เมื่อชีวิตสะพรั่งบาน
บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของนิวฟันด์แลนด์ ใกล้แผ่นดินด้านตะวันออกสุดของทวีปอเมริกาเหนือ คือกลุ่มหน้าผาที่ยื่นไปในทะเลชื่อว่า แหลมมิสเทเคน (Mistaken Point) ปัจจุบัน ที่นี่มีชื่อเสียงจากชุดเบาะแสอันน่าทึ่งซึ่งเพิ่งได้รับการตีความใหม่เกี่ยวกับปริศนาที่ทั้งเร้นลับและน่าพิศวงที่สุดข้อหนึ่งว่าด้วยชีวิตบนโลก หลังจากปรากฏและดำรงวงศ์วานบนโลกมานานกว่าสามพันล้านปี ทำไมจู่ๆชีวิตซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กจิ๋วและมักมีเซลล์เดียวจึงแตกแขนงแยกเผ่าพันธุ์เป็นสัตว์โลกรูปแบบซับซ้อน มีหลายเซลล์ ขนาดใหญ่ และหลากหลายอย่างน่าทึ่ง
วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ผมเดินทางไปที่แหลมมิสเทเคน โดยร่วมทางไปกับมาร์ก ลาฟลาม จากมหาวิทยาลัยโทรอนโตมิสซิสซอกา และไซมอน แดร์ร็อก สังกัดมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในแนชวิลล์ ซึ่งร่วมงานกับลาฟลามมานาน
ภายในเขตสงวนทางนิเวศวิทยาแหลมมิสเทเคน เราขับรถไปตามถนนโรยกรวดสู่จุดที่เป็นร่องบนหน้าผาริมทะเล ก่อนจะปีนลงไป ลาฟลามชี้ไปที่แผ่นหินราบเรียบสีเทาอมม่วงแผ่นหนึ่งที่เอียงราว 30 องศา ฟอสซิล บนแผ่นหินนั้นดูเผินๆเหมือนเงารูปโครงกระดูกงู กล่าวคือมีส่วนกระดูกสันหลังกับซี่โครงเรียงต่อกันไปราวหนึ่งเมตร แต่ไม่มีโครงกระดูกอยู่ที่นี่ จะว่าไปไม่มีกระดูกเลยสักชิ้น มีเพียงรอยประทับของสิ่งมีชีวิตร่างกายอ่อนนุ่มที่ตายและถูกกลบฝังอยู่ ณ ก้นทะเลเมื่อนานแสนนานมาแล้ว สิ่งมีชีวิตนี้ว่ายน้ำไม่ได้ ไม่รู้จักคลาน จึงไม่มีทางดำเนินชีวิตแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิตชนิดใดในปัจจุบัน พวกมันมาจากช่วงเวลาอันคลุมเครือ เมื่อโลกเป็นบ้านของสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่า พวกมันเคยมีอยู่ด้วยซ้ำ “นี่คือครั้งแรกที่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ปรากฏขึ้น” ลาฟลามบอกผมตอนเราคุกเข่าลงบนหิน
ปริศนาเกี่ยวกับชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ อีดีแอคารัน (Ediacaran) เหล่านี้ เปิดฉากขึ้นที่เทือกเขาฟลิน เดอส์อันห่างไกลในรัฐเซาท์ออสเตรเลียที่ซึ่งนักธรณีวิทยาหนุ่มชื่อ เรจินัลด์ สปริกก์ ได้รับมอบหมายให้ประเมินความคุ้มค่าของเหมืองอีดีแอคาราที่ปิดกิจการไปแล้วอีกครั้งในปี 1946 สปริกก์สังเกตเห็นรอยพิมพ์บางอย่างบนชั้นหินปูนที่โผล่ขึ้นมา เขาคิดว่ามัน “ดูเหมือนแมงกะพรุน” แล้วยังมีรอยพิมพ์แบบอื่นๆด้วย บางรอยดูไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักเลยสักนิด ทั้งที่ยังพบเห็นได้หรือสูญพันธุ์ไปแล้ว
สปริกก์ไม่ทันตระหนักว่า ฟอสซิล เหล่านั้นมีอายุมากถึงราว 550 ล้านปี นับว่าเก่าแก่กว่าเหตุการณ์ทางวิวัฒนาการอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งรู้จักกันมากกว่า นั่นคือการทวีชนิดพันธุ์สัตว์ยุคแคมเบรียน (Cambrian explosion) ไม่น้อยกว่า 10 ล้านปี นักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นเชื่อว่า การทวีชนิดพันธุ์สัตว์ยุคแคมเบรียนคือวาระที่ชีวิตรูปแบบเรียบง่ายบนโลกแตกเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็วราวการระเบิดของดวงดาว เกิดเป็นสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดที่มีร่างกายซับซ้อนและใหญ่โต (เราเรียกพวกมันว่าสัตว์) ซึ่งส่วนมากยังสืบวงศ์วานลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน การค้นพบของสปริกก์เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นหลักฐานชิ้นแรกสุดว่า มหากาพย์เรื่องความใหญ่โตและความซับซ้อนของชีวิตเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาที่ทุกวันนี้เรียกว่า ยุคอีดีแอคารัน ไม่ใช่ยุคแคมเบรียนที่ตามมาติดๆ
Recommend
แมลงเม่า ทำไมชอบบินเข้าหาแสงไฟ
แมลงเม่าคือระยะที่มีปีกของวงจรชีวิตปลวก เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน เรามักพบ แมลงเม่า นับร้อยนับพันออกมาบินว่อนรอบดวงไฟ และเมื่อแมลงเม่าออกมาจากจอมปลวก…
พบ วาฬเพชฌฆาต ที่คาดว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่นอกจากฝั่งประเทศชิลี
วาฬเพชฌฆาต ที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ถูกค้นพบนอกชายฝั่งประเทศชิลี ในบริเวณที่เชื่อกันว่ามีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
คลิปนี้ดีต่อใจและจะทำให้คุณยิ้มได้
เพราะเหตุใดการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์แพนด้าจึงยุ่งยากและเต็มไปด้วยความท้าทาย ลองไปฟังจากปากของผู้ชายเจ้าของฉายา “ป๊ะป๋า” แพนด้ากันดีกว่า “ลูกแพนด้าจะทำให้คุณนึกถึงลูกๆของตัวเอง และทำให้คุณหลงรักพวกมันครับ” เขาผู้นี้คือ…
ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ขอบคุณไทย อนุรักษ์เสือโคร่งจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน จำนวนประชากร เสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 60 ภายในเวลา 8-9…