เมื่อ 70 ปีที่แล้ว เรือนเวลาระดับไอคอนนาม Fifty Fathoms ได้ถือกำเนิดขึ้นมาปฏิวัติวงการและกลายเป็นนาฬิกาดำน้ำแบบโมเดิร์นเรือนแรกของโลกซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย Jean-Jacques Fiechter ผู้หลงใหลในการดำน้ำแบบสคูบาและยังเป็นซีอีโอของ Blancpain ในขณะนั้น เขาเป็นดั่งผู้บุกเบิกในการวางกฏระเบียบของกิจกรรมดังกล่าวที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทั้งยังมีความเข้าใจถึงความจำเป็นของการจับเวลาใต้ผืนน้ำ อุปกรณ์ที่เขาออกแบบขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองจึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับท้องทะเลจนกลายเป็นอุปกรณ์คู่กายของเหล่านักดำน้ำและผู้สำรวจมหามุทรชั้นนำมากมาย ด้วยเป้าหมายของ Fifty Fathoms ที่มุ่งเน้นไปในการยกระดับความปลอดภัย มันจึงมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาวงการอีกทั้งยังส่งเสริมการค้นพบสิ่งใหม่ในโลกใต้ทะเล
ปี 2023 ถือเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีของ Fifty Fathoms ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนในการหวนกลับมาของการให้กำเนิดนาฬิกาที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม ตั้งแต่ยุค 1950 เป็นต้นมา การดำน้ำมีวิวัฒนาการขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องการยืดระยะเวลาในการดำน้ำ แม้ว่านาฬิกา Fifty Fathoms ในปี 1953 จะตอบโจทย์ความต้องการของ Jean-Jacques Fiechter และนักดำน้ำมากประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นได้ แต่ ณ ตอนนี้ความต้องการที่มีต่อการจับเวลาใต้น้ำได้เปลี่ยนไปเนื่องจากความสามารถในการอยู่ใต้น้ำที่นานขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยตรงกับประธานและซีอีโอของ Blancpain ที่เป็นนักดำน้ำสคูบาตัวยง ทั้งยังเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการดำน้ำแบบระบบวงจรปิด (closed-circuit) มาเป็นเวลาหลายปี
เขาจึงตัดสินใจที่จะลงมือออกแบบอุปกรณ์ชิ้นพิเศษร่วมกับ Laurent Ballesta นักดำน้ำ ช่างภาพ และนักชีววิทยาทางทะเลโดยได้รับเอาคุณสมบัติอันล้ำค่าจากนาฬิกา Fifty Fathoms ปี 1953 มารวมเข้ากับประสบการณ์โดยตรงของตนเอง โดยมีเป้าหมายในการบรรลุความต้องการของกลุ่มสุดยอดนักดำน้ำ อาทิ เหล่าสมาชิกของทีมสำรวจ Gombessa ที่งานวิจัยของพวกเขาต้องเกี่ยวข้องกับการดำน้ำลึกภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนาน ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนของ Blancpain นักดำน้ำลึกเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันในการปฏิบัติภารกิจที่จะกินระยะเวลาหลายปีในชื่อ Tamataroa ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมของฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna mokarran) ใน French Polynesia นำโดยคณะกรรมการที่ล้วนเป็นนักดำน้ำลึกที่มี Marc A. Hayek และ Laurent Ballesta รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้การเฝ้าสังเกตุการณ์ และการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปด้วยวิธีการดำน้ำเชิงเทคนิคบริเวณ Rangiroa Atoll โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการดำเนินการตามมาตรการการจัดการเพื่อการอนุรักษ์
