ณ สถานพักพิงแห่งหนึ่งในจอร์แดน สัตว์ป่า ผู้ลี้ภัย ที่รอดชีวิตจากพื้นที่สงคราม การบาดเจ็บ และพวกลักลอบขนสัตว์ ได้พำนักพักกาย
ผู้ลี้ภัย – พาบลิโตเป็นสิงโตตัวแรกที่ผมเคยเห็นใกล้ๆ ลูกสิงโตน้อยอายุราวสี่เดือน เดินมาหาผมจากห้องที่มันใช้นอน ตอนกลางคืนในคอกที่ศูนย์นิวโฮป (New Hope Centre) สถานฟื้นฟูสัตว์ป่าในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน แต่จู่ๆ มันก็ชะงัก แล้วจ้องมองผม ดวงตาดูเศร้าสร้อยเปราะบาง เหมือนพยายามจะบอกอะไรสักอย่างด้วยภาษาร่วมอันไร้ถ้อยคำของเรา ชั่วขณะนั้น ผมรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าต้องบอกเล่าเรื่องราวของมัน
ก่อนพบกับพาบลิโตเมื่อปี 2018 ผมอยู่ระหว่างเดินทางไปถ่ายภาพเด็กหญิงตัวน้อยชื่อ ซะห์รา ตอนนั้น เธอเป็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอายุเจ็ดขวบที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ค่ายแห่งหนึ่งในจอร์แดน ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ผมใช้กล้องถ่ายภาพบอกเล่าเรื่องราวความหวัง การยืนหยัด และการอยู่รอด หลายครั้งหลายหน ผมได้ไปเยือนสถานที่ที่แหลกลาญเพราะความขัดแย้ง รวมทั้งสถานที่ซึ่งผู้คนที่หนีจากหายนะมาดิ้นรนต่อสู้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
แล้วผมก็ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคลินิกนิวโฮปที่มอบโอกาสครั้งที่สองให้ชีวิตไร้ที่พึ่งอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ ส่ำสัตว์ผู้บอบช้ำและถูกทอดทิ้งที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากสวนสัตว์ที่ล้มเหลวด้านการจัดการ ช่วยชีวิตจากพื้นที่สงคราม หรือยึดจากขบวนการลักลอบขนสัตว์
นิวโฮปทำหน้าที่เป็นสถานกักโรคและศูนย์ฟื้นฟูสำหรับสัตว์ ซึ่งในท้ายที่สุดจะย้ายไปอยู่ที่อัลมะวาเพื่อธรรมชาติและสัตว์ป่า (Al Ma’wa for Nature and Wildlife) ศูนย์พักพิงกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตรและมีอาณาบริเวณเกือบ 700 ไร่ ในเทือกเขาจาราชทางตะวันตกเฉียงเหนือของจอร์แดน ที่นี่เป็นบ้านของเต่าบกตัวหนึ่งที่เป็นอัมพาตจากโรคกล้ามเนื้อและโครงกระดูกผิดปกติ และได้รับการช่วยเหลือมาเมื่อปี 2016 จากสวนสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุดในโลกที่กาซา นอกจากนี้ อัลมะวา (แปลว่า “ที่พักพิง” ในภาษาอาหรับ) ยังเป็นบ้านของกลุ่มสิงโตแอฟริกันและหมีดำเอเชียจากแมจิกเวิลด์ สวนสนุกและสวนสัตว์ย่านชานเมืองอะเลปโปในซีเรียที่ยับเยินจากสงคราม
ผมเริ่มแวะเวียนไปที่นั่นเป็นประจำ การบันทึกภาพชีวิตสัตว์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ช่วยเปิดหูเปิดตา ก่อนหน้านั้น งานของผมมักมุ่งเน้นชีวิตผู้คนที่ติดอยู่ท่ามกลางความอลหม่าน ความทุกข์ยากของมนุษย์ และการ ทำลายล้าง ตอนนี้ ผมกำลังเผชิญหน้ากับส่ำสัตว์ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวข้องอันใด กับพวกมัน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ สัตว์เหล่านี้คงตายเพราะระเบิด ใช้ชีวิตท่ามกลางดงกระสุน หรือไม่ก็ถูกทิ้ง ให้อดตาย
