การปรากฏตัวของพะยูนในไทยสร้างความหวังใหม่ให้เหล่านักอนุรักษ์

การปรากฏตัวของพะยูนในไทยสร้างความหวังใหม่ให้เหล่านักอนุรักษ์

พะยูน เคยเป็นสัตว์ที่คาดการณ์กันว่าจะสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปในไม่ช้า ในวันนี้ได้กลายเป็นสัตว์ที่พร้อมที่จะกลับมาอยู่คู่ท้องทะเลไทยอีกครั้ง จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของนักอนุรักษ์และชาวบ้านในชุมชน

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่หมู่เกาะลิบง จ. ตรัง (บ้านเกิดมาเรียม) แหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของประเทศไทย มีฝูงพะยูนกว่า 20 ตัวมารวมตัวกันหากินบริเวณแหล่งน้ำตื้น ซึ่งสร้างความตื่นเต้นต่อชาวบ้านและบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง

ที่มา https://web.facebook.com/prhotnews02/photos/a.742976939181128/2156111247867683/?type=3&_rdc=1&_rdr

เมื่อย้อนกลับไปราว 5 – 6 ปีที่แล้ว ในยามที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องทะเลยังมีทิศทางไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการประมงเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้สัตว์น้ำเจ้าถิ่นซึ่งเป็นตัววัดความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลอย่าง “พะยูน” ต้องอยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์ นักอนุรักษ์และหน่วยงานทางธรรมชาติจึงพยายามหาวิธีการเพื่อให้สัตว์สายพันธุ์นี้กลับมาอยู่คู่ท้องทะเลไทยอีกครั้ง

ความเข้าใจเรื่องพะยูนในเบื้องต้น

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีความยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร และมีน้ำหนักราว 230 – 500 กิโลกรัม กินพืชในน้ำเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่ง เราสามารถพบเจอพะยูนได้ในทะเลชายฝั่งเขตอบอุ่น ตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ซึ่งนั่นรวมถึงทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก

พะยูนมีบรรพบุรุษร่วมกับแมนนาที พวกมันมีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านลักษณะกายภาพภายนอกและพฤติกรรม และสัตว์ทั้งสองสายพันธุ์นี้ก็มีบรรพบุรุษร่วมกับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างช้าง ถึงแม้ว่าพวกมันจะไม่ได้มีลักษณะภายนอกและพฤติกรรมที่เหมือนกันก็ตาม

ด้วยความที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ พวกมันจึงต้องขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจทุก ๆ 6 นาที ในบางครั้ง พวกมันหายใจด้วยการ “ยืน” ด้วยหางและเอาหัวโผล่ขึ้นพ้นน้ำ

พะยูน, อนุรักษ์พะยูน, พะยูนไทย
พะยูนตัวหนึ่งกำลังเล็มหญ้าทะเลในทะเลของประเทศวานูอาตู โดยสัตว์สายพันธุ์นี้กลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทวีปออสเตรเลีย

การสืบพันธุ์ของพะยูน

พะยูนตัวเมียใช้ระยะเวลาตั้งท้องนานนับปี แม่พะยูนจะช่วยพาลูก ๆ ขึ้นไปบนผิวน้ำเพื่อหายใจเองเป็นครั้งแรก ลูกพะยูนเกิดใหม่จะต้องอยู่ในความดูแลของแม่ประมาณ 18 เดือน บางครั้งลูกพะยูนต้องอาศัยเกาะบนหลังของแม่เพื่อว่ายน้ำในท้องทะเล

ในด้านความเชื่อ มีตำนานเล่าขานว่าพะยูนเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเรื่องเล่าของคนโบราณอย่างนางเงือกด้วยเช่นกัน

สำหรับในประเทศไทยแต่เดิมนั้น พะยูนมีถิ่นอาศัยอยู่ทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่เดียว คือบริเวณแนวเขตพื้นที่หญ้าทะเลขนาดใหญ่ ในเกาะมุกและเกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และอาจเป็นไปได้ว่ายังพอมีเหลืออยู่แถบทะเลจังหวัดระยอง ประมาณ 10 ตัว (ข้อมูลเมื่อปี 2560)

เสียงที่หาฟังยากที่สุดในท้องทะเล

แม้ว่าพะยูนจะเป็นสัตว์ที่มีสายตาที่ไม่ดีนัก แต่ก็มีหูที่ไว เหล่าพะยูนจึงต้องใช้เสียงเพื่อการสื่อสาร แต่ทว่าเสียงของเรือที่แล่นอยู่ในทะเลย่อมรบกวนความสามารถในการค้นหาซึ่งกันและกัน เราจึงไม่อาจได้ยินพวกมันสื่อสารกันบ่อยนัก การได้ยินเสียงของพะยูนจึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเหล่านักสำรวจมากทีเดียว

(รับชมวิดีโอพะยูนที่กำลังส่งเสียงในทะเล)

