ทำไมบางคน เห็นผี แต่บางคนไม่เห็น! เคล็ดลับก้าวแรกอยู่ที่ “ความเชื่อ”
บุคลิกภาพ ภูมิหลัง และการรับรู้ของเราล้วนมีบทบาทต่อประสบการณ์นี้ ความเชื่ออาจเป็นก้าวแรกที่สำคัญ การรับรู้เป็นตัวทำนายที่จะมองเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติได้ดี และภูมิหลังทางศาสนาก็ส่งผลต่อรูปแบบของสิ่งที่มองเห็น
ข้อมูลการสำรวจจากสหรัฐอเมริการะบุว่าร้อยละ 18 ของชาวอเมริกัน เคยมีประสบการณ์เห็นผีหรือแม้แต่อยู่ตรงหน้าผี ในทางเดียวกันร้อยละ 29 ก็ระบุว่าพวกเขารู้สึกเคยติดต่อกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
แต่ทำไมคนราว ๆ 1 ใน 3 รับรู้ถึงวิญญาณ แต่คนอีก 2 ใน 3 กลับมองไม่เห็น และดูเหมือนว่าบางคนจะเห็นมากกว่าคนอื่น ๆ อีกด้วย
‘ถ้าคุณเชื่อว่ามี มันก็จะมีอยู่จริง’
คริสโตเฟอร์ เบเดอร์ (Christopher Bader) นักสังคมวิทยาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ข้อกำหนดแรกสุดสำหรับการมีผีอยู่ในบ้านก็คือ ‘คน’ ที่เชื่อว่ามีผีอยู่ในบ้าน”
การรับรู้ของเราเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวไม่ว่าจะช่วงเวลาใดก็ตามนั้นขับเคลื่อนด้วยความคาดหวัง ความต้องการ และความเชื่อ แต่ความเชื่อนั้นมีพลังมากที่สุด และสิ่งนี้จะเด่นชัดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประสาทสัมผัสของเราที่คอยรับข้อมูลนั้นไม่ชัดเจนและคลุมเครือ หลายครั้งเราที่ได้ยินเสียงแปลก ๆ ในบ้าน ความเชื่อผลักดันให้เรา ‘เชื่อ’ เสียงที่เกิดขึ้นนั้นว่ามาจากสิ่งที่เรา ‘เชื่อ’
การศึกษาในปี 2013 ที่ชื่อว่า ‘Supernatural Agency : Individual Difference Predictors and Situational Correlates’ ระบุเอาไว้ว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาตินั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายหรือคลุมเครือ สมองของเราจะตอบสนองภายในไม่กี่เสี้ยววินาทีเพื่อให้เราตื่นตัวมากขึ้น จากนั้นก็ประมวลผลอย่างรวดเร็ว และสรุปออกมาว่าเสียงเอี๊ยดอ๊าดในบ้านเกิดจากผีที่เดินไปมา หรือเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ที่น่ากลัว
ในทางกลับกัน คนที่ไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติจะหาเหตุผลอื่น ๆ มากกว่า อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาตลอด จึงไม่แปลกที่เรื่องลึกลับจะแพร่หลายไปในประชากรทั่วไป
การสำรวจโดย ‘Gallup Polls’ เมื่อปี 2001 และปี 2005 ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันประมาณ 75% มีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างน้อย 1 ข้อ (รวมผีและอื่น ๆ) และมีคน 50% ในกลุ่มนั้นยอมรับความเชื่อเหล่านี้มากพอจนสามารถจัดอยู่ในประเภท ‘ผู้ศรัทธา’ ได้
ตามปกติแล้วนักจิตวิทยาจะใช้ ‘มาตราส่วนความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ ฉบับปรับปรุง ’ (Revised Paranormal Belief Scale) ที่จัดพิมพ์โดย เจโรเม โทบาซีค์ (Jerome Tobacyk) ซึ่งแบ่งความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเอาไว้ 6 ข้อคือ การรับรู้ล่วงหน้า (สามารถคาดการณ์อนาคตได้), รูปแบบสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมตา (เช่นเอเลี่ยนหรือสัตว์ประหลาดต่าง ๆ)
วิญญาณ (สื่อสารกับคนตายได้), ไสยศาสตร์ (เลข 13 เป็นเลขโชคร้าย), คาถา (มนต์ดำ) และ Psi (ตัวอักษรกรีก ψ มักใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิทยา ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกประสาทการรับรู้และอธิบายทางกายภาพหรือทางชีววิทยาไม่ได้ ในที่นี้คือ พลังจิต การอ่านใจ และอื่น ๆ)
นักวิจัยพบว่าผู้ที่เชื่อในทั้ง 6 ข้อนี้มีแนวโน้มที่จะยอมรับทฤษฎีสมคบคิดและวิทยาศาสตร์เทียมมากกว่า นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายมักจะเชื่อในเรื่องรูปแบบสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นเอเลี่ยนหรือสัตว์ประหลาดมากกว่า
โดยสรุปแล้ว “ความเชื่อ” เป็นก้าวแรกในการสร้างประสบการณ์เหนือธรรมชาติในแต่ละบุคคล
‘รูปแบบการรับรู้ที่แตกต่างกันก็มองโลกแตกต่างกัน’
มีโมเดลทางจิตวิทยาจำนวนมากที่พยายามอธิบายและทำความเข้าใจสไตล์การรับรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งบางรูปแบบก็ง่าย และบางรูปแบบก็ซับซ้อน และหนึ่งในนั้นคือทฤษฎีของ คาร์ล จุง (Carl Jung) และการจัดประเภทของ ไมเยอร์-บริกกส์ (Myers-Briggs) ที่แบ่งประเภทบุคคลตามรูปแบบของการรับรู้แตกต่างกัน 16 รูปแบบ
แต่นักวิจัยพบว่ามีรูปแบบบางอย่างสามารถทำนายความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ใช้สัญชาตญาณทำความเข้าใจโลก และใช้การวิเคราะห์ทำความเข้าใจโลก พวกเขาชี้ว่าผู้ที่มีรูปแบบการรับรู้ตามสัญชาตญาณมักจะ ‘ไปตามสัญชาตญาณ’ เพื่อเข้าถึงแนวทางที่แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นในความรู้สึกนั้นว่าเป็นความจริง
