อาร์โทรโพดา (Arthropoda)

อาร์โทรโพดา (Arthropoda)

สัตว์ขาข้อ หรือ อาร์โทรโพดา จัดเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์มากที่สุดในโลก

อาร์โทรโพดา (Arthropoda) คือหนึ่งในเก้าหมวด หรือไฟลัม (Phylum) ของอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) โดยสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา คือกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate) ที่ถูกเรียกรวมกันว่า สัตว์ขาข้อ (Arthropod) เช่น แมงดาทะเล แมงมุม เห็บ กุ้ง ปู กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงต่าง ๆ ซึ่งไฟลัมอาร์โทรโพดายังเป็นกลุ่มของสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์สูงสุดในโลก จากความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกได้อย่างยอดเยี่ยม และในปัจจุบันมีการค้นพบสัตว์ขาข้อเหล่านี้มากกว่า 1.2 ล้านชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ทั้งหมด

คำว่า “อาร์โทร” (Arthron) แปลว่า “ข้อต่อ” และ “พอโดส” (Podos) แปลว่า “เท้า” ในภาษากรีก

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัม อาร์โทรโพดา 

มีรูปร่างสมมาตรแบบครึ่งซีกหรือสมมาตรแบบซ้ายขวา (Bilateral symmetry)  

มีลำตัวเป็นข้อปล้อง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน : คือ หัว (Head) อก (Thorax) และท้อง (Abdomen) มีรยางค์หรือขาที่เป็นข้อ ซึ่งถูกใช้ประโยชน์อย่างจำเพาะในหลากหลายด้าน เช่น ใช้ในการเคลื่อนที่ ล่าเหยื่อ รับความรู้สึก ผสมพันธุ์ และป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ 

มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ครบทั้ง 3 ชั้น และมีระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่สมบูรณ์เป็นบางส่วน

  • มีระบบหมุนเวียนโลหิตแบบเปิด (Open Circulatory System) ซึ่งเลือดจะไหลจากหัวใจเทียม (Pseudo-heart) เข้าสู่ช่องว่างในลำตัว หรือ “แอ่งเลือด” (Hemocoel) ก่อนไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีกครั้ง ส่งผลให้เลือดไม่ได้ไหลอยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดตลอดเวลา นอกจากนี้ เลือดของสัตว์ขาข้อมีสีฟ้าอ่อนหรือไม่มีสี จากสารเฮโมไซยานิน (Hemocyanin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักภายในเลือด
  • มีระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์ คือ มีทั้งปากและทวารหนัก
  • มีอวัยวะที่ใช้ในการหายใจหลายชนิดตามสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น สัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกจะมีระบบท่อลม (Tracheal system) หรือแผงปอด (Book lungs) ซึ่งนำออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่เซลล์ของร่างกายโดยตรง ขณะที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำจะมีเหงือก (Gill) เป็นอวัยวะในการแลกเปลี่ยนก๊าซ เป็นต้น
  • มีระบบขับถ่ายเป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละกลุ่ม เช่น แมลงจะมีท่อมัลพิเกียน (Malpighian tubule) ที่ต่อจากท่อทางเดินอาหารเป็นอวัยวะขับถ่าย หรือกุ้งจะมีอวัยวะขับถ่ายที่เรียกว่า “ต่อมเขียว” (Green gland) 1 คู่ อยู่บริเวณฐานของหนวดทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย เป็นต้น
  • มีระบบประสาทและอวัยวะรับสัมผัสที่เจริญแล้ว คือมีศูนย์รวมระบบประสาทอยู่ที่ส่วนหัว ซึ่งประกอบด้วยปมประสาท 1 คู่ และมีเส้นประสาทบริเวณท้อง (Ventral Nerve Cord) ทอดไปตามความยาวของลำตัวอีก 1 คู่ อีกทั้ง ยังมีอวัยวะรับสัมผัสที่พัฒนาขึ้น เช่น ดวงตา หนวด และขาสัมผัส เป็นต้น

มีโครงร่างแข็งภายนอก (Exoskeleton) : เป็นสารจำพวกไคติน (Chitin) และโปรตีน ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดในไฟลัมนี้ มีการลอกคราบ (Molting) ระหว่างการเจริญเติบโต

มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ : คือแยกเพศผู้และเพศเมียอย่างชัดเจน และมีการปฏิสนธิภายใน นอกจากนี้ สัตว์บางชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า “เมตามอร์โฟซิส” (Metamorphosis)

