นักบุญวาเลนตินุส ผู้สร้างตำนานวันวาเลนไทน์ กับการส่งต่อความรักจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

นักบุญวาเลนตินุส ผู้สร้างตำนานวันวาเลนไทน์ กับการส่งต่อความรักจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

นักบุญวาเลนตินุส อาจเป็นชื่อที่หลายคนไม่คุ้นเคยนักเมื่อเทียบกับ นักบุญวาเลนไทน์ หรือ เซนต์วาเลนไทน์ แต่ทั้งสองชื่อนี้คือคนๆ เดียวกัน ในฐานะบุคคลที่เป็นต้นกำเนิดของวันวาเลนไทน์

ประวัตินักบุญวาเลนตินุส

นักบุญวาเลนตินุส เกิดเมื่อประมาณ ค.ศ. 226  ก่อนจะเติบโตมาเป็นนักบุญศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในโบสถ์ใกล้ๆ กรุงโรม ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน ซึ่งยุคสมัยของพระเจ้าคลอดิอุสที่ 2 มีการตั้งกฎหมายว่าห้ามมีการแต่งงานในเมืองที่พระองค์ปกครอง เนื่องจากทรงต้องการให้ผู้ชายทุกคนในเมืองไปเป็นทหารในการทำสงคราม โดยหากมีการแต่งงาน อาจทำให้ทหารไม่มีใจออกไปรบ

ทั้งนี้ นักบุญวาเลนตินุส รู้สึกเห็นใจชายและหญิงที่มีความรัก และต้องการจะแต่งงานกันในยุคนั้นจึงแอบทำพิธีแต่งงานให้กับผู้ชายผู้หญิงที่มีความรักอย่างลับๆ ซึ่งภายในงานมีเพียง เจ้าสาว เจ้าบ่าว และบาทหลวงเท่านั้น โดยนักบุญชาวคริสเตียนต้องกระซิบคำสาบานและการอธิษฐานในการแต่งงาน เพื่อไม่ให้ถูกจับได้

แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตาทหารของพระเจ้าคลอดิอุส ที่ต่อมาได้มาพบเห็นการทำพิธีแต่งงานในเมือง เรื่องราวการลักลอบจัดงานแต่งงานของ นักบุญวาเลนตินุส ก็รู้ไปถึง พระเจ้าคลอดิอุส จึงทรงสั่งให้จับตัว นักบุญวาเลนตินุส ฐานขัดคำสั่ง และลงโทษจำคุก รวมถึงทรมาน

อย่างไรก็ตาม ในคุกผู้ที่ได้แต่งงานกันโดย นักบุญวาเลนตินุส มักแอบมาเยี่ยมอยู่เสมอ เพราะชื่นชมในความดีและความกล้าหาญของท่าน ขณะที่ผู้คุมