ปรสิตจาก ’แมว’ ทำให้มนุษย์มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน
การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Evolution Pschology ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อจากปรสิตที่มีชื่อว่า “ท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ” (Toxoplasma gondii) ซึ่งเป็นหนึ่งในปรสิตที่พบมากที่สุดในโลกผ่านทางอาหาร น้ำที่ปนเปื้อน และโดยเฉพาะในกระบะทรายของ ‘แมว’ อาจกระตุ้นให้มนุษย์มีความเชื่อและค่านิยมทางการเมืองเปลี่ยนไป ทีมศึกษาคาดว่ามีประชากรโลกกว่า 1 ใน 3 ที่มีปรสิตตัวนี้อยู่
“ ‘ท็อกโซพลาสมา’ เป็นปรสิตที่แพร่หลายมาก ดังนั้นความแพร่หลายของมัน (ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ) สามารถมีอิทธิพลไม่ใช่แค่กับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ และชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเมืองในโลกและประวัติศาสตร์แห่งความเป็นจริงอีกด้วย” เฟล์เกอร์ ยาโรสลาฟ (Flegr Jaroslav) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชาลส์ในปราก (Prague) ประเทศสาธารณรัฐเช็คและหนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว
ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาโดยการเผยแพร่แบบสอบถามออนไลน์ให้กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวเช็กจำนวน 2,315 คน โดยแบ่งเป็นผู้หญิง 1,848 คนและผู้ชาย 467 คน ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความถี่ในการพบแพทย์ ความถี่ของอาการซึมเศร้า หรือการได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ รวมทั้งประเมินความเชื่อและค่านิยมทางการเมือง
พวกเขาพบว่าผู้เข้าร่วมมีการรายงานการติดเชื้อ เป็นผู้ชาย 90 คน และผู้หญิง 518 คน โดยประเด็นสำคัญคือ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ‘ท็อกโซพลาสมา’ มีความสัมพันธ์กับค่านิยมทางการเมืองแบบ ‘ชาตินิยม-เผ่าพันธุ์’ กล่าวอีกนัยคือผู้ติดเชื้อ “มีแนวโน้มฝักใฝ่ชาตินิยมและมีการต่อต้านเผด็จการน้อยกว่า” รายงานระบุ
“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดจากการศึกษาของเราคือ มุมมองทางการเมืองของเรานั้นสามารถถูกกำหนดได้โดยปัจจัยทางชีววิทยารวมถึงการติดเชื้อปรสิตด้วย ขณะที่ข้อความที่น่าสนใจน้อยกว่าคือ ‘ท็อกโซพลาสมา’ เป็นแหล่งของการติดเชื้อระยะยาวร้อยละ 30 ของประชากรมนุษย์ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา” ศจ. เฟล์เกอร์กล่าว พร้อมเสริมว่า
“และมีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งความเครียดที่สำคัญ ไม่เพียงแค่กระทบต่อเฉพาะกับพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงควรมีความพยายามในการค้นหาวัคซีนและวิธีการรักษาที่แฝงอยู่ตลอดชีวิตมากกว่านี้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกผลลัพธ์ตามเพศแล้ว รายงานระบุว่า ‘ในผู้ชายเท่านั้น’ ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อแนวคิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากกว่าผู้ติดเชื้อเพศหญิง ซึ่งผลลัพธ์นี้ทีมวิจัยไม่เคยได้คาดคิดมาก่อนว่าจะพบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้อทั้งชายและหญิงล้วนได้คะแนนต่ำในแนวคิดที่มีความเสรีนิยมมากกว่า
ในตอนแรกพวกเขาคาดการณ์ว่าความแตกต่างที่พบในเรื่องมุมมองทางการเมืองนี้อาจเกิดจากสุขภาพร่างกายที่แย่ลง แต่เมื่อพวกเขาควบคุมปัจจัยด้านนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างปรสิตกับค่านิยมทางการเมืองก็ยังไม่ลดลง
“สุขภาพที่บกพร่องของเนื่องจากการติดเชื้อไม่ใช่สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางการเมือง” รายงานระบุ ทีมงานได้เสนอคำอธิบายบางประการด้วยทฤษฎีความเครียดจากปรสิตที่ กล่าวว่าทัศนคติเหล่านี้มีเพื่อ (ให้ผู้ติดเชื้อ) ใช้ลดการติดต่อกับบุคคลภายนอกและหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรค
“ในปัจจุบัน เราได้แค่คาดเดาถึงผลกระทบของ ‘ท็อกโซพลาสมา’ ต่อความเชื่อและค่านิยมทางการเมืองของเรา รวมถึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปรสิตชนิดนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนในระหว่างการเลือกตั้งหรือไม่” ศจ. เฟล์เกอร์กล่าว
เป็นที่น่าสนใจว่าการติดเชื้อจากปรสิตนั้นอาจมีผลต่อค่านิยมทางการเมือง และนั่นอาจส่งผลไปถึงการกำหนดนโยบายและการติดสินใจทางการเมืองของรัฐบาล “ในขณะที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพที่เกิดจากการมีปรสิตเป็นศูนย์กลาง อย่างน้อยในตอนนี้เราก็อาจคาดหวังที่จะทราบผลกระทบของการติดเชื้อในด้านทัศนคติทางการเมืองที่เปลี่ยนไปได้” งานวิจัยระบุ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
This parasitic disease could alter one’s thought process. (interestingengineering.com)
Your Political Views Could Be The Result Of A Parasitic Infection | IFLScience