ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของ พะยูนไทย

ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของ พะยูนไทย

ความสำเร็จของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก กับการค้นพบลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของ พะยูนไทย ที่ไม่เหมือนประชากรพะยูนอื่นๆ ในโลก

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล ปัจจุบัน จำนวนของประชากรพะยูนทั่วโลกลดลงไปอย่างมาก ในประเทศไทยรายงานนพบประมาณ 200 ตัว เท่านั้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง พะยูนไทย

จากปัญหาเรื่องจำนวนประชากรพะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์ พะยูนจึงถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายจำนวนมาก และหลายงานหน่วยต่างเร่งออกมาตรการปฏิบัติ เพื่อปกป้องสายพันธุ์อันเปราะบางนี้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์พะยูนในทะเลมาอย่างต่อเนื่อง

พะยูนไทย, พะยูน, การวิจัย, ลักษณะทางพันธุกรรม, ทะเลไทย

ล่าสุดในปี 2021 ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการศึกษาเรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยและทั่วโลก” ซึ่งผลจากการศึกษาสร้างความสนใจให้นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพบว่ามีพะยูนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในทะเลอันดามันของประเทศไทยมีลักษณะประชากรที่จำเพาะไม่เหมือนพะยูนที่อื่นในโลกนี้ โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Scientific Reports เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021

ปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพะยูนคือไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ รวมถึงอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ เมื่อเลี้ยงในระบบปิด อย่างกรณีที่เคยปรากฏในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ทั้ง “มาเรียม” หรือ “ยามีล”

พะยูนไทย, พะยูน, การวิจัย, ลักษณะทางพันธุกรรม, ทะเลไทย

ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายสำหรับทีมวิจัยที่ต้องศึกษาค้นคว้า เพื่อหาแนวทางในการจัดการอนุรักษ์ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยได้ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ใช้ตัวอย่างจากเนื้อเยื่อพะยูนจำนวน 118 ตัว ที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2019 ประกอบด้วย พะยูนจากทะเลอันดามันจำนวน 110 ตัว และทะเลอ่าวไทย 8 ตัว พบว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงกว่าในอดีต

จากการศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทย พบความแตกต่างของรูปแบบพันธุกรรมจำนวน 11 รูปแบบ โดยพบในทะเลอันดามัน 9 รูปแบบ พบในทะเลอ่าวไทย 2 รูปแบบ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมกับพะยูนที่อาศัยอยู่ตามส่วนอื่นของมหาสมุทรทั่วโลก พบว่า ลักษณะทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยมีประชากรพะยูน 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีความจำเพาะ มีลักษณะทางพันธุกรรมไม่เหมือนประชากรอื่นๆ ในโลก พบบริเวณทะเลอันดามัน ส่วนอีกกลุ่มเป็นประชากรที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับพะยูนที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลจีนใต้แถบประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรมพบว่า ประชากรกลุ่มที่มีความจำเพาะของประเทศไทยนี้เป็นประชากรที่แยกมาจากอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อประมาณ 1.2 ล้านปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ปัจจุบันเรากำลังศึกษาเพิ่มเติมว่า ในจำนวนประชากรพะยูนกลุ่มนี้ ประกอบด้วยกี่ครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยประเมินสถานการณ์ของพะยูนในประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้เราทราบเพียงจำนวนพะยูนที่พบจากการสำรวจ และการรายงานจำนวนซากที่ตาย แต่เราไม่มีข้อมูลเลยว่า ในประชากรพะยูนเหล่านี้ประกอบด้วยกี่ครอบครัว

ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีคำถามเกี่ยวกับพันธุกรรมพะยูนในน่านน้ำไทย เหมือนหรือแตกต่างกับพะยูนที่อาศัยอยู่ในทะเลอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผลจากศึกษาครั้งนี้น่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากทำให้เราทราบว่าประเทศไทยมีประชากรพะยูนที่มีพันธุกรรมไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งเราต้องอนุรักษ์ประชากรพะยูนเหล่านี้ไว้ให้ได้ ดังนั้น ต่อจากนี้เราต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์ประชากรพะยูนที่เด็ดขาด เราไม่ควรต้องสูญเสียพะยูนไปอีกแล้ว โดยเฉพาะสาเหตุที่มาจากมนุษย์เอง”

พะยูนไทย, พะยูน, การวิจัย, ลักษณะทางพันธุกรรม, ทะเลไทย

พะยูนไทย, พะยูน, การวิจัย, ลักษณะทางพันธุกรรม, ทะเลไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และมีจำนวนประชากรเหลือน้อยลงทกวัน ซึ่งผลการวิจัยการค้นพบลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของพะยูนในไทยในครั้งนี้ จะสามารถใช้เป็นแนวทางการจัดการ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การอนุรักษ์พะยูน และสร้างสมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้อย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักวิจัย มช. ค้นพบวิธีการระบุเพศ และอายุ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

Recommend