ผู้อพยพ : มหากาพย์เดินเท้าย้อนรอยบรรพชน

ผู้อพยพ : มหากาพย์เดินเท้าย้อนรอยบรรพชน

ผู้อพยพ : มหากาพย์เดินเท้าย้อนรอยบรรพชน

เป็นเวลากือบเจ็ดปีแล้วที่ผมเดินเคียงคู่ไปกับ ผู้อพยพ  ย้อนหลังไปในฤดูหนาวปี 2013 ผมออกเดินทางจาก      แหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ของ โฮโม เซเปียนส์  ที่เรียกว่า แอร์โตบูรี ทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย  และเริ่มเดินเท้าย้อนรอยการเดินทางอันเป็นหมุดหมายของมนุษยชาติ ซึ่งก็คือการสร้างอาณานิคมบนโลกครั้งแรกของเราในยุคหิน การเดินทางไกลของผมเป็นเรื่องของการบอกเล่าเรื่องราว  ผมรายงานสิ่งที่พบเห็นระหว่างก้าวไปตามเส้นทางการค้นพบโลกครั้งแรกเริ่มของเรา  นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า สปีชีส์ของเราเริ่มก้าวออกจากแอฟริกาเมื่อราว 60,000 ปีก่อน จากนั้นก็เร่ร่อน ส่วนใหญ่อย่างไร้จุดหมาย ไปจนถึงปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ในที่สุด  ซึ่งจะเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของผมด้วยเช่นกัน ในอดีตเราเป็นพวกเร่ร่อนล่าสัตว์เก็บของป่า ไม่มีการขีดเขียน ไร้สิ่งประดิษฐ์อย่างวงล้อ  การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง และการทำเกษตร จุดหมายปลายทางยังไม่มีใครกำหนด และที่ผ่านมา ผมเดินตามรอยของนักผจญภัยผู้ถูกลืมเหล่านี้มาแล้วกว่า 16,000 กิโลเมตร

วันนี้ผมกำลังเดินตัดข้ามแผ่นดินอินเดีย

ชีวิตสมัยใหม่ของเราซึ่งผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ติดบ้าน เปลี่ยนไปจนแทบไม่มีอะไรจดจำได้ นับตั้งแต่ยุคทอง  ของการสำรวจโลกด้วยเท้าอย่างเสรีครั้งนั้น

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ผู้อพยพ
ผู้อพยพในจะงอยแอฟริกามารวมตัวกันในความมืดบนหาดคอร์ลีย์ในเมืองจิบูตี พวกเขาซื้อบัตรข้อมูลจากตลาดมืดมาใช้ในโทรศัพท์ โดยหวังว่าจะจับสัญญาณมือถือจากประเทศโซมาเลียที่อยู่ติดกันได้ เพื่อติดต่อพูดคุยกับครอบครัวที่จากมา
ผู้อพยพ
เมฆฝนตั้งเค้าเหนือค่ายนิซิป 1 ที่ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกว่า 30,000 คนอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่จัดให้โดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ภาครัฐของตุรกี ในเต็นท์แต่ละหลังมีครัวเล็กๆ ที่นอน และทีวีหนึ่งเครื่อง ผู้ลี้ภัยใช้ห้องน้ำและห้องอาบน้ำส่วนรวม

องค์การสหประชาชาติประเมินว่า ผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคน หรือหนึ่งในเจ็ดของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน กำลังอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศของตนเอง หรือข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ผู้คนนับล้านหนีตายจากความรุนแรง ทั้งสงคราม การกดขี่บีฑา อาชญากรรม และความระส่ำระสายทางการเมือง  และมีอีกมากที่ถูกบีบคั้นจากความยากจนข้นแค้น กำลังมองหาทางออกทางเศรษฐกิจที่อยู่ไกลเลยขอบฟ้าออกไป   มูลเหตุแห่งการอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาลระลอกใหม่นี้  มีตั้งแต่ระบบการตลาดที่ผันสู่ระดับโลก ส่งผลให้โครงข่ายธุรกิจท้องถิ่นที่เคยเลี้ยงปากท้องผู้คนมาช้านานพังทลายลง  สภาพภูมิอากาศที่ผิดเพี้ยนไปเพราะมลพิษ  ไปจนถึงความปรารถนาอยากได้ของมนุษย์ที่แรงกล้าขึ้นเพราะสื่อสังคมออนไลน์  หากวัดจากจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งหมด นี่คือปรากฏการณ์พลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของสปีชีส์เรา