สัตว์ที่ช่วยมาจากสวนสัตว์ที่ไปไม่รอดหรืออยู่ในพื้นที่สงคราม ซึ่งมักไม่มีไฟฟ้าและน้ำ ไม่ต้องพูดถึง ทุนสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่ดูแล ส่วนใหญ่ไม่มีบ้านหรือถิ่นอาศัยให้กลับไปอยู่ แหล่งพักพิงอัลมะวาให้ที่ลี้ภัยถาวร แก่สัตว์ “ไร้รัฐ” เหล่านี้
พาบลิโต ลูกสิงโตตัวน้อย จะกลายเป็นหนึ่งในนั้น การถูกขังในกรงเล็กแคบที่สวนสัตว์ทำให้พาบลิโตบอบช้ำ ผู้ดูแลมันบอกกับผม เจ้าสิงห์น้อยมีแผลเป็นขนาดใหญ่บนจมูกจากการพยายามแหกกรงซ้ำๆ แต่หลังเข้ามาอยู่ที่ นิวโฮปได้เพียงเดือนเดียว พาบลิโตก็เริ่มฟื้นตัว ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงเฝ้าดูมันเล่นกับกิ่งไม้กับถุงกระสอบที่ห้อย จากเพดานคอกขนาด 150 ตารางเมตร กระโจนเข้าออกบ้านเด็กเล่น ส่งเสียงคำราม พอตกกลางคืนก็ผล็อยหลับ บนกองฟาง
ต่อมาผมได้พบกับสกูเตอร์ เต่าบกที่เป็นอัมพาตจากการเลี้ยงดูผิดๆ หลังทำกายภาพบำบัดในน้ำและได้รับอาหารเสริมวิตามินเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นอยู่แปดเดือน สกูเตอร์ก็เริ่มขยับแข้งขาได้ ปัจจุบัน มันเดินต้วมเตี้ยมไปมาบนพื้นโดยมีสเกตบอร์ดแผ่นหนึ่งช่วยพยุงตัว
เจ้าหญิงอาเลีย อัล ฮุสเซน พระราชธิดาองค์โตของกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนผู้ล่วงลับ ตรัสกับผมว่า พระองค์ทรงเริ่มคิดจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสัตว์เมื่อปี 2009 ตอนที่มีคณะละครสัตว์เร่คณะหนึ่งมาแวะแสดงในจอร์แดน สัตว์หลายตัวของคณะอยู่ในสภาพย่ำแย่ ลูกสิงโตตัวหนึ่งถูกถอดเล็บและมีอาการเจ็บอุ้งเท้า เจ้าหญิงอาเลียทรงพบในเวลาต่อมาว่า ใบอนุญาตของคณะละครสัตว์คณะนี้ ซึ่งออกโดยกระทรวงเกษตรของอียิปต์ เป็นของปลอม
พระองค์ตรัสว่า ในตอนนั้น ชาวจอร์แดนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ ตอนนั้นเอง ที่พระองค์ทรงเข้าใจถึงความจำเป็นในการทำโครงการริเริ่มอย่างศูนย์นิวโฮปโดยผ่านทางมูลนิธิเจ้าหญิงอาเลีย (Princess Alia Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร พระองค์ ทรงร่วมมือกับโฟร์พอว์ส (Four Paws) องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ในกรุงเวียนนา เมื่อเดือนมกราคม ปี 2010 ศูนย์นิวโฮปต้อนรับผู้ป่วยรายแรกเป็นไฮยีนาลายพาดชื่อ ด็อบบี ที่ช่วยมาจากสวนสัตว์ในท้องถิ่น ในปีรุ่งขึ้น อัลมะวาก็เปิดดำเนินงาน
“เราพยายามเต็มที่เพื่อให้ผู้มาเยือนเข้าใจครับว่า สัตว์ป่าตามสวนสัตว์ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” มาเร็ก เตรลา สัตวแพทย์และซีอีโอของอัลมะวา บอกผม “สถานการณ์ในอุดมคติคือปล่อยพวกมันกลับสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นพวกเกิดในสถานเพาะเลี้ยง ก็อาจเป็นไปไม่ได้ครับ” แต่เป็นไปได้ที่จะมอบสภาพความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นแก่สัตว์เหล่านี้ เขาเสริม
ที่อัลมะวา ซึ่งดำเนินงานด้วยเงินบริจาคเป็นส่วนใหญ่ สัตว์ต่างๆ ยังอยู่ในรั้วรอบขอบชิด แต่สามารถ เข้าถึงพื้นที่เปิดโล่งได้และเพลิดเพลินกับสภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติมากกว่าเดิม ศูนย์พักพิงแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่า เมดิเตอร์เรเนียนผืนท้ายๆ ของประเทศ ที่นี่อุดมไปด้วยต้นโอ๊กไม่ผลัดใบ ต้นสน และสตรอว์เบอร์รีต้น
