ค้างคาว: นักล่าแห่งรัตติกาล
เหล่าค้างคาวเกาะห้อยอยู่กับเพดานหินเย็นเยียบของวิหารมายาโบราณ แลดูเหมือนยวงผลไม้สีเทามีขนปุกปุย พวกมันจ้องมองลงมาที่พวกเราด้วยดวงตาเรืองประกายสีทองท่ามกลางแสงเรื่อแดงจากไฟฉายคาดศีรษะของเรา
ค้างคาวเขี้ยวยาวที่กำลังหิวโหยเหล่านี้มีใบหูที่เกือบจะโปร่งใสเหมือนหูกระต่าย และใบหน้ายู่ย่นละม้ายหมาป่า ด้านบนจมูกมี “แผ่นจมูก” (nose leaf) รูปหอก อันเป็นอวัยวะที่พวกมันใช้เพื่อการระบุตำแหน่งจากคลื่นเสียง (echolocation)
ค้างคาวเร้นลับเหล่านี้ซึ่งพบในบริเวณที่อยู่ถัดออกมาจากเขตสงวนชีวมณฑลคาลักมุลในคาบสมุทรยูกาตานไม่เกาะนอนรวมกันเป็นพันๆ ตัวเหมือนอย่างค้างคาวอื่นๆ บางชนิด โรดริโก เมเดยิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบินได้ระดับหัวแถวของประเทศ อธิบายว่า “พวกมันอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบนี้เสมอ และเป็นค้างคาวที่ปกป้องกันและกันมากด้วยครับ”
เมเดยินเหวี่ยงสวิงจับผีเสื้อไปที่ค้างคาวตัวหนึ่งในกลุ่มที่มีอยู่หกตัวและดักมันไว้ได้ เขาจับเจ้าค้างคาวไว้ด้วยมือที่สวมถุงมือหนัง เพื่อให้เราสำรวจขนดกหนาปุกปุยซึ่งทำให้มันแลดูน่าเอ็นดู รวมทั้งให้ดูจมูกที่ยื่นยาวออกมากับฟันซี่แหลมคมซึ่งเป็นทุกอย่างที่ตรงข้าม เจ้าตัวนี้เป็นเพศเมีย มันอ้าปากแยกเขี้ยวใส่เราเป็นการขัดขืนต่อต้าน เมเดยินค่อยๆ ดึงปีกข้างหนึ่งให้แผ่ออก แล้วชี้ให้ดูนิ้วโป้งที่ผุดโค้งออกมาจากขอบปีก นิ้วที่ว่านี้มีอาวุธเป็นกรงเล็บขนาดใหญ่เด่นชัด รูปทรงเหมือนดาบโค้งและคมกริบพอกัน
“นี่ละครับที่พวกมันใช้ล็อกเหยื่อ” เขาบอก ดูจากขนาดอาวุธก็รู้ได้ว่า นักล่าแห่งรัตติกาลเหล่านี้ไม่ได้ใช้มันฟาดฟันมดแมลง แต่ใช้ล่าสัตว์จำพวกฟันแทะ พวกนกจับคอน และกระทั่งค้างคาวด้วยกันเอง
เหล่าค้างคาวกินเนื้อซึ่งเรียกขานโดยรวมว่า ค้างคาวแวมไพร์แปลง (false vampire bat) เพราะไม่ได้ดูดเลือดสัตว์อย่างที่พวกค้างคาวแวมไพร์แท้ทำกัน พบได้ในทุกภูมิภาคเขตร้อน แต่มีจำนวนน้อยนิด ค้างคาวที่กินสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ มีไม่ถึงร้อยละหนึ่งของค้างคาวทุกชนิดรวมกัน
มีค้างคาวสองชนิดที่พบได้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของเม็กซิโกไปจนถึงโบลิเวียและบราซิล ชนิดหนึ่งในนั้นคือค้างคาวแวมไพร์แปลงขนปุยหรือค้างคาวแวมไพร์แปลงขนปุย (woolly false vampire bat –ที่พบในวิหารมายา) และค้างคาวสเปกตรัล (spectral bat) ชนิดหลังถือเป็นค้างคาวโลกใหม่พบในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ มีขนาดใหญ่ที่สุด บางตัวมีปีกแผ่กว้างถึงหนึ่งเมตร ภัยคุกคามต่อแหล่งอาศัยเขตป่าดิบชื้นกำลังสร้างแรงกดดันต่อเหล่าค้างคาวในเม็กซิโก และยิ่งเพิ่มความเร่งด่วนในความพยายามที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของพวกมัน
เรายังมีความรู้เกี่ยวกับค้างคาวแวมไพร์แปลงขนปุยกันน้อยมาก เมเดยินจึงจับทั้งหกตัวออกมานอกวิหาร โดยใส่ไว้ในถุงผ้าฝ้ายสีขาวเพื่อชั่งน้ำหนักและวัดขนาด สี่ตัวเป็นเพศผู้ สองตัวเป็นเพศเมีย ตัวหนึ่งกำลังท้องอยู่ นักวิจัยเจาะเอาตัวอย่างผิวหนังชิ้นจิ๋วๆ ชิ้นหนึ่งจากปีกข้างหนึ่งของค้างคาวแต่ละตัว และส่งไปยังห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ทางพันธุกรรม เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ในหมู่ค้างคาวพวกนี้ เครื่องติดตามด้วยระบบจีพีเอสขนาดเล็กถูกติดไว้กับหลังของค้างคาวสามตัวในกลุ่ม (ในจำนวนนี้มีตัวเมียที่กำลังท้องรวมอยู่ด้วย) เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่าของพวกมัน