ผมเดินเท้าท่องโลกเฉลี่ย 25 กิโลเมตรต่อวัน ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนไร้รากอยู่เนืองๆ

ในจิบูตี ผมจิบชาเครื่องเทศกับผู้อพยพตามจุดพักรถบรรทุกซอมซ่อ นอนเคียงข้างพวกเขาในเต็นท์ผู้ลี้ภัย       เปื้อนฝุ่นของสหประชาชาติในจอร์แดน รับฟังเรื่องราวความเจ็บปวดของพวกเขา  แลกเปลี่ยนเรื่องขำขันชวนหัวกับพวกเขา แน่นอน ผมไม่ได้เป็นหนึ่งในพวกเขา ผมเป็นนักเดินเท้าผู้มีอภิสิทธิ์ ในเป้ของผมมีทั้งบัตรเอทีเอ็มและหนังสือเดินทาง แต่ผมเคยร่วมทรมานเพราะโรคบิดกับพวกเขา เคยถูกกักตัวหลายครั้งในหลายประเทศโดยตำรวจผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมาของพวกเขา

ความหิวโหย ความทะเยอทะยาน ความกลัว การต่อต้านแข็งขืนทางการเมือง เหตุผลต่างๆ นานาที่ก่อให้การเคลื่อนย้ายเหล่านี้หาใช่คำถามที่แท้จริง  ที่สำคัญกว่านั้นคือการตระหนักรู้ว่า การเดินทางเหล่านี้ในตัวมันเองได้ก่อให้เกิดมนุษย์ชนชั้นใหม่ที่ต่างออกไปอย่างไร  ซึ่งหมายถึงผู้คนที่คำว่า “บ้าน” ในความคิดของพวกเขาตอนนี้มีถนนกลางแจ้งรวมอยู่ด้วย เราจะอ้าแขนรับคลื่นมนุษย์เหล่านี้ หรือจะก่อกำแพงขวางกั้นไว้  ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเช่นกัน  เพราะไม่ว่าคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะเห็นใจหรือหวาดกลัว คลื่นการเคลื่อนที่ลูกใหม่ของมนุษยชาติครั้งนี้ได้เปลี่ยนคุณไปแล้ว

ผู้อพยพ
พอล ซาโลเพก (คนซ้าย) กับมัคคุเทศก์ของเขา อะห์เหม็ด เอเลมา เริ่มต้นวันที่สองของมหากาพย์การเดินเท้าท่องโลกของผู้เขียนที่หมู่บ้านแอร์โตบูรี จุดที่เชื่อกันว่าผู้คนซึ่งมีลักษณะทางกายวิภาคของมนุษย์สมัยใหม่กลุ่มแรก ละทิ้งถิ่นฐานอันคุ้นเคยในแอฟริกาออกไปสำรวจโลกที่ไม่เคยรู้จัก

ผลการศึกษาโดยธนาคารโลกเมื่อไม่นานมานี้ประเมินว่า  เมื่อล่วงถึงปี 2050 อาจมีผู้คนกว่า 140 ล้านคนในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา เอเชียใต้ และลาตินอเมริกา ถูกผลักดันให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพราะผลกระทบระดับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศสิบล้านคนอาจไหลบ่าท่วมเส้นทางอพยพเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกเพียงแห่งเดียว  ส่วนในเอธิโอเปีย กระแส ผู้อพยพ ย้ายถิ่นอาจมีจำนวนสูงถึง 1.5 ล้านคน หรือมากกว่า 15 เท่าของจำนวนผู้อพยพที่เดินทางผ่านสามเหลี่ยมอะฟาร์ระหว่างมุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลางในแต่ละปี

