ท่องเที่ยวไปยังโลกพระจันทร์ใน เลห์ ลาดัก
ณ ผืนดินอันกว้างใหญ่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในภูมิภาค ลาดักห์ มีดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า “โลกพระจันทร์” (Moonland) จากภูมิประเทศแห้งแล้ง ขรุขระ สถานที่ซึ่งวัฒนธรรมแบบทิเบตดั้งเดิมยังคงพบเห็นได้ แดนมหัศจรรย์แห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก หลังทางการอินเดียเปิดให้ เลห์ ลาดัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวในทศวรรษ 1970 ลาดักห์กลายมาเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากมาย รวมไปถึง Yuri Andries ช่างภาพชาวเบลเยียม ที่ต้องการบันทึกความผิดแผกที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ในชุดภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Moonland
“ลาดักห์รับความตึงเครียดมากมายจากประเทศที่ตั้งอยู่รอบๆ” Andries กล่าว “แต่ในขณะเดียวกันมันคือสถานที่สุดมหัศจรรย์”
ดินแดนที่ซ่อนเร้นอยู่ตรงกลางระหว่างเทือกเขาหิมาลัยและที่ราบสูงการาโครัมนี้ ตั้งอยู่เคียงข้างกับเส้นทางการค้าโบราณ ทั้งยังเป็นชุมทางค้าขายสำคัญของพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมาพบปะค้าขายกันบนเส้นทางสายไหม ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ลาดักห์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ และเมื่อจีนรุกรานทิเบต ลาดักห์กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของผู้อพยพชาวทิเบต จนปัจจุบันได้รับสมญานามว่าเป็น “ทิเบตน้อย” เนื่องจากมีความเป็นทิเบตมากกว่าดินแดนทิเบตเดิมเสียอีก
ด้วยความที่ลาดักห์คือเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมมากมาย Andries จึงเช่ามอเตอร์ไซค์เพื่อตามหาชุมชนของพระชาวทิเบต, ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ไปจนถึงชุมชนเล็กๆ ของชาวมุสลิมนิกายซุนนี และชาวคริสต์ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านยังคงเป็นกรวดหิน ในขณะที่สัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือปั๊มน้ำมันนั้นหาได้ยากมาก
“เมื่อคุณขับเข้าไปในชุมชนของชาวพุทธ พวกเขาจะเชื้อเชิญให้เข้ามาเยี่ยมบ้าน รินชาให้คุณดื่ม บางครั้งอาจเสิร์ฟโมโม่ ชื่อของเกี๊ยวที่เป็นอาหารท้องถิ่นให้ด้วย แม้การสื่อสารจะติดขัดด้วยอุปสรรคทางภาษา แต่คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความจริงใจที่แสดงออกมา”
การถ่ายภาพบุคคลที่ขัดแย้งกับฉากหลังของสถานที่ คือธีมในการถ่ายภาพของ Andries “ผมต้องการสดุดีแก่โลกที่พวกเขาอยู่” เขาอธิบาย ทว่าในภาพของความเชื่องช้า และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม สถานที่แห่งนี้กำลังเผชิญกับปัญหาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการที่พวกเขาพึ่งพาแหล่งน้ำเดียวจากธารน้ำแข็ง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือสิ่งที่น่ากังวล
แต่ถึงกระนั้นวิถีชีวิตแบบชาวลาดักห์ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชนชาติอื่นทั่วโลกได้ เมื่อพูดถึงความยั่งยืน พวกเขาสร้างบ้านจากดินด้วยเทคนิคแบบโบราณที่ช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว การอาศัยอยู่บนที่สูงช่วยผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มาก ทั้งยังใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในฟาร์ม แลกกับการใช้แรงงาน
ในระหว่างการเดินทางในลาดักห์ Andries พักอยู่ในโรงเรียนและหมู่บ้านนิเวศวิทยา SECMOL ก่อตั้งขึ้นโดยวิศวกรนาม Sonam Wangchuk ผู้คิดค้น “เจดีย์น้ำแข็ง” นวัตกรรมใหม่ในผลิตแหล่งน้ำให้เพียงพอแก่บรรดาเกษตกร จากการต่อท่อลำน้ำบนภูเขา และปล่อยให้มันพุ่งขึ้นและแข็งตัวจนเป็นรูปทรงเจดีย์ ด้วยรูปทรงนี้ช่วยให้ผิวสัมผัสของน้ำแข็งละลายจากแสงอาทิตย์น้อยกว่า ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับน้ำเพียงพอ
ที่ลาดักห์ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะพบกับธงมนตร์อยู่เสมอ พวกเขามีความเชื่อว่าสายลมจะช่วยพัดพาคลื่นคำอธิษฐานจากหมู่บ้านอันเงียบสงบให้ขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ Andries เล่าว่าตัวเขาได้แรงบันดาลใจมากมายจากดินแดนแห่งนี้ “และภาพถ่ายของผมจะแสดงให้เห็นว่าสวรรค์บนโลกเป็นอย่างไร”
เรื่อง Christine Blau
ภาพถ่าย Yuri Andries
อ่านเพิ่มเติม