การทำงานร่วมกันนี้ได้นำมาสู่การเปิดตัวครั้งแรกของนาฬิกาเรือนใหม่ล่าสุดจากคอลเลคชั่น Fifty Fathoms นาม Tech Gombessa ที่ถูกออกแบบให้สามารถจับเวลาดำน้ำได้ยาวนานถึง 3 ชั่วโมงหรือจนกระทั่งออกจากการดำน้ำแบบอิ่มตัว (saturation system) นาฬิกาเรือนนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยสองนักดำน้ำเมื่อ 5 ปีที่แล้วและผ่านการทดสอบมาอย่างโชกโชน
ในปี 2019 หลังจากผ่านช่วงเวลา 1 ปีในการกำหนดแนวคิด Blancpain เริ่มขั้นตอนในการพัฒนาโดยเริ่มต้นจาก 2 องค์ประกอบหลักได้แก่ กลไก และขอบหน้าปัดจับเวลาหมุนได้ทิศทางเดียว ทั้งนี้ขอบหน้าปัดจับเวลาของ Fifty Fathoms Tech Gombessa มีสเกลจับเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากขอบหน้าปัดจับเวลาของนาฬิกาดำน้ำทั่ว ๆ ไป โดยมันทำงานควบคู่กับเข็มพิเศษซึ่งจะเดินครบหนึ่งรอบภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ปลายเข็มมีสีสันและวัสดุเช่นเดียวกับมาร์กเกอร์บนขอบหน้าปัดที่มีการเคลือบสารเรืองแสงสีขาวพร้อมการเปล่งแสงสีเขียว ระบบการทำงานดังกล่าวนี้ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกและจดสิทธิบัตรร่วมกันโดย Marc A. Hayek และ Laurent Ballesta โดยมันถือเป็นหัวใจสำคัญของกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรหัส 13P8 ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งในด้านความเที่ยงตรงและความแข็งแกร่งซึ่งช่วยให้ Fifty Fathoms เป็นที่สุดแห่งนาฬิกาดำน้ำมาเป็นเวลาถึง 70 ปี
เมื่อขอบหน้าปัดจับเวลา และกลไกลงตัวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบตัวเรือนให้เหมาะสมต่อการใช้ในการดำน้ำลึก โจทย์ในการออกแบบนั้นชัดเจนนั่นคือ นาฬิกา Fifty Fathoms Tech Gombessa ต้องมีหน้าตาแบบ Fifty Fathoms แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแตกต่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘เทค’ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เหล่านักออกแบบของ Blancpain จึงเลือกใช้ขอบหน้าปัดจับเวลาเซรามิคแทนที่จะใช้ขอบแซฟไฟร์อย่างทุกครั้ง และยังทำให้มีความโค้งที่มากกว่าและเอียงลงเข้าหาหน้าปัดที่กรุด้วยคริสตัลซึ่งช่วยขจัดความผิดเพี้ยนในการมองเห็น อีกทั้งเพื่อช่วยในการอ่านค่าให้ได้ชัดเจนที่สุดในความมืด จึงเลือกใช้งานหน้าปัดแบบใหม่ที่เรียกว่า absolute black หรือสีดำสนิทที่สามารถดูดซับแสงได้เกือบ 97% ในขณะที่หลักชั่วโมงถูกรังสรรค์ขึ้นจากวัสดุเรืองแสงทรงกล่องสีส้มที่เปล่งแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่เลือกไว้ใช้สำหรับการบอกชั่วโมงและนาทีจึงมีความแตกต่างจากสีที่เอาไว้ใช้บอกข้อมูลสำหรับการจับเวลาดำน้ำนั่นเอง
ตัวเรือนทำจากไทเทเนียมเกรด 23 ซึ่งเป็นเกรดที่ Blancpain เพิ่งนำมาใช้กับนาฬิกาของตนเองเมื่อไม่นานมานี้ วัสดุดังกล่าวยังสามารถเรียกได้อีกแบบว่า เกรด 5 ELI (extra low interstitials) ซึ่งถือเป็นไทเทียมที่มีความบริสุทธิ์ที่สุดที่มีอยู่ มีคุณสมบัติโดดเด่นทางด้านความแข็งแกร่ง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และมีน้ำหนักเบาจึงช่วยให้สวมใส่สบายจนแทบจะไม่รู้สึกถึงการมีนาฬิกาขนาด 47 มม.