แม้ศูนย์จะไม่ได้ใหญ่โตเป็นพิเศษ แต่ก็ให้ที่พักพิงสะดวกสบายสำหรับสัตว์ 70 ตัว รวมถึงสิงโตแอฟริกา 24 ตัว หมีสีน้ำตาลซีเรีย แปดตัว หมีสีดำเอเชียสองตัว เสือโคร่งเบงกอลสองตัว ไฮยีนาลายพาดสองตัว ไฮยีนาลายจุดหนึ่งตัว และหมาป่า อีกแปดตัว ซึ่งตัวหนึ่งได้รับความช่วยเหลือหลังถูกประกาศขายบนเฟซบุ๊ก
ในแต่ละสัปดาห์ สัตว์เหล่านี้กินเนื้อสัตว์มากกว่า 575 กิโลกรัม เป็นเศษเนื้อขายไม่ได้ที่ได้รับบริจาค จากซูเปอร์มาร์เก็ตและโรงฆ่าสัตว์กับผักผลไม้อีกกว่า 1,800 กิโลกรัม สัตว์ส่วนใหญ่มาถึงศูนย์แห่งนี้โดยไม่มี เวชระเบียน ไม่มีใครรู้รายละเอียดส่วนใหญ่ที่เป็นภูมิหลังของพวกมัน เหล่าผู้ดูแลต้องใช้เวลาเรียนรู้พวกมันไปทีละตัว พร้อมกับดูแลให้มั่นใจได้ว่า สัตว์แต่ละตัวได้รับความสะดวกสบายที่พวกมันปรารถนา
เหล่าผู้ดูแลจะคอยคุมไม่ให้ผู้เยี่ยมชมทำสิ่งที่เป็นการกระตุ้นสัตว์เหล่านี้ ส่วนผู้มาเยี่ยมชมก็ได้เรียนรู้ ความแตกต่างระหว่างสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ขณะที่สัตว์ป่าบางตัวอาจฝึกให้เชื่องได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเคียงข้าง หรือกระทั่งพึ่งพามนุษย์ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาหลายพันปีในการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ชนิดพันธุ์ที่มีการปรับตัวทางพันธุกรรมจนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับพวกเราได้
ผมสัมผัสได้ว่า อัลมะวาเป็นพื้นที่รอยต่อแบบหนึ่ง ซึ่งพวกสัตว์ผูกสัมพันธ์กับผู้ดูแลอย่างเห็นได้ชัด พวกมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ป่าขนานแท้เช่นกัน
ความข้อนี้เห็นได้ชัดเจนสำหรับผม เมื่อเสือชื่อทาชและสกายปรากฏตัวขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเพราะได้ยินเสียงผู้ดูแลพวกมัน และเมื่อเจ้าบัลลูมาตะกายรั้วทันทีที่ผู้ดูแลเรียกชื่อมัน พอผมลองเรียกชื่อสัตว์บางตัวบ้าง แต่ไม่มีตัวไหนมีทีท่าสนใจแม้แต่น้อย
ผมรู้สึกใจสลายเมื่อได้รับรู้ว่าสัตว์เหล่านี้แต่ละตัวเคยประสบอะไรมาบ้าง กระนั้น ทุกครั้งที่ผมจากมา ผมก็แทบรอวันได้กลับไปอีกไม่ไหว ทุกครั้งที่ไปจอร์แดน ผมจะแวะไปที่นั่นเสมอ
ตั้งแต่ปลายปี 2018 เป็นต้นมา ผมไปเยือนศูนย์นิวโฮปและอัลมะวาราว 25 ครั้งได้ (นิวโฮปถูกยุบรวม ในเดือนกันยายน ปี 2021 และย้ายเจ้าหน้าที่กับสัตว์ทั้งหมดไปไว้ที่อัลมะวา) ผมเฝ้าดูสัตว์บางตัวเติบโตขึ้น ดีใจที่ได้เห็นพวกมันใช้ชีวิตอย่างที่ควรได้รับ และนั่นคือสิ่งที่ดึงผมกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อไปถึงอัลมะวาในวันศุกร์เมฆครึ้มวันหนึ่งของเดือนมีนาคม ผมกระตือรือร้นอยากไปดูพวกเสือเป็นพิเศษ พอเดินเข้าใกล้คอกหนึ่ง สิงโตรูปร่างงามสง่า ตัวสูงใหญ่ มัดกล้ามแข็งแรงตัวหนึ่งก็เดินมาที่รั้ว มันผงกหัวให้ผมแล้วเดินอย่างสงบมุ่งไปทางหมู่ไม้ แผลเป็นเล็กๆ บนจมูกของมันบอกให้ผมรู้ว่า มันคือพาบลิโต ลูกสิงโตตัวน้อยที่ผม เจอครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน ตอนนี้มันถูกเรียกว่า พาโบล อันเป็นชื่อวัยผู้ใหญ่ของมัน
ผมแทบไม่อยากเชื่อ มันจำผมได้
เรื่องและภาพถ่าย มุฮัมมัด มูเฮเซน
แปล อัครมนุนี วรรณประไพ
ติดตามสารคดี ผู้ลี้ภัยที่คาดไม่ถึง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/584135