“ดูนี่สิครับ” เมเดยินกล่าวขณะดึงค้างคาวเพศผู้ตัวหนึ่งออกมาจากถุง แล้วจับมันพลิกหงายท้อง “พวกตัวผู้จะมีอัณฑะขนาดจิ๋ว ซึ่งสัมพันธ์กับการจับคู่ผสมพันธุ์ตัวเดียว เป็นไปได้ว่าค้างค้าวสองตัวจากเพศผู้พวกนี้เป็นคู่ของพวกเพศเมีย ส่วนค้างคาวเพศผู้อีกสองตัวเป็นลูกของพวกมันที่เกิดในปีที่แล้ว และกำลังเข้าสู่วัยพึ่งพาตัวเอง” เขาอธิบาย เพศเมียตัวหนึ่งอยู่ในช่วงให้นมลูกวัยสี่เดือน ส่วนท้องที่โป่งเต่งของเพศเมียอีกตัวที่ตั้งท้องอยู่ บ่งชี้ว่ามันกำลังจะตกลูกในอีกไม่นาน
บนพื้นภายในห้องค้างคาวมีซากที่ถูกกินไปแล้วส่วนหนึ่งของหนูกระเป๋าขนแหลม (spiny pocket mouse) “ดูนั่นสิครับ อาหารยังสดๆ อยู่เลย ดูท่าจะเป็นเหยื่อตัวสุดท้ายของคืนนี้” เมเดยินกล่าว “เราคิดว่าพวกมันกินเหยื่อบางส่วนข้างนอก พออิ่มแล้ว พวกมันจะเอาตัวสุดท้ายกลับมาที่รัง” เหยื่อที่นำกลับมานี้มักถูกส่งต่อให้กับค้างคาวที่อาจไม่สามารถออกไปล่าได้อย่างพวกแม่ๆ ที่ต้องอยู่เลี้ยงลูก “เราอยากรู้ว่ามันออกจากแหล่งเกาะนอนเวลาใด พวกมันไปไหน ใครหาอาหารมาเลี้ยงใคร และตัวไหนที่เดินทางไปด้วยกัน” เขาบอก จากมื้อค่ำ และอุจจาระที่พบในวิหาร “ดูสิครับ!” เมเดยินร้องออกมาอีกครั้ง ขณะชูซากเน่าเปื่อยร่างน้อยๆ ของหนูวัยเด็กตัวนั้น “น่าแปลกใจนะครับที่พวกมันไม่กินจนหมด เพราะปกติจะกินกันจนเกลี้ยงทุกอย่าง แม้แต่กระดูก เล็บตีน และก็หางด้วยนะบางที” นอกจากนี้พวกมันยังกินผีเสื้อสีเหลืองตัวหนึ่งโดยเว้นส่วนปีกไว้ จักจั่นตัวหนึ่ง นกอีกตัว “ปกติแล้วเราจะเจอซากปีกของค้างคาวชนิดอื่นด้วยครับ”
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเห็นค้างคาวเหล่านี้ล่าเหยื่อในธรรมชาติ แต่ก็พอรู้กลวิธีที่พวกมันใช้ เพราะเมเดยินจับค้างคาวแวมไพร์แปลงขนปุยเพศผู้สองตัวมาเลี้ยงไว้ในห้องพักโรงแรมของเขาเป็นเวลาสองอาทิตย์ และให้มันล่าหนูที่เขาปล่อยไว้ เขาโปรยใบไม้ไว้เพื่อให้หนูทำเสียงกรอบแกรบเมื่อเดินผ่าน ซึ่งค้างคาวจะตรวจจับได้ทันทีเมื่อมันหมุนใบหูขนาดยักษ์เหมือนจานดาวเทียมเพื่อเล็งเป้าเหยื่อ “เจ้าค้างคาวบินเข้าไปในกรงใบหนึ่ง แล้วก็เกาะห้อยจากด้านที่เป็นซี่ลูกกรงหรือคอนไม้” เมเดยินเล่า “มันเกาะนิ่งเงียบที่สุดตรงนั้น แต่ทันทีที่ได้ยินเสียงเบาที่สุดจากพวกหนู มันก็โฉบตะครุบเลย” ค้างคาวเป็นสัตว์ฝึกง่าย เขาเสริม มันเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่า เสียงเฉพาะเสียงหนึ่งจากโทรศัพท์มือถือของเขาหมายถึงว่ามันจวนจะโอกาสได้ล่าแล้ว เมเดยินสงสัยว่าค้างคาวขนปุยในธรรมชาติน่าจะเกาะห้อยอยู่กับลำต้นไม้ระหว่างล่าเหยื่อ และรอฟังเสียงฝีตีนของพวกสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลื้อยคลาน หรือเสียงปีกของค้างคาวตัวอื่น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ค้างคาวกินเนื้อเหล่านี้เป็นสัตว์ดุร้ายน่ากลัวสำหรับชาวมายา เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่มันเป็นสำหรับสรรพสัตว์ที่พวกมันล่า แต่เราก็เห็นด้านอ่อนโยนเปราะบางของพวกมัน ในยามที่พวกมันซุกอยู่รวมกันในแหล่งเกาะนอน สิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาด สัตว์มีปีกราวกับลูกผสมระหว่างหนูกับหมาป่า ผู้มีความอ่อนโยนรักใคร่ต่อเผ่าพันธุ์ของมันเฉกเช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ทั้งปวง
เรื่อง เวอร์จิเนีย มอแรลล์
ภาพถ่าย อานันด์ วาร์มา
อ่านเพิ่มเติม