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา  สามารถแบ่งออกเป็น 6 หมวดชั้น (Class)

ครัสตาเซีย (Crustacea) คือ กลุ่มของกุ้ง กั้ง ปู และเพรียงหิน ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทะเล แหล่งน้ำจืดหรือน้ำกร่อย มีส่วนหัวเชื่อมกับส่วนอก (Cephalothorax) มีหนวด 2 คู่ มีขาเดิน 5 คู่ หรือมากกว่า ส่วนท้องมีรยางค์สำหรับว่ายน้ำหรือเป็นที่เกาะของไข่

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

เมอโรสโตมาตา (Merostomata) คือ กลุ่มของแมงดาทะเล เช่น แมงดาทะเล แมงดาถ้วย หรือ แมงดาทะเลหางกลม และแมงดาจาน เป็นต้น มีส่วนของหัวเชื่อมกับส่วนอก มีขา 5 คู่

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

อะแรคนิดา (Arachnida) เป็นกลุ่มของสัตว์บก มีอยู่ราว 60,000 ชนิด ไม่มีหนวด มีขา 4 คู่ มีส่วนของหัวเชื่อมกับส่วนอก ไม่มีหนวด เช่น แมงมุม แมงป่อง และเห็บ เป็นต้น 

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

อินเซคตา (Insecta) เป็นกลุ่มของแมลง ซึ่งมีจำนวนชนิดพันธุ์มากที่สุดหรือราว 1 ล้านชนิด ได้แก่ ยุง แมลงวัน ผึ้ง ต่อ ผีเสื้อ และแมลงปอ เป็นต้น สัตว์ในกลุ่มนี้ มีหนวด 1 คู่ มีขา 3 คู่ มีส่วนของลำตัวแยกออกชัดเจนเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน และส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญเติบโต

ไดโพลโพดา (Diplopoda) คือ กลุ่มของสัตว์ที่ถูกเรียกว่า “มิลลิพิด” (Millipede) จากการมีขาจำนวนมาก อย่างเช่น กิ้งกือและกระสุนพระอินทร์ ซึ่งบริเวณลำตัวที่มีลักษณะเรียบลื่นจะประกอบไปด้วยปล้องจำนวนมาก (ตั้งแต่ 25 ไปจนถึง 100 ปล้อง) และแต่ละปล้องจะมีรยางค์ 2 คู่ บริเวณส่วนหัวประกอบด้วยหนวด 1 คู่ เป็นสัตว์กินพืชหรือซากพืช มีอยู่ราว 7,500 ชนิด

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

ชิโลโพดา (Chilipoda) คือ กลุ่มของตะขาบ (Centipede) มีหนวด 1 คู่ บริเวณหัว ซึ่งบริเวณลำตัวที่มีลักษณะแบนจะประกอบไปด้วยปล้องจำนวนมาก และแต่ละปล้องจะมีรยางค์ 1 คู่ ยกเว้นปล้องแรกและปล้องสุดท้าย ซึ่งรยางค์ของปล้องแรกสุดถูกพัฒนาไปเป็นเขี้ยวพิษ 1 คู่ เป็นกลุ่มของสัตว์กินเนื้อที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว

อาร์โทรโพดา, แมลง, การจำแนกสิ่งมีชีวิต, อนุกรมวิธาน, สัตว์ขาข้อ

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7035-animal-kingdom-invertebrate

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์http://www.mwit.ac.th/~deardean/link/All%20Course/biodiver/biodivpdf/diver_animalia2_2.pdf 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์http://pirun.ku.ac.th/~fscibtb/download/Arthropoda_Lecture.pdf

มหาวิทยาลัยบูรพาhttps://www.academia.edu/39513928/อาณาจักรสัตว_Kingdom_Animalia


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: นักล่าน้ำผึ้งคนสุดท้าย

เมาลิ ธัน ปีนบันไดเชือกสูงกว่า 30 เมตรไปยังรางวัลที่รออยู่ นั่นคือรังผึ้งอุดมไปด้วยน้ำผึ้งเมาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ควันจากหญ้าแห้งติดไฟทำให้ผึ้งสับสนและอาจช่วยให้เมาลิถูกผึ้งต่อยน้อยลง ด้วยความสูงขนาดนี้ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงความตาย

Recommend