เพราะพะยูนเป็นสัตว์ที่เรารับประทานได้จึงถูกล่า

แม้จะเป็นสัตว์ที่เราพบเจอไม่บ่อยนักในท้องทะเล อีกทั้งพะยูนยังมีลักษณะภายนอกที่ดูน่าเกรงขามเมื่อพิจารณาจากขนาดตัวที่หนาและหนัก (ที่บางท่านอาจมองว่ามันน่ารัก) แต่มนุษย์ก็นิยมล่ามันเพื่อนำเนื้อมาบริโภค โดยเนื้อพะยูนนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น แกง ผัด ทอด เนื้อแดดเดียว และเนื้อเค็ม โดยมีรสชาติคล้ายเนื้อหมู หนังพะยูนใช้ทำเครื่องหนัง กระดูกพะยูนนำไปใช้เครื่องราง และส่วนอื่น ๆ ที่เหลือ เชื่อกันว่าสามารถทำเป็นยารักษาโรคได้ อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์รู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากพะยูนได้ทุกส่วน และเป็นสัตว์ทะเลที่ให้กำไรงามกับชาวประมงเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์จะพากันล่าพะยูนในท้องทะเลจนมันร่อยหรอลงไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบนิเวศของทะเลที่เปลี่ยนไปจนส่งผลให้หญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของมันลดน้อยลง หรือแม้กระทั่งการที่พะยูนไปเข้าไปติดในอวนลากของชาวประมงโดยบังเอิญ

อนึ่ง พะยูนเป็นสัตว์ที่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ปิด เพราะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างอ่อนแอและเลี้ยงได้ยาก ดังนั้นการเพาะเลี้ยงในปัจจุบันจึงทำโดยหน่วยงานอนุรักษ์ที่มีความความชำนาญเท่านั้น การเพาะพันธุ์พะยูนโดยชาวบ้านเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

กฎหมายที่ใช้ปกป้องพะยูน

ในความเป็นจริง ประเทศไทยได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องพะยูนมานานแล้ว พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในปี พ.ศ. 2535 และตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) พะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับ 86 ของบัญชีไซเตส จึงเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น

สำหรับในระดับโลก สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดอันดับให้พะยูนอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย (Vulnerable – VU) อันมีความหมายว่ามีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ไปแบบไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าไร้ซึ่งการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมนุษย์

ในปี 2556 ประเทศไทยมีผลสำรวจพบว่าพะยูนที่ทะเลตรังเหลืออยู่เพียงแค่ 110 – 125 ตัว โดยสาเหตุหลักที่ทำให้มันลดลงเนื่องจากผลกระทบจากเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย และพื้นที่หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งหากินของพะยูนในจังหวัดตรังลดลงเหลือประมาณ 7,000 กว่าไร่ จาก 12,000 ไร่ จากการสำรวจในปี 2555 ในขณะนั้นจึงมีคาดการณ์กันว่าถ้าปล่อยให้พะยูนตายด้วยอุบัติเหตุเครื่องมือประมงราวปีละ 12 ตัว จะทำให้พะยูนสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังภายใน 16 ปี

พะยูน, พะยูนไทย. พะยูนตรัง
เราสามารถพบเจอพะยูนชนิดนี้ได้ในประเทศไทย

ความหวังใหม่ของพะยูนแห่งท้องทะเลไทย

แน่นอนว่าเหล่าบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติย่อมไม่ปล่อยให้สัตว์น่ารักที่อยู่คู่ท้องทะเลไทยต้องสูญพันธุ์ไป นับตั้งแต่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานทางปกครองในพื้นที่ ได้ร่วมมือกันเพื่อหาทางเพาะพันธุ์และฟื้นฟูปริมาณพะยูนในธรรมชาติให้มีมากขึ้น รวมถึงรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน

ความพยายามอย่างต่อเนื่องของพวกเขาเริ่มผลิดอกออกผล โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการสำรวจประชากรพะยูนในทะเลตรังอีกครั้ง ค้นพบว่า มีพะยูนคู่แม่ลูก 42 คู่ ซึ่งเป็นข้อมูลยืนยันว่ามีพะยูนมากกว่า 210 ตัว และถ้ามนุษย์ไม่ล่ามันเพิ่มเติม ก็เชื่อว่าในปี 2562 พะยูนจะเพิ่มขึ้นอีกราว 250 ตัว นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลปี 2560 ซึ่งพบว่ามีพะยูนประมาณ 169 ตัวมาเปรียบเทียบ ก็พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรพะยูนอย่างน่าดีใจ

สาเหตุที่ประชากรพะยูนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากความพยายามจากนักอนุรักษ์แล้ว ปัจจัยที่สำคัญคือความร่วมมือของชุมชนประมงที่ไม่ใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เป็นแหล่งอาหารของพะยูนอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดเป็นความหวังว่าพะยูนจะยังเป็นสัตว์สัญลักษณ์คู่จังหวัดตรังและประเทศไทยต่อไป

แหล่งอ้างอิง

Dugong

สำรวจ “พะยูน” ทะเลตรัง พบจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น

พบฝูงพะยูนทะเลตรังเพิ่มกว่า 42 คู่ ชี้หากเลิกล่าปีหน้ามากขึ้นอีก!

พะยูนตายเพิ่มอีก คาดเหตุเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

วิกฤต “พะยูน” ทะเลตรัง อาจใกล้สูญพันธุ์ใน 16 ปี

สถานภาพของพะยูนในประเทศไทย

สุดตื่นเต้น! เสียงร้องพะยูน ใช้สื่อสารกับฝูง

องค์ความรู้เกี่ยวกับพะยูน


อ่านเพิ่มเติม สัตว์มหัศจรรย์เหล่านี้สูญพันธุ์เพราะมนุษย์

Recommend