ไขความลับ ขุดความหลัง 237 ปี… เสาชิงช้า
เสาชิงช้า แห่งกรุงเทพมหานคร คืออะไร?
ทำไมต้องสร้างให้สูงใหญ่ขนาดนั้น เพื่ออะไร ฤาจะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอะไร แล้วทำไมมีแต่เสา ตัวชิงช้าหายไปไหน เสาชิงช้าคู่นี้มีมาแต่ดั้งเดิม เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือไม่…ฯลฯ
หลากหลายมากมายคำถาม และข้อกังขาสงสัยเหล่านี้ หลายๆคนคงต้องการคำตอบ
ในทางรูปธรรมอันแท้จริง “เสาชิงช้า”… คือสัญลักษณ์อมตะคู่กรุงเทพมหานครมาเป็นเวลากว่า 237 ปีมาแล้ว
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดฯ ให้สร้างเสาชิงช้าคู่แรกขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีได้สองปี เหตุสำคัญที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นรูปธรรมสื่อแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางของพระนคร และเพื่อใช้เสาชิงช้าในการประกอบพิธีตรียัมปวาย –โล้ชิงช้า ซึ่งเป็นราชพิธีที่พราหมณ์ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณกาล นอกจากความเป็นสัญลักษณ์สำคัญดังกล่าวแล้ว ในเบื้องลึกแห่งจิตใจที่นี่ยังถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ในความเป็นจริง เสาชิงช้าที่คุณๆ ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มิใช่เสาชิงช้าคู่แรกที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อ 237 ปีก่อน หากแต่เป็นเสาชิงช้าคู่ที่ 4 แล้ว
กาลเวลากว่า 200 ปีที่พ้นผ่าน …อมตะแห่งสัจธรรมของการเสื่อมสลายย่อมมิอาจหลีกลี้หนีพ้น ….เสาชิงช้าก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องผุกร่อน และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เสาชิงช้าสามคู่ก่อนหน้านี้อยู่ในสภาพผุพังจน มิอาจซ่อมแซมได้อีก แล้ว มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือการรื้อและเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
กรรมพิธีทั้งการรื้อถอน และการสร้างเสาชิงช้าคู่ใหม่มาทดแทนคู่เก่า ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน หากแต่เป็นเรื่องระดับประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ และความศรัทธาในใจคนไทยทั่วทั้งประเทศ
-2-
บทบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ได้จดจารึก เรื่องราวความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปของเสาชิงช้าไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
พ.ศ. 2327 – พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นจนแล้วเสร็จ
พ.ศ. 2361 – ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 เกิดฟ้าผ่าลงบนยอดเสาชิงช้า จนต้องบูรณะซ่อมแซมใหม่ในบางส่วน
พ.ศ.2463 – ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสาชิงช้าผุพังทั้งหมด จนต้องเปลี่ยนใหม่
พ.ศ.2478 – กระจังของเสาชิงช้าผุพังลง มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่
พ.ศ.-2490 – เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โคนเสาชิงช้า โดยไม่ทราบสาเหตุ มีการบูรณะส่วนที่เสียหายขึ้นมาใหม่
พ.ศ.2513 – เสาชิงช้าชำรุดผุกร่อนลงมาก จนต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด
ปลายปีพ.ศ. 2549 เสาชิงช้าผุพังลงจนถึงวาระที่ต้องเปลี่ยนใหม่อีกวาระหนึ่ง สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่า การเปลี่ยนเสาชิงช้าคู่ใหม่ในสมัยรัชการที่ 6 นั้น ใช้ไม้สักทองเป็นท่อนมาต่อกัน โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผุพังเร็วกว่าเวลาอันควร เพราะน้ำฝนสามารถซึมผ่านเข้าไปได้
ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนเสาชิงช้าเมื่อ พ.ศ.2549 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว คือไม้ที่จะนำมาเปลี่ยนนั่นเอง
“ไม้สักทอง”… เป็นไม้ชนิดเดียวที่เหมาะที่สุด เนื่องเพราะคุณสมบัติ และความเชื่อ ที่มีมาแต่โบราณกาล ว่าเป็นไม้ที่สูงค่า ราคาแพง หายาก และมีความคงทนสูงสุดมากกว่าไม้ชนิดใดๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
รองลงไปคือไม้ตะเคียนทอง ที่มีความแข็งแกร่งทนทานเกือบเทียบเท่าไม้สักทอง หากแต่คนไทยยังให้ความเชื่อถือน้อยกว่า
การจะเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่หมดทั้งคู้นั้น ต้องใช้ไม้สักทองที่มีเส้นรอบวงขนาดโคนลำต้น เมื่อตัดและกลึงแล้วต้องมีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร และปลายยอดต้องใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50 เซ็นติเมตรและแน่นอนต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 20 เมตร
และจะต้องสำรวจหาทั้งหมดไม่ต่ำว่า 6 ต้น(รวมไม้ตะเกียบพยุงอีกข้างละ 2ต้น) ไม้สักทองขนาดใหญ่ยักษ์ดังกล่าวนี้ จะไปควานหามาจากไหน แต่ละต้นย่อมต้องมีอายุอานามไม่ต่ำว่า 60-70 ปีเป็นอย่างน้อย การตามล่าหาไม้สักทอง คราวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิดแน่นอน
และหากถ้าสำรวจแล้วไม่พบ คือหมายความว่าล้มเหลว การดำเนินการขั้นต่อไปจะเป็นเช่นไร เรื่องนี้ ยังไม่มีใครกล้าคิดถึงคำตอบในเวลานั้น
-3-
การออกสำรวจและค้นหาไม้สักทองทั้ง 6 ต้นเริ่มขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งกรุงเทพฯ กรมศิลปากร กระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเกษตรฯ…ฯลฯ คณะอนุกรรมการสืบค้นหามี ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพฯ เป็นประธานพื้นที่เป้าหมายส่วนใหญ่ที่กะการณ์กันไว้ คือพื้นที่อุทยานแห่งชาติในจังหวัดกาญจนบุรี สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และจังหวัดแพร่ ฯลฯ โดยมีอาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเดินทางไปค้นหาโดยใช้หลักวิชาการตรวจสอบต้นสักทองที่อยู่ข่ายการคัดเลือกทุกแห่ง
เวลาหลายเดือนผ่านไป ท่ามกลางความวิตกกังวลของทีมงานที่รับผิดชอบ แล้วในที่สุด ความเป็นจริงก็เริ่มปรากฏขึ้นมาอีกละน้อย ความพยายามของทุกคนทุกฝ่ายก็เป็นผลสำเร็จเมื่อคณะอนุกรรมการฯ สามารถค้นพบไม้สักทองที่จังหวัดแพร่จำนวน 6 ต้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ต้นที่ 1 สำรวจพบที่บริเวณหน่วยประสานงานป้องกันและรักษาป่า ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย มีขนาดเส้นรอบวงบริเวณโคนต้น 3.6 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.14 เมตร ความสูงกว่า 40 เมตร อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกรมธนารักษ์
ต้นที่ 2 สำรวจพบที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 101 หลักกิโลเมตรที่ 1 อำเภอเด่นชัย มีเส้นรอบวงโคนต้น 3.52 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.12 เมตร ความสูงกว่า 30 เมตร ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมรับผิดชอบของแขวงการทางแพร่
ส่วนต้นสักอีก 4 ต้นที่เหลือ ซึ่งจะนำไปทำเป็น “ไม้ตะเกียบพยุง” ค้นพบอยู่ที่บริเวณสวนป่าห้วยไร่ ซึ่งมีคำยืนยันจากชาวบ้านว่า ได้ปลูกไว้เมื่อ พ.ศ. 2488 มีเส้นรอบวงโคนต้น 2.30 เมตร สูง 20 เมตร เท่ากันทั้ง 4 ต้นทั้งหมด อยู่ในเขตควบคุมรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วิธีตรวจสอบคุณภาพเนื้อไม้ เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการบอกว่าต้องเจาะไม้สักทองแต่ละต้นที่ระดับความสูง 1.30 เมตร จากโคนต้น… ซึ่งจากการตรวจสอบเนื้อไม้ตั้งแต่เปลือกไปจนถึงแกนไม้พบว่าไม้สักทั้ง 6 ต้นดังกล่าวนั้นมีคุณภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโพรงในเนื้อไม้
ชาวบ้านยินดีที่จะมอบต้นสักทองทั้งหมดให้กับทางกรุงเทพฯ เพื่อนำมาเป็นเสาชิงช้าคู่ใหม่ เพื่อร่วมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม และที่สำคัญเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศมหาภูมิพลอดุลย์เดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และเจริญพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา ในวาระนั้นอีกด้วย
-4-
19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ได้มีพิธีการบรวงสรวงต้นสักทองทั้ง 6 ต้น ซึ่งมีทั้งพิธีทางพุทธศาสนาและพิธีพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เล่าให้ฟังถึงการบวงสรวงในครั้งนี้ว่า กำหนดจากตำราของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว ที่ระบุไว้ว่าเวลา 14.14 น.- 15.27 น. เป็นมหาฤกษ์ แม้ว่าจะมีการบวงสรวงก่อนฤกษ์ไม่เป็นไรเพราะวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม ถือเป็นวันดี ซึ่งการบวงสรวงคือการระลึกถึงคุณความดีของเทพเทวา เจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในป่าแห่งนี้
