาสตร์ของบริษัท Ocean Cleanup ผู้นำการศึกษาครั้งนี้เล่าว่า ทีมวิจัยเองกำลังพยายามประเมินข้อมูลของบรรดาขยะชิ้นใหญ่ภายในแพ “เรารู้กันดีว่ามีอุปกรณ์ประมงจำนวนมากที่กลายเป็นขยะ แต่ 46% เป็นอะไรที่สูงกว่าที่เคยคิดกันไว้” เขากล่าว “ในตอนแรกเราประเมินกันว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 20% นั่นคือจำนวนที่ยอมรับได้สำหรับอุปกรณ์ประมงที่กลายมาเป็นขยะในทะเล 20% ในทะเล และ 80% ในแผ่นดิน”
อวนตกปลาที่ถูกทิ้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนี้กระจัดกระจายไปทั่วผืนมหาสมุทร วาฬ แมวน้ำ หรือเต่าอาจหลงมาติดพันเข้า ซึ่งประมาณกันว่าทุกๆ ปีมีสัตว์น้ำราว 100,000 ตัวที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะเหล่านี้