มนุษย์ต่างดาว มีอยู่จริงหรือไม่? ลอรี่ เกลซ (Lori Glaze) หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซากล่าวถึงคำถาม ‘เอเลี่ยนมีอยู่จริงหรือไม่?’ ว่า “เราคงไม่พูดเกินจริงถึงความสำคัญของการค้นพบ เราขอยืนยันและประกาศเรื่องนี้ด้วยความรับผิดชอบของเราว่า นี่เป็นคำถามที่สำคัญมากจริง ๆ”
เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะมนุษย์ยังคงช่างสงสัยเมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน บางคนอาจถามตัวเองว่า ‘มีใครอยู่ข้างนอกนั่นบ้างไหม?’ มันดูเป็นไปไม่ได้ที่จักรวาลอายุ 13.8 พันล้านปี และกว้างใหญ่ไพศาลจะมีแค่เพียงดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เอื้อเฟื้อต่อการมีชีวิต พร้อมกับสร้างสิ่งมีชีวิตที่ตั้งคำถามนี้ได้
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วงการวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทำทุกทางที่ทำได้ พวกเขาได้ยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ในแถบเอื้อต่อการอาศัยอยู่ (Habitable Zone) ได้แล้วหลายพันดวง ตรวจพบคลื่นวิทยุจากหลายแหล่ง พร้อมกับส่องกล้องโทรทรรศน์อวกาศทรงพลังไปไกลนับล้านปีแสง แต่มันก็ยังเป็นเรื่องลึกลับที่จะตอบได้อย่างสมบูรณ์
“นี่เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ชุมชนวิทยาศาสตร์ยอมรับได้จริง ๆ เว้นแต่เราจะเห็นอะไรบางอย่างเคลื่อนไหวพร้อมกับโบกมือให้เรา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้” เกลซ กล่าว นาซ่าเองได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้ว กระนั้น ยังมีข่าวลือเรื่อง ‘การปกปิด’ อยู่เสมอ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1948 ทั่วโลกได้ตกลงกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อระบุว่า จะต้องมีการประกาศ ทุกเรื่อง ให้ทราบทั่วโลกตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร รวมถึงเรื่องมนุษย์ต่างดาวด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน นาซาเองก็มีกฎหมายที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับมาภายใน 48 ชั่วโมง ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าเรื่องนี้มีแค่เพียงอยู่บนกระดาษเท่านั้น
แล้วองค์การอวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกทำอย่างไร? พวกเขาทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกจะเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ สั่งสมข้อมูลขึ้นมา มากกว่าจะเป็นช่วงเวลายูเรก้า (การเข้าใจโดยฉับพลันทันที)
ด้วยเหตุนี้ วงการวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาขั้นตอนที่เรียกว่า ‘ความเชื่อมั่นของการตรวจจับสิ่งมีชีวิต’ (Confidence of Life Detection, CoLD) ขึ้นมาเพื่อตรวสอบและยืนยันอย่างอิสระผ่านรายงาน
เริ่มแรก ต้องมีการยืนยันว่าผลลัพธ์ที่ได้มานั้นจะต้องบริสุทธิ์ หรือการพบบางสิ่งบางอย่างที่เข้ากับคำจำกัดความว่า ‘ชีวิต’ จริง ๆ จากนั้นค่อยเพิ่มระดับขึ้นไปจนเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน การค้นพบในแต่ละครั้งจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะทุกครั้ง ดังที่เราเห็นทั้งจากดาวอังคารและโมเลกุลบนดาวหาง นักวิทยาศาสตร์ค่อย ๆ มองหาจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นพื้นฐานขึ้นมาก่อน
“หากการค้นพบเหล่านี้ได้รับการยืนยัน มันจะเป็นหนึ่งในข้อมูลเชิงลึกที่น่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับจักรวาลของเราที่วิทยาศาสตร์เคยค้นพบ” ประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวเมื่อปี 1996 ที่ทำเนียบขาว
ผู้นำประเทศ หรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ จะมีส่วนร่วมในการประกาศว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่นอกโลก เพราะนาซ่าเองก็อาจไม่ใช่หน่วยงานแรกที่ค้นพบหลักฐานเนื่องจากความก้าวหน้าทางอวกาศของทั่วโลก บางทีอาจเป็นจีน ยุโรป หรือแคนาดาเป็นผู้ค้นพบก็ได้
หลายคนให้ความเห็นว่าเมื่อมนุษย์พบเอเลี่ยนจริง ๆ อาจสร้างความโกลาหลได้หากประกาศออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เกลซกล่าวว่า เป้าหมายของนาซ่าคือการเป็นแหล่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ สิ่งต่างๆ กำลังแตกต่างไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และแตกต่างมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางความกว้างใหญ่ของเอกภพ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะได้พบอะไรที่น่าตื่นเต้น แค่โมเลกุลเล็ก ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้ว ดังนั้นจึงต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป
“การยืนยันว่าเราไม่ได้อยู่ตามลำพังในจักรวาล ฉันคิดว่าคงคล้ายกับการตระหนักได้ว่าเอกภพไม่ได้หมุนรอบโลก มันจะสร้างวิธีคิดที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ว่าเราเป็นใครและมาจากไหน” เกลซกล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.livescience.com/are-aliens-real
https://www.nasa.gov/feature/do-aliens-exist-we-asked-a-nasa-scientist-episode-5
https://www.businessinsider.com/how-nasa-could-tell-us-aliens-are-real-2023-2
https://www.scientificamerican.com/article/how-scientists-could-tell-the-world-if-they-find-alien-life/
https://www.bbc.com/future/article/20221101-should-extraterrestrial-life-be-granted-sentient-rights