ศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับภารกิจสร้างความหวังให้ชีวิต

ศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับภารกิจสร้างความหวังให้ชีวิต

ศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับภารกิจรักษาโรคหัวใจเพื่อให้ผู้ป่วยในกลุ่มเด็กได้ไปต่อ

ขึ้นชื่อว่า “โรคหัวใจ”  ไม่ว่าใครก็คิดได้ว่านี่คือโรคร้ายแรงที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ตัว แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องพบกับโรคร้าย โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กแรกเกิดที่สถิติทั่วโลกระบุว่า มีเด็กเกิดใหม่ ร้อยละ 10 ทั่วโลกที่พบกับอาการดังกล่าวนี้ทั้งที่เพิ่งลืมตาดูโลก

โรคนี้เป็นอย่างไร? และเชื่อมโยงกับคนไทยแค่ไหน National Geographic ภาษาไทย สอบถามข้อมูลจากศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หนึ่งในสถาบันทางการแพทย์ที่เปรียบเสมือนที่พึ่งของผู้ปกครอง ยามเมื่อบุตรหลานต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคหัวใจ

นพ.วรการ พรหมพันธุ์  นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์และหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อมูลว่า หัวใจในเด็กสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดพบกับผู้ป่วยเด็กตั้งแต่กำเนิด และบางคนทราบตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดา ขณะที่บางรายตรวจพบในภายหลัง

“อัตราเฉลี่ยของเด็กที่เกิดมาบนโลกนี้ ทุก 1,000 คน จะมีภาวะโรคหัวใจ 8 คนโดยประมาณ ทั้งในไทยและในต่างประเทศเฉลี่ยกันทั่วโลก ดังนั้นถ้าในไทยมีเด็กเกิด 500,000 คน ก็จะมีเด็กที่เป็นโรคนี้ประมาณ 5,000 คนโดยเฉลี่ย คือ 10 เปอร์เซ็นต์ และประมาณ 500คน ก็จะเป็นคนไข้ที่เป็นโรคชนิดรุนแรง แต่ถามว่าอัตราการเกิดโรคนี้ลดน้อยลงไหม ตอบว่าน้อยลง ไม่ใช่เพราะโรคเกิดน้อยลงนะครับ แต่เป็นเพราะอัตราการเกิดที่ลดลง”

นพ.วรการ พรหมพันธุ์   รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์และหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

สำหรับความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็กนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าวัย แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้โรคหัวใจเด็กที่พบบ่อย อาทิ  ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect : VSD) เส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus : PDA) ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว (Atrial Septal Defect : ASD) โรคลิ้นหัวใจตีบ (Pulmonary Stenosis : PS) โรคหัวใจชนิดเขียว ที่พบบ่อย คือ Tetralogy of Fallot (TOF) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจทั้งผนังหัวใจห้องล่างรั่ว และลิ้นหัวใจตีบเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

  • ภารกิจสร้างความหวัง

เมื่อโรคหัวใจคือโรคที่ซับซ้อน ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง การดูแลรักษาโรคหัวใจจึงไม่ใช่ใครก็ทำได้ แต่ต้องมีทีมแพทย์ที่พร้อม ซึ่งสำหรับผู้ป่วยในประเทศไทย ศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี คืออีกสถาบันแพทย์ซึ่งเป็นที่พึ่งให้กับเด็ก และมีจำนวนผู้ป่วยเด็กเข้ามารักษา

“โรงพยาบาลก่อตั้งมาเกือบ 70 ปี และเคยรักษามาหลายรุ่น และเราเปรียบได้ว่าการรักษาโรคหัวใจของเด็กเปรียบเสมือนการเดินทาง บางคนผ่าตัดครั้งเดียวแล้วจบ บางเคสต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามีผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องเสียชีวิตไป ดังนั้นถ้าผู้ปกครอง พ่อแม่ ตัดสินใจแล้ว เราต้องร่วมมือด้วยกัน ความสำเร็จในเรื่องนี้จึงเป็นทีม ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ปกครอง และอีก ฯลฯ”

“เคสที่ประสบความสำเร็จคือเขาสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากปกติ อาจจะไม่ใช่การรักษาทีเดียวจบ แต่หมายถึงการเฝ้าติดตามเป็นระยะ และที่สถาบันฯ และปีๆ หนึ่งมีเด็กได้เข้ามารักษาประมาณปีละ 300-400 ราย และมีการผ่าตัดที่ปีหนึ่งประมาณ 200 ราย ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อให้ชีวิตของเด็กได้ไปต่อ”

แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดหัวใจแต่ละครั้ง มีมูลค่าสูงมาก แค่ชิ้นส่วนเล็กๆ สำหรับอุดรูรั่วหัวใจก็มีมูลค่าประมาณ 50,000 บาท  ยังไม่รวมค่าห้องผ่าตัดและการใช้อปกรณ์ต่างๆ จึงอาจจะทำให้บางครอบครัวที่ไม่พร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย หมดกำลังใจในการช่วยชีวิตน้อยๆ ของครอบครัว

“ช่วยเด็ก 1 คน ไม่ได้ช่วยแค่เด็กนะ แต่คือการช่วยครอบครัวเค้าด้วย พ่อแม่ได้กลับไปทำงานได้ไว เลี้ยงดูครอบครัว ลดภาระ การเดินทางดูแลลูก ได้มีเวลาดูแลครอบครัว สร้างครอบครัว เป็นรากฐานของสังคม ช่วยเด็กโรคหัวใจ ไม่ได้ช่วยแต่เด็ก แต่ช่วยครอบครัวเค้าด้วย”

แม้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะมีการครอบคลุมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่า เมื่อการซับซ้อนของโรคมีมาก เมื่อผนวกกับปริมาณคนไข้ก็ทำให้ภาระหนักตกอยู่กับโรงพยาบาล

“ทารกจำเป็นต้องได้รับการรักษาผ่าตัดเฉพาะทางด้วยอุปกรณ์พิเศษ และต้องได้รับการดูแลรักษาหลังการผ่าตัดในหอผู้ป่วยวิกฤตเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ บางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องพยุงหัวใจ ฟอกไต หลังการผ่าตัด ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 300,000 – 1,000,000 บาทต่อราย ทำให้ทารกหลายรายไม่สามารถได้รับการผ่าตัดรักษา” หนึ่งในแพทย์ทีมงานผ่าตัดให้ข้อมูล

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ ‘หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่’ ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก (The Children ‘ s Hospital Foundation) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่นอกเหนือสิทธิ์การรักษา และไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลได้ทั้งหมด ทั้งยังช่วยลดภาระให้กับโรงพยาบาล

และในปีนี้ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “อมรินทร์ อาสา” จับมือ บริษัท ซีเจเวิร์ค จำกัด (CJ WORX) และค่ายเพลง WHAT THE DUCK ทำความดี ช่วยเหลือสังคม กับ โครงการ “หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่” ใน มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อระดมทุน 50 ล้านบาท ช่วยเหลือเด็กทารกที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการขั้นวิกฤตให้ได้รับการผ่าตัด 50 คน ด้วยการสร้างการรับรู้ในรูปแบบมิวสิคแคมเปญ โดยได้รับเกียรติจาก 6 ศิลปินมาร้องเพลง “วันใหม่ (One Heart)” ที่ถ่ายทอดมาจากเรื่องจริงของเด็กที่เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจและมีวันใหม่ที่สวยงาม ที่เวลานี้มีเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้และรอการช่วยเหลือมากถึงปีละประมาณ 5,000 คน

“การรักษาโรคหัวใจเด็กเปรียบเสมือนการเดินทาง และการจะเดินทางให้ถึงที่หมายได้ ต้องมีทีมที่มีประสิทธิภาพ การจะรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ต้องพร้อม วางแผนตั้งแต่หมอสูตินารีเวช ทีมทำคลอด หมอทารกแรกเกิด หมอผ่าตัด และรวมถึงพยาบาลในภาคส่วนต่างๆ สำคัญที่สุดคือพ่อแม่และครอบครัว” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็กกล่าวทิ้งท้าย

เพื่อให้ทุกเคส ทุกอาการป่วย ในศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อยู่รอดต่อไปด้วยความหวังที่จะกลับมามีชีวิตอย่างมีความสุข

มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กขอเชิญชวนร่วมบริจาคทำบุญในโครงการ “หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่” เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการขั้นวิกฤตตั้งแต่กำเนิด เป็นค่าผ่าตัดและดูแลจนเด็กทารกหายเป็นปกติ
บริจาคได้ที่ : ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขบัญชี 051-3-00051-5

ธนาคารกรุงไทย
เลขบัญชี 661-0-55841-8

อ่านเพิ่มเติม : นพ.วรการ พรหมพันธุ์ รักษา ‘โรคหัวใจเด็ก’ เปรียบได้กับการเดินทาง ตัดสินใจแล้วต้องไปถึงเป้าหมาย

นพ.วรการ พรหมพันธุ์

Recommend