2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีคือ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) และเมื่อเอ่ยถึงคำว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) เราก็มักนึกถึงพื้นที่เขียวขจีอันกว้างใหญ่ และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายชนิด
ภาพจำแบบนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ามองแต่ความยิ่งใหญ่ คนธรรมดาตัวเล็กๆ อย่างเราก็นับวันจะห่างไกลกับพื้นที่ชุ่มน้ำไปทุกที และนั่นก็ทำให้คำว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” กลายเป็นเรื่องของรัฐ หรือไม่ก็กลุ่มอนุรักษ์ที่จะคอยส่งเสียงด้วยความหวงแหน
อันที่จริงแล้วลักษณะของความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ใกล้กับเรามากกว่าที่คิด และหากใครยังนึกไม่ออกให้คิดถึงพื้นที่รกๆแฉะๆ ที่ไม่ไกลจากบ้าน พื้นที่ว่างซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สวนสาธารณะ ไร่ นา ฯลฯ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่แต่ก็มีองค์ประกอบของทั้งน้ำและดิน มีทั้งหญ้า ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อย่างแมลง สัตว์เลื้อยคลาน นก ฯลฯ
นิยามของ “พื้นที่ชุ่มน้ำ” นั้นกว้าง นี่คือคำเรียกพื้นซึ่งมีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิดที่อาศัยทรัพยากรน้ำและทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งในคู่มืออนุสัญญาแรมซาร์ (The Ramsar Convention Manual) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แบ่งประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 5 ประเภท คือ 1. พื้นที่ทางทะเล (Marine) 2. พื้นที่ปากแม่น้ำ (Estuarine) 3. พื้นที่ทะเลสาบ (Lacustrine) 4. พื้นที่แหล่งน้ำไหล (Riverine) และ 5. พื้นที่หนองน้ำ หรือที่ลุ่มชื้นแฉะ (Palustrine) ทั้งนี้ยังรวมถึงพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น นาข้าว สวน นาเกลือ คลองที่ขุดขึ้น
แม้จะเป็นนิยามตามอนุสัญญา แต่พื้นที่ชุ่มน้ำไม่ต้องจำกัดแค่เพียงพื้นที่ใหญ่โตนับพันนับหมื่นไร่ แต่ยังสามารถสร้างได้ในสวนเกษตร และทุกวันนี้ก็มีแนวทางที่เรียกว่าพื้นที่อนุรักษ์โดยเอกชน ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลทั่วไป บริษัท องค์กรต่างๆ แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่อนุรักษ์โดยชุมชน ซึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างแต่นั่นก็สามารถช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในชั้นดินไม่ให้ออกไปยังชั้นบรรยากาศ ช่วยกรองของเสียด้วยการดูดซับสารพิษ โดยเฉพาะสารพิษที่มาจากพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน รวมถึงทำหน้าที่เป็นแหล่งนันทนาการ
ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นจุดเชื่อมต่อนิเวศทางน้ำและบกเข้าหากัน เป็นแนวเชื่อมต่อตามธรรมชาติซึ่งความเป็นพื้นที่ซึ่งกระจายตัวไปตรงนั้นตรงนี้ มันสำคัญต่อพวกพืชและสัตว์ ที่จะเดินทาง ใช้ชีวิต แพร่พันธุ์กันได้ เปรียบได้กับการเป็นบ้านของสัตว์ระหว่างทาง เช่นนกอพยพ ซึ่งต้องเดินทางไกลมาก พวกพื้นที่เหล่านี้จึงสำคัญมาก ยิ่งอยู่ในเขตเมืองซึ่งนับวันพื้นที่เช่นนี้เหลือน้อยก็ยิ่งให้ประโยชน์กับสัตว์ในการพักอาศัย
