อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera) คือ 1 ใน 5 อาณาจักรหลักของสิ่งมีชีวิตบนโลกตามการจัดจำแนกทางอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy)
อาณาจักรมอเนอรา เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตโบราณที่มีวิวัฒนาการไม่ซับซ้อน เช่น กลุ่มของแบคทีเรีย (Bacteria) และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green Algae) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต (Producer) และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ที่สำคัญในระบบนิเวศ
ลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิตใน อาณาจักรมอเนอรา
– เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (Unicellular) หรืออาจประกอบขึ้นจากเซลล์มากกว่า 1 เซลล์ โดยที่เซลล์เหล่านั้นไม่ได้ทำงานร่วมกันเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
– มีเซลล์แบบโพรคาริโอต (Prokaryote) ที่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเครียสหรือเยื่อหุ้มสารพันธุกรรม
– มีรูปร่าง 3 ลักษณะ คือ ทรงกลม (Coccus) ทรงแท่ง/ท่อน (Bacillus) และทรงเกลียว (Spirillum) ที่อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรืออาจอยู่รวมเป็นกลุ่มและเรียงตัวต่อกันเป็นสาย
– ภายในเซลล์ปราศจากออร์แกเนลล์ (Organelle) มีเพียงไรโบโซมขนาดเล็ก (Ribosome)
– ผนังเซลล์เป็นสารประกอบเพปทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) แต่ในสิ่งมีชีวิตบางกลุ่มมีแบคเทอริโอคลอโรฟิลล์ (Bacteriochlorophyll) หรือรงค์วัตถุคล้ายคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ของพืชที่สามารถทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงและสร้างอาหารเองได้
– มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ทั้งการแบ่งตัวออกเป็นสอง (Binary fission) การขาดออกเป็นท่อน (Fragmentation) รวมไปถึงการรับสารพันธุกรรมจากแบคทีเรียเซลล์อื่น ๆ ที่เรียกว่า “การกลายพันธุ์” (Mutation)
– สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว ทั้งในสภาพอากาศหนาวเย็น-ร้อนจัดหรือในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดและมีความเค็มสูง
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรมอเนอราสามารถจำแนกออกเป็น 2 อาณาจักรย่อยตามสายวิวัฒนาการ ดังนี้
อาณาจักรย่อยอาร์เคียแบคทีเรีย (Subkingdom Archaebacteria) คือ กลุ่มแบคทีเรียที่เรียกว่า อาร์เคีย(Archaea) เป็นแบคทีเรียที่ปราศจากสารเพปทิโดไกลแคนในผนังเซลล์ แต่มีสารจำพวกโปรตีนและไขมันทำหน้าที่เป็นโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ จึงทำให้อาร์เคียเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมสุดขั้วต่างจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรย่อยอาร์เคียแบคทีเรียสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
● ครีนาร์เคียโอตา (Crenarchaeota) คือ กลุ่มของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหรือในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิราว 60 ถึง 100 องศาเซลเซียส อย่างเช่นในบ่อน้ำพุร้อนและปากปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลลึก ซึ่งส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ บางชนิดสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดจัด (ค่า pH 2-4) หรือในพื้นที่หนาวเย็น อย่างทวีปอาร์กติก (Arctic) และแอนตาร์กติกา (Antarctica)
● ยูริอาร์เคียโอตา (Euryarchaeota) คือ กลุ่มของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีองค์ประกอบของเกลือสูงอย่างในทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) หรือในแหล่งน้ำที่มีความเค็มจัด (Halophile) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่สามารถสร้างก๊าซมีเทน (Methanogen) ได้ บางชนิดดำรงชีวิตเป็นปรสิตอยู่ภายในลำไส้ของสัตว์ชนิดอื่น ๆ
อาณาจักรย่อยยูแบคทีเรีย (Subkingdom Eubacteria) คือ กลุ่มแบคทีเรียที่ส่วนใหญ่มีสารเพปทิโดไกลแคนในผนังเซลล์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ ธารน้ำแข็ง ในอากาศ หรือแม้แต่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น จึงเป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่มีความหลากหลายสูงและมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก โดยแบคทีเรียในอาณาจักรย่อยนี้สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
- โพรทีโอแบคทีเรีย (Proteobacteria) คือ กลุ่มยูแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-Negative Bacteria) ที่พบมากที่สุดและมีกระบวนการเมทาบอลิซึมที่หลากหลายที่สุด บางชนิดสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงเช่นเดียวกับพืช บางชนิดสามารถอาศัยซัลเฟอร์ (Sulfur) หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง อย่างเช่น เพอเพิลซัลเฟอร์แบคทีเรีย (Purple Sulfur Bacteria) บางชนิดสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากในอากาศลงสู่ดิน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
- คลาไมเดีย (Chlamydia) คือ กลุ่มยูแบคทีเรียแกรมลบที่อาศัยอยู่ได้เฉพาะในเซลล์ของสัตว์ ดำรงชีวิตเป็นปรสิต มีรูปร่างทรงกลม ไม่สามารถเคลื่อนที่ ผนังเซลล์ไม่มีเพปทิโดไกลแคน อีกทั้ง ยังเป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญ เช่น โรคริดสีดวงตา ตาแดง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างโรคโกโนเรีย (Gonorrhea) หรือหนองใน
- สไปโรคีท (Spirochete) คือ กลุ่มยูแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปทรงเกลียวและยืดหยุ่น มีความยาวประมาณ 25 มิลลิเมตร ดำรงชีวิตอิสระ บางชนิดเป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิสและโรคฉี่หนู
- แบคทีเรียแกรมบวก (Gram-Positive Bacteria) คือ กลุ่มยูแบคทีเรียแกรมบวกที่อาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในดินและอากาศ เป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่มีความหลากหลายอย่างมาก บางชนิดสามารถผลิตกรดแลกติกได้ อย่างเช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus sp.) ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากมาย ทั้งการผลิตเนย ผักดอง และโยเกิร์ต บางชนิดถูกนำมาใช้ในการผลิตยาปฏิชีวนะ เช่น ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) บางชนิดก่อให้เกิดโรค เช่น วัณโรค โรคปอดบวม และโรคเรื้อน เป็นต้น
- ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) คือ กลุ่มของยูแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงและสร้างอาหารเองได้ เนื่องจากมีรงค์วัตถุอย่างคลอโรฟิลล์เอ แคโรทีนอยด์ และโฟโคบิลินอยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์
ไซนาโนแบคทีเรียเป็นแบคทีเรียที่สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม บ่อน้ำพุร้อน หรือแม้แต่ภายใต้ก้อนน้ำแข็งในมหาสมุทร
ไซยาโนแบคทีเรียเป็นผู้ผลิตที่สำคัญในระบบนิเวศ ทั้งผลิตอาหาร ตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ และการผลิตออกซิเจน ซึ่งในเชิงวิวัฒนาการ ไซยาโนแบคทีเรียนับเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกแรกที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างร่างกาย เพื่อให้มีระบบหายใจโดยใช้ออกซิเจนในเวลาต่อมา
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://biology.mwit.ac.th/Resource/BiodiverPDF/3_diver_monera.pdf
http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042613133841.pdf
https://www.scimath.org/lesson-biology/item/11005-2019-10-29-01-49-12