ขณะคืบหน้าขึ้นเหนือไปทีละน้อยในหุบเขาเกรตริฟต์  ผมถูกบีบให้จำต้องทบทวนถึงความต้องการอันแรงกล้าที่จะทิ้งโลกอันคุ้นเคยที่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ บ้านที่แม้กระทั่งดวงตะวันก็ยังเป็นปฏิปักษ์กับคุณ ทุกหนแห่งรอบตัวผมคือแนวรบล่องหนของสงครามแย่งชิงทุ่งหญ้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างชาวอะฟาร์และอิสซา ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์สองกลุ่มซึ่งเป็นคู่แข่งกัน  บ่อน้ำตื้นเขินในพื้นที่ของพวกเขากำลังแห้งขอด  ทุ่งหญ้าก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ จากวงจรภัยแล้งไม่มีที่สิ้นสุด  พวกเขายิงกันตายด้วยสาเหตุเล็กน้อยเพียงเพื่ออยู่รอด  นี่คือที่มาของเรื่องราวการเดินทางอันเก่าแก่ที่สุดของเรา  ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงและทุพภิกขภัยขั้นล้มตายน่าจะเป็นสาเหตุผลักดันให้มนุษย์อพยพออกจากแอฟริกาเป็นครั้งแรก

แรงขับที่จะย้ายถิ่นฐานจะต้องรุนแรงเพียงใด แค่ไหนคุณจึงยอมละทิ้งสิ่งที่คุณรัก เพื่อเดินไปสู่ดินแดนที่คุณไม่รู้จัก พร้อมสมบัติติดตัวเพียงกระเป๋าใบเดียว คำตอบคือ แรงขับนั้นต้องทรงพลังยิ่งกว่าความกลัวความตาย

ผู้อพยพ
ผู้ลี้ภัยที่หนีตายจากบ้านเมืองในซีเรีย หลังการต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2011 ตระเวนไปทั่วจอร์แดนเพื่อหางานที่ไหนก็ได้ที่ทำได้ ในภาพนี้ พวกเขารับจ้างเก็บมะเขือเทศในหมู่บ้านโกเวรา ติดกับทางเหนือของเมืองอะกาบา

การเดินเท้าข้ามทวีป สอนให้คุณรู้จักมองลงไปที่พื้นดิน คุณจะซาบซึ้งถึงความสำคัญของเท้า คุณจะใส่ใจเรื่องรองเท้า มันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ

คนเราเลือกรองเท้าแบบไหน (หรือกระทั่งการไม่สวมรองเท้า) สะท้อนถึงภูมิศาสตร์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น ความร่ำรวยหรือยากจน อายุ ประเภทงานที่ทำ การศึกษา เพศสภาพ เป็นคนเมืองหรือคนบ้านนอก ผู้อพยพจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่คนยากจนนับล้านที่มีเวลาวางแผนล่วงหน้า ดูเหมือนจะชมชอบรองเท้าคนจนยุคศตวรรษที่ 21 นั่นคือรองเท้าผ้าใบราคาถูกจากจีนที่ใส่ได้ทุกเพศทุกโอกาส  ส่วนผู้ลี้ภัยสงครามที่หนีจากความรุนแรงนั้นตรงกันข้าม  คนเหล่านี้จำเป็นต้องย่ำเดินไปบนถนนอันยับเยินของบ้านเมืองตนด้วยรองเท้าแตะยาง รองเท้าคัตชู รองเท้าเปลือยส้นเปื้อนฝุ่น รองเท้าส้นสูง หรือกระทั่งรองเท้าบู๊ตดัดแปลงจากผ้าขี้ริ้ว พวกเขาต้องหนีจากเมืองที่กำลังลุกไหม้วอดวาย ต้องทิ้งหมู่บ้านและไร่นา พวกเขาหยิบฉวยรองเท้าอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือที่สุดในเวลาคับขัน ผมเห็น กองรองเท้าสารพัดรูปแบบเช่นนี้ครั้งแรกที่หน้าเต็นท์ผู้ลี้ภัยในเขตที่สูงของจอร์แดน