สำหรับสิ่งของที่ใช้ในพิธีบวงสรวงต้นสักทองในครั้งนี้จะไม่ใช้อาหารคาวชนิดใดๆ เลยทั้งสิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการโดยไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ชนิดใดๆ อาการที่ใช้เป็นเครื่องบวงสรวงในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ขนมหวาน นม เนย งา ถั่ว ซึ่งหมายถึงความสุขและปัญญา ผลไม้ คือ มะพร้าว กล้วย
การบายศรีเป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ แบบเดียวกัน…เพียงแต่พิธีการบางส่วนจะถูกเปลี่ยนไปเพราะการบรวงสรวงที่ต้นสักต้นแรกเป็นการบรวงสรวงครั้งใหญ่แล้ว ซึ่งเมื่อไปบวงสรวงต้นสักทองที่เหลืออีก 5 ต้นจะเป็นขั้นตอนการรดน้ำเทพมนต์ พรมน้ำอบไทย เจิมต้นสักทอง และอธิษฐานจิตเพื่อแสดงความยินดีที่จะนำต้นสักทองไปบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าอันใหม่ ผูกขวัญต้นไม้สักจากประชาชนที่เข้าร่วมงาน
สำหรับการเคลื่อนย้ายท่อนไม้สักไม่ต้องใช้ฤกษ์ใดๆอีกแล้ว เพราะเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากพิธีการบวงสรวงต้นสักทองในครั้งนี้ ซึ่งหากพร้อมเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทันที”
เดือนกรกฎาคม 2549 …กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการขุดฐานรากเสาเข็มและรื้อเสาชิงช้าเก่าออกทั้งหมด เมื่อกรุงเทพฯ นำไม้สักมาจากแพร่ แล้วจะมีการตอบแทนน้ำใจอันดีงามกับชาวจังหวัดแพร่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือการปลูกต้นสักคืนให้กับแพร่ จำนวน 9 ต้นที่ นปป. แพร่
6 ตุลาคม 2549 กรุงเทพมหานครจัดพิธีบรวงสรวงถอดเปลี่ยนเสาชิงช้า โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธี
พิธีนี้จัดว่าเป็นพิธีสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยจะนำเสาชิงช้าคู่เดิมออก แล้วถอดกระจังหูช้างไปเป็นแม่แบบ เพื่อแกะสลักชิ้นใหม่ขึ้นมา รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่ เพื่อนำเสาชิ้นช้าคู่ใหม่เข้ามาตั้งแทนที่คู่เดิมสำหรับเสาคู่เก่าที่ถอดออกมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นโบราณวัตถุสำคัญ อาจจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ หรือที่โบสถ์พราหมณ์ เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชิ้นสำคัญสืบต่อไป
พิธีบวงสรวงนี้ได้นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในพิธีจำนวน 16 รูป จาก 16 วัดที่เรียกว่า โสฬส คือ 16 ชั้นฟ้า
-5-
พิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ เป็นการรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เป็นเวลา 10 วัน เป็นพิธีหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
จากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาค ไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแกร่ง
พิธีโล้ชิงช้าเป็นเหมือนพิธีกรรมแห่งความตื่นเต้นหวาดเสียวคือ เมื่อพระยายืนชิงช้า ไปถึงเสาชิงช้า ก็จะเข้าไปนั่งในโรงราชพิธี จากนั้นให้ผู้ที่จะโล้ชิงช้าขึ้นชิงช้าทีละ 4 คนโล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คนโดยมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน มือสอดเชือกไว้ อีกสองคนอยู่หัวท้ายมีเชือกจับมั่นคง ถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง
ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น คนที่อยู่หัวกระดานเป็นคนฉวย โดยเงินนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ ปรบมือโห่ร้อง เชียร์กันอย่างสนุกสนาน
การโล้ชิงช้านี้สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮา จากคนดูได้ในพิธีโล้ชิงช้า
อีกตำนานหนึ่งเชื่อว่า พระพรหมเมื่อสร้างโลกแล้ว ได้เชิญให้พระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก พระอิศวรจึงใช้วิธีการเช่นเดียว กันกับข้างต้น ในการทดสอบ คตินี้สอนเรื่องการไม่ประมาทพิธีโล้ชิงช้าได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เสาชิงช้าในวันนี้ คือสัญลักษณ์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ และของประเทศไทยไปแล้ว จนโด่งดังไปทั่วโลก
เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รอยสักไทย เส้นสายลายลักษณ์แห่งศรัทธา