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีรูปแบบการรับรู้เชิงวิเคราะห์จะดำเนินไปช้ากว่า และมีระเบียบวิธีในการหาข้อมูลเชิงประจักษ์กับพยายามหลีกเลี่ยงการถูกอารมณ์และสัญชาตญาณให้มามีอิทธิพลในการหาคำตอบมากเกินไป ซึ่งการรับรู้ทั้งสองแบบต่างก็มีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ แต่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการรับรู้แบบใช้สัญชาตญาณนั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมากขึ้น
‘บุคลิกภาพก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ’
ผลการศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า บุคคลที่ได้คะแนนสูงในด้านบุคลิกภาพที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ การแสดงความสนใจต่อสิ่งภายนอก หรือการแสวงหาความรู้สึก ต่างก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเหนือธรรมชาติ มากกกว่าคนที่ได้คะแนนคุณสมบัติด้านเหล่านี้น้อย รวมถึงคนที่ไม่เรียกตัวเองว่า ‘ขยัน’ (ไม่คิดว่าตัวเองขยัน แต่ก็ไม่ขี้เกียจ) ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเช่นกัน
ดร. แฟรงค์ แมตแอนดรูว์ (Frank McAndrew) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่วิทยาลัยน็อกซ์ (Knox College) เคยทำการทดลองกับนักเรียนของเขา 2 คนและพบว่า บุคคลที่ไม่อดทนกับความคลุมเครือ ชอบความชัดเจน และอึดอัดกับความไม่แน่นอนนั้น มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องผีหรืออาจเคยเจอผี เพราะให้คำตอบที่รวดเร็ว หากคุณเคยเห็นผี เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีบุคลิกภาพแบบนี้
‘ภูมิหลังทางศาสนาก็มีส่วนเช่นเดียวกัน’
เกือบทุกศาสนาต่างกล่าวถึงโลกหลังความตาย หรือไม่ก็แสดงว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด จนงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า คนที่เคร่งศาสนามักจะไม่มีความกลัวตายมากกว่าคนอื่น ๆ หรือยอมรับความตายได้ง่ายกว่า
แต่มีหลักฐานบางชิ้นที่น่าแปลกใจ ซึ่งให้เบาะแสว่า ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น ‘ผู้เชื่อ’ แต่กลับไม่เข้าร่วมกิจรรมทางศาสนาเป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องผีมากกว่าผู้ที่มีความเชื่อทาศาสนาแบบสุดโต่งถึง 2 เท่า (แบบสุดโต่งคือ ไม่เชื่อเลย และศรัทธาอย่างลึกซึ้ง)
และเนื่องจากศาสนาส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มเทพเจ้า วิญญาณ เทวดา หรือปาฏิหาริย์ที่น่าประทับใจ ดังนั้นหลักคำสอนหรือเรื่องราวทางศาสนาอาจเป็นตัวกำหนดรูปแบบสิ่งที่เราเห็น เช่นในศาสนาคริสต์อาจมองเห็นเป็นวิญญาณชั่วร้าย หรือเทวดา ขณะที่คนศาสนาอื่นอาจมองเห็นเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือผีขอส่วนบุญ
‘มันอาจเกิดจากสมองล้วน ๆ’
รายงานทางวิทยาศาสตร์ระบุไว้ว่าประมาณ 50% ของผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน เคยเห็นภาพหลอน และภาพหลอนเหล่านั้นบางครั้งก็ปรากฎขึ้นมาในรูปแบบของผีหรือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ในอีกทางหนึ่ง โอลาฟ แบลงก์ (Olaf Blanke) นักประสาทวิทยาเคยแสดงไว้ว่า การหยุดชะงักของสารสื่อประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าและบริเวณขมับอาจเป็นตัวการให้ผู้ป่วยพาร์กินสันมีอาการประสาทหลอน
ดังนั้นมันจึงดูเหมือนว่าการเห็นผีอาจเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่มีรากฐานมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ เหตุการณ์ทางชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง หรือแม้แต่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น นักปีนเขาสูง นักสำรวจขั้วโลก และกะลาสีเรือโดดเดี่ยว ที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ ระดับออกซิเจนต่ำ และแยกตัวออกจากสังคม มักรายงานว่าเห็นผี หรือมีอาการประสาทหลอน
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นไปได้ว่าทำไมบางคนเห็นผี แต่บางคนไม่เห็น
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Febe Vanermen on Unsplash
ที่มา
.
https://www.psychologytoday.com/us/blog/out-of-the-ooze/202110/why-some-people-see-ghosts-but-others-never-do?fbclid=IwAR3x5iH0ddTH7Aj3F2zwbC8xe4tyTpVHB2CBWGhFoOd66wGngcijifQe9Q8
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/10508619.2013.739066
https://blogs.bcm.edu/2018/10/26/why-do-people-see-ghosts/
https://www.apa.org/news/podcasts/speaking-of-psychology/paranormal
https://dictionary.apa.org/psi