ผมเดินจากเต็นท์เปื้อนฝุ่นหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่งในจอร์แดนอยู่หลายอาทิตย์  ชาวซีเรียอย่างน้อยครึ่งล้านคนตกค้างอยู่ที่นั่น และทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวอันเจ็บปวดของประชาชนชาวซีเรียราว 12 ล้านคนที่แตกฉานซ่านเซ็นเพราะสงครามกลางเมืองอันนองเลือดที่สุดในตะวันออกกลาง  สงครามปล้นทั้งอดีตและอนาคตไปจากคุณ ชาวซีเรียเหล่านี้ไม่สามารถย้อนกลับไปอยู่ท่ามกลางกองซากปรักของบ้านเมืองตนที่ถูกช่วงชิง  ไม่ว่าจะในอิดลิบ ฮามะห์ หรือดามัสกัส  ใครอื่นก็ไม่ต้องการพวกเขา พวกเขาไปไหนไม่ได้  สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ให้ครอบครองคือ ปัจจุบันอันน่าหดหู่

หลายคนตรากตรำทำงานเป็นแรงงานผิดกฎหมายตามไร่นา

พวกเขาไม่ได้เป็นเหยื่อที่ถูกวาดภาพให้ดูไร้เดียงสา และยิ่งไม่เหมือนผู้รุกรานที่มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว… ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของโลกไม่ได้เรียกร้องให้เราเวทนาสงสาร พวกเขาแค่ขอให้เราเห็นพวกเขา

พวกเขาต่อลมหายใจได้อีกเฮือกด้วยการเก็บมะเขือเทศแลกกับค่าแรงวันละ 11 ดอลลาร์ พวกเขาโบกมือเรียกให้ผมเข้าไปร่วมวง ยกพืชผลของนายจ้างให้ผมกิน เทชาผสมเครื่องเทศให้ผมดื่มอย่างไม่อั้น สะบัดผ้าห่มทั้งเปรอะเปื้อนและเหม็นอับ แล้วเชื้อเชิญให้ผมนั่งพักก่อน

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ ไม่ว่าผู้ลี้ภัยจะเป็นอะไรอื่นในสายตาใคร ที่แน่ๆ พวกเขาไม่สิ้นไร้พลังใจ

ผู้อพยพ
พวกผู้ชายที่ขับรถจากบ้านในอุซเบกิสถานไปหางานทำในรัสเซีย แวะจอดระหว่างทางเพื่อสวดภาวนาต่อดาอุด-โอตา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะตามประเพณีในฐานะผู้อุปถัมภ์และผู้พิทักษ์ ร่างของเขาฝังอยู่ในนครสุสานในละแวกนั้น

พวกเขาไม่ได้เป็นเหยื่อที่ถูกวาดภาพให้ดูไร้เดียงสา เช่นที่มักปรากฏในสื่อเร้าอารมณ์ของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย และยิ่งไม่เหมือนผู้รุกรานที่กลุ่มเหยียดความต่างและนักประชานิยมฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว นั่นคือ  ภาพฝูงชนคนเถื่อนที่จะเข้ามายึดงาน ที่อยู่อาศัย บริการทางสังคม อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา และทุกสิ่งที่สำคัญและดีงามในประเทศเจ้าบ้านผู้มั่งคั่ง

“เชิญทางนี้ค่ะคุณ”  ครูชาวซีเรียกล่าวเบาๆ ในภาษาตุรกี ขณะเดินนำออกจากห้องเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยไปสู่ที่โล่งข้างนอก นักเรียนของเธอวาดภาพการตัดหัวและแขวนคอเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดด้วยศิลปะ เธอห่วงใยความรู้สึก ของผม เพราะเห็นผมเงียบไป

ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของโลกไม่ได้เรียกร้องให้เราเวทนาสงสาร พวกเขาแค่ขอให้เราเห็นพวกเขา ผมต่างหากที่พวกเขาเวทนาสงสาร เพราะผมยังต้องเดินต่อไป

เรื่อง พอล ซาโลเพก

ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์

* อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2562


สารคดีแนะนำ

ฟลายฟิชชิ่ง : เมื่อช่างภาพพบความสุขสงบจากสายน้ำ

Recommend