อย่างไรก็ดี ในบริบทที่เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เพราะถูกมองว่าเป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ โดยมีข้อมูลว่าตั้งแต่หลังปี 1900 เป็นต้นมา โลกอาจสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปแล้วถึง 87% ของที่เคยมี อีกทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำลดลงในอัตราที่เร็วกว่าพื้นที่ป่าถึงสามเท่า ซึ่งสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของเมือง และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การเปลี่ยนไปใช้อาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบมากขึ้น นำไปสู่การแผ้วถางและเพาะปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่
ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม และการเชิญชวนให้ผู้คนหันมาเปลี่ยนภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำให้อยู่ในจุดที่เราเข้าถึงได้ เวลาเดียวกันนี้จึงมีแนวคิด Rewilding หรือการฟื้นคืนธรรมชาติท้องถิ่นให้กลับมาสมบูรณ์ โดยการฟื้นคืนธรรมชาติที่ต้องทำในเมือง
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว อธิบายถึงแนวคิดในการฟื้นธรรมชาติตอนหนึ่งว่า เราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติได้ในหลายรูปแบบ และธรรมชาติหมายรวมพื้นที่ธรรมชาติทุกอย่าง ในระดับบุคคลที่เราทำกันเองได้ เช่น สวนหน้าบ้าน สวนดาดฟ้า ก็จะถูกเรียกว่า Rewilding Garden ซึ่งคือการปล่อยให้พืชและสัตว์พื้นถิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติกลับคืนมา อย่างพืชป่าที่คนเรียกว่า “วัชพืช” ขึ้นตามคันนา เพื่อสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประคับประครองพื้นที่ไม่ให้ถูก takeover จากธรรมชาติมากจนเกินไป
ตัวอย่างของแนวคิด Rewilding จึงทำได้ตั้งแต่ระดับครอบครัว หรือในหน่วยย่อยเล็กๆ ระดับเมือง การมีสวนสาธารณะ การสร้างเมืองที่ให้ธรรมชาติเติบโตไปพร้อมกับสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ก็สามารถทำได้
“เช่นที่สิงคโปร์เรียกตัวเองว่า City in the Garden เป็นเมืองในสวน ด้วยนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวที่ชัดเจนและเข้มงวด ส่วนลอนดอนคิดไปอีกขั้น ตั้งเป้าให้เป็น City in the National Park เมืองในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้คะแนนโหวตจากชาวเมืองเอง แน่นอนว่าลอนดอนไม่ปล่อยให้เมืองเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาครอบครองทุกจุด แต่สามารถออกแบบพื้นที่และการจัดการได้ ดร. สรณรัชฎ์ ยกตัวอย่างสวนสาธารณะที่มีรูปแบบเป็นทางการอย่าง St.James’s Park สวนหลวงที่ตั้งอยู่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งจัดแต่งอย่างมีระเบียบ ก็ยังมีพื้นที่ที่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ชายน้ำ มีพงไม้ริมน้ำขึ้นอย่างอิสระ มีความรกเรื้อบ้าง เพื่ออนุญาตให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นได้เติบโต เราต้องอนุญาตให้สวนสาธารณะรกได้ เพราะความรกคือการอนุญาตให้ความเป็น ‘ป่า’ กลับมา
การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในความหมายของการรื้อฟื้น ‘ป่าในเมือง’ จึงเป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และแน่นอนว่าคำว่าป่าไม่ใช่การยกป่าดงดิบเขียวชอุ่มมาไว้กลางเมืองใหญ่ แต่คือการฟื้นระบบนิเวศเดิมให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับหน่วยย่อยบุคคลหรือครอบครัว อาทิ การเลือกปลูกพืชพรรณท้องถิ่นไว้ในสวนหรือระเบียงบ้าน ก็ช่วยให้ระบบนิเวศดั้งเดิมของเมืองใหญ่ค่อยๆ ปรับสมดุลกลับมาเป็นที่พำนักอาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่
เป็นแหล่งอาศัยของ นก แมลง ปลา ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกในสังคมเมืองที่หลายครั้งถูกหลงลืม แต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศยังดำเนินต่อไปได้นั่นเอง
อ้างอิง