โลงศพไม้ในถ้ำกว่า 40 แห่งที่ ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย เผยดีเอ็นเอโบราณที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าโครงสร้างวัฒนธรรมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น
ปางมะผ้า – ป่าผลัดใบและป่าดิบได้ครอบครองแนวหินบนที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้มีถ้ำและที่พักพิงหินจำนวนมากกระจายอยู่ตามภูเขามากกว่า 40 แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นักวิทยาศาสตร์พบว่าถ้ำเหล่านั้นมี “โลงศพไม้ขนาดใหญ่” ที่มีอายุระหว่าง 2,300 ถึง 1,000 ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงสมัยยุคเหล็ก
โดยโลงศพแต่ละโลงยาวหลายเมตร ถูกสร้างขึ้นจากต้นไม้สักต้นเดียว พร้อมกับมีการแกะสลักรูปทรงเรขาคณิต สัตว์ หรือมนุษย์อย่างประณีตที่ปลายทั้งสองข้าง
การรวบรวมทางโบราณคดีนี้ได้รับการศึกษามานานกว่า 20 ปีโดยสมาชิกของโครงการการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์รัศมี ชูทรงเดช จากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
“งานวิจัยของเราตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมในเขตร้อนตามฤดูกาล โดยมีสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การสำรวจโครงสร้างทางสังคมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ ตลอดจนอธิบายความเชื่อมโยงของพวกเขากับกลุ่มก่อนยุคหินใหม่ ยุคหินใหม่ และหลังยุคหินใหม่ในภูมิภาคนี้” ศาสตราจารย์รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีและผู้เขียนอาวุโสของการศึกษากล่าว
เพื่อทำความเข้าใจลักษณะทางพันธุกรรมของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโลงศพไม้และความสัมพันธ์ของบุคคลที่ถูกฝังอยู่ในถ้ำต่าง ๆ ทีมนักวิจัยจากทั้งประเทศเยอรมนีและไทยได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอของบุคคลโบราณ 33 คนจากแหล่งโลงศพไม้ 5 แห่ง ซึ่งจีโนมเหล่านี้เป็นการศึกษารายละเอียดครั้งแรกเกี่ยวกับโครงสร้างของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าดีเอ็นเอโบราณสามารถมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจชุมชนในอดีต ชีวิตประจำวันของพวกเขา และความเชื่อมโยงข้ามภูมิภาคได้อย่างไร” เซลินา คาร์ลฮอฟฟ์ (Selina Carlhoff) นักวิจัยจากภาควิชาโบราณคดีวิทยาที่สถาบัน Max Planck Institute for Evolutionary anthropology กล่าว
การศึกษาภูมิทัศน์ทางพันธุกรรมที่ซับซ้อนในแผ่นดินใหญ่หลังยุคหินใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีข้อจำกัดมากมาย เนื่องจากการเก็บรักษาดีเอ็นเอในเขตร้อนเองถือเป็นเรื่องท้าทาย ทำให้การศึกษาทางพันธุกรรมของประชากรโบราณทำได้ยากขึ้น ที่ผ่านมา การศึกษาส่วนใหญ่จะจำกัดเฉพาะบุคคลเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นตัวแทนของประเทศและช่วงเวลาหนึ่ง และระบุเฉพาะรูปแบบกว้าง ๆ เท่านั้น
เช่น การผสมทางพันธุกรรมของเกษตรกรจากหุบเขาแม่น้ำแยงซีทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยมีกลุ่มยีนที่เกี่ยวข้องกับนักล่า-เก็บเกี่ยว ‘เฮาบินเฮียน’ (Hòabìnhian) ในท้องถิ่นในช่วงก่อนยุคหินใหม่ แต่ในการศึกษาปัจจุบันนี้ ได้ระบุถึงบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรสองคนที่แยกจากกันในโลงศพไม้ ซึ่งแห่งหนึ่งเชื่อมต่อกับหุบเขาแม่น้ำแยงซี และอีกแห่งหนึ่งเชื่อมต่อกับหุบเขาแม่น้ำเหลืองในประเทศจีน
แม้ว่าบุคคลที่ตีพิมพ์ในก่อนหน้านี้ที่มาจากเมียนมา ลาว และเวียดนามจะมีบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเหลือง แต่ก็ไม่มีใครในบุคคลยุคสำริดและเหล็กจากบ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ถูกพูดถึงเลย
ทั้งที่ความแตกต่างทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้สะท้อนถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสองภูมิภาค เช่น พิธีเก็บศพและอาหาร และชี้ไปที่ขอบเขตอิทธิพลที่แยกจากกันกับความเชื่อมโยงที่แบ่งเส้นทางการอพยพเริ่มแรกระหว่างยุคหินใหม่