อยู่บนข้อมือ ทั้งยังมีวิธีการยึดตัวเรือนแบบใหม่ของ Blancpain ซึ่งยึดจากตรงกลางด้านในผ่าน central lugs เข้ากับสายนาฬิกาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นาฬิกามีขีดความสามารถในการกันน้ำระดับ 30 บาร์ (ประมาณ 300 เมตร) พร้อมฮีเลียมวาล์ว โดยในขณะที่มีการดำน้ำแบบอิ่มตัวภายในห้องปรับความดัน ฮีเลียมจะสามารถซึมเข้าไปภายในนาฬิกาได้ ดังนั้นในขณะที่ทำการคลายความดันเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ การคลายวาล์วจะช่วยในการไล่ฮีเลียมออก (การปรับดังกล่าวไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความสามารถในการกันน้ำของตัวนาฬิกา) สำหรับการขึ้นลานและการตั้งเวลานั้นทำผ่านการหมุนเม็ดมะยมที่ควบคุมทั้งการปรับเข็มชั่วโมง เข็มนาที และเข็มจับเวลาดำน้ำในคราวเดียว ตัวเม็ดมะยมเป็นแบบขันเกลียวพร้อมคราวน์การ์ดล้อมที่มาในดีไซน์ทรงสี่เหลี่ยมคางหมูเข้ากับรูปทรงของ lugs
ไม่มีพื้นที่ส่วนใดที่ไม่ถูกใส่ใจในการดีไซน์ซึ่งนั่นรวมไปถึงด้านหลัง บริเวณพื้นที่ของตัวเรือนชิ้นกลางมีลักษณะเป็นมุมเอียงซึ่งแตกต่างจากลักษณะกลมมนทรง ‘อ่าง’ ของ Fifty Fathoms ในโมเดลอื่น ๆ รอยบากที่ใช้สำหรับขันสกรูยังได้รับการปรับปรุงใหม่แต่ก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่งเช่นเดิม มีตุ้มเหวี่ยงสีแอนทราไซต์ประทับโลโก้ Gombessa Expeditions ที่โดดเด่นด้วยรูปทรงทันสมัยพร้อมการเปิดช่องขนาดใหญ่ 3 ช่องไว้สำหรับชื่นชมการทำงานของกลไก สายยางสีดำใช้การขันกสรูเพื่อยึดกับขาของตัวเรือนที่มีการเสริมความแข็งแรงด้วยไทเทเนียมด้านใน ทำให้มั่นใจว่าสายจะอยู่ในรูปทรงที่ถูกต้องในระยะยาว อีกทั้งยังมีสายสำหรับต่อความยาวในกรณีสวมใส่นาฬิกาบนชุดดำน้ำ หัวเข็มขัดล็อคสายมีความกว้างพิเศษและพินที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสาตร์ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเสริมการยึดนาฬิกาไว้กับข้อมือและเพื่อให้ง่ายต่อการรัดสายส่วนต่อ
รายละเอียดทุกอย่างของนาฬิกา Tech Gombessa ดูเหมือนจะรวมกันได้อย่างราบรื่นไร้ที่ติ แต่แท้จริงแล้วมันผ่านการปรับแต่งมานับครั้งไม่ถ้วนซึ่งล้วนเกิดมาจากการทดสอบในสถานการณ์จริงที่ Marc A. Hayek ได้สวมใส่เรือนเวลาโปรโตไทป์หลายเวอร์ชั่นในการดำน้ำของเขา เช่นเดียวกับ Laurent Ballesta และเหล่านักดำน้ำของทีมสำรวจ Gombessa ซึ่งได้ทดสอบนาฬิการุ่นนี้ตลอดขั้นตอนของการพัฒนา โดยเรือนโปรโตไทป์ทั้งหมด 4 เวอร์ชั่นถูกทดสอบบนข้อมือของเหล่านักสำรวจใต้ทะเลเป็นระยะเวลาเกือบ 50 วันที่ระดับความลึกระดับ 120 เมตรระหว่างภารกิจ Gombessa V และ Gombessa VI ที่เกิดขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปี 2019 และ 2021 ตามลำดับ โดยทั้ง 2 ภารกิจมีการนำทั้งการดำน้ำแบบอิ่มตัวพร้อมวิธีการดำแบบวงจรปิดมาใช้เป็นครั้งแรกซึ่งเหล่านักดำน้ำได้ผ่านการใช้ชีวิตภายในห้องปรับความดันขนาด 5 ตารางเมตรตลอดเดือน อีกทั้งยังออกมาด้านนอกเพื่อสำรวจท้องทะเลทุก ๆ วันจึงมีโอกาสได้ทดสอบฮีเลียมวาล์วหลายเวอร์ชั่นอีกด้วย
นาฬิกา Fifty Fathoms Tech Gombessa ได้กลายเป็นเรือนเวลาสำหรับปฏิบัติภารกิจของกลุ่มนักดำน้ำทีม Gombessa เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการสุดหินได้อย่างครบถ้วน การเปิดตัวนาฬิการุ่นนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่การครบรอบ 70 ปีของ Fifty Fathoms และยังเป็นการครบรอบ 10 ปีแห่งความร่วมมือระหว่าง Blancpain และ Laurent Ballesta ซึ่งโครงการ Gombessa ของเขาได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2013 ที่ Blancpain เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดตัวไลน์ใหม่ภายใต้ชื่อ Fifty Fathoms Tech สำหรับนาฬิกา Blancpain ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการดำน้ำเชิงเทคนิคนั่นเอง