“ผลลัพธ์ของเรามีส่วนทำให้เกิดภาพใหม่ของภูมิทัศน์ทางพันธุกรรมที่ซับซ้อนในแผ่นดินใหญ่หลังยุคหินใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ให้ผลลัพธ์ทางพันธุกรรมที่ประสบความสำเร็จจากตัวอย่างในถ้ำหินปูนบนพื้นที่สูงทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย” รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย กล่าว
จากการศึกษาตัวอย่างที่เก็บมาจากแหล่งโบราณคดีพื้นที่ขุดค้นดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างดี หากเป็นไปได้ พวกเขาจะสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติทางพันธุกรรมของแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้” วิภู กล่าวเสริม
ขณะเดียวกันการวิเคราะห์โดยละเอียดของเครื่องหมายก็จะสามารถเปิดเผยประวัติประชากรศาสตร์เฉพาะเพศของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโลงศพไม้ โดยคาดว่าจะได้เผยในรายงานครั้งหน้า การศึกษาทางโบราณคดีเพิ่มเติมด้วยความร่วมมือกับนักวิชาการในท้องถิ่น ตลอดจนการสร้างแบบจำลองส่วนผสมใหม่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาสังคมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และทำให้สามารถเชื่อมโยงต่อไปกับข้อค้นพบและสมมติฐานทางโบราณคดีได้
การวิเคราะห์ทางโบราณคดีระดับชุมชนครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในระดับท้องถิ่นแล้ว การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ระดับชุมชนครั้งแรกทางโบราณคดีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยทีมวิจัยได้ใช้ส่วนของพันธุกรรมที่เหมือนกันในบุคคลสองคน ซึ่งหมายความว่าได้รับมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน
การวิเคราะห์ที่เรียกว่าบล็อก IBD (identical-by-descent หรือ เหมือนกันโดยการสืบเชื้อสาย) ช่วยให้เราสามารถติดตามรูปแบบความสัมพันธ์ทางชีววิทยาที่ซับซ้อนภายในพื้นที่และข้ามภูมิภาคได้ด้วยเช่นกัน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ถูกนำไปใช้ในการศึกษาทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งใดเลย
ในการศึกษานี้สามารถระบุญาติทางพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกันมักจะถูกฝังอยู่ในถ้ำเดียวกัน เช่น พ่อแม่และลูก หรือปู่ย่าตายายและหลาน แม้ว่าสิ่งนี้จะชี้ให้เห็นถึงการเลือกสถานที่ฝังศพภายที่ได้พิจารณาถึงความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม
กล่าวคือยิ่งความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมมีความห่างไกลกันมากขึ้น ระยะทางระหว่างที่ตั้งของโลงศพไม้ก็จะห่างกัน และมีระดับความสัมพันธ์ที่ต่ำ ซึ่งระบุได้จากความหลากหลายของไมโตคอนเดรียที่สูง (ยิ่งสูงยิ่งเกี่ยวข้องกันน้อย) และความหลากหลายของจีโนมต่ำ (ยิ่งต่ำยิ่งใกล้ชิดกัน) ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ยุคโบราณที่มีวัฒนธรรมโลงศพไม้นั้น มีขนาดค่อนข้างใหญ่และเชื่อมต่อถึงกันอย่างต่อเนื่องตามหุบเขาแม่น้ำต่าง ๆ
“ผลลัพธ์นี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากโลงศพไม้ยังถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมทางโบราณคดีอื่น ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปรียบเทียบรูปแบบความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางพันธุกรรมข้ามภูมิภาคจะเป็นโครงการความร่วมมือที่น่าสนใจในอนาคต ซึ่งอาจอธิบายพลวัตทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของประชากรภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ” ศาสตราจารย์รัศมี ชูทรงเดชกล่าว
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามองเห็นภาพเส้นทางการอพยพของผู้คนยุคโบราณได้ ซึ่งได้ส่งต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ เรื่อยมา และบางทีเราอาจสืบย้อนกลับไปได้ว่าจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่มีอยู่ในทุกวันนี้มาจากไหนบ้าง
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nature.com/articles/s41467-023-44328-2
https://www.eurekalert.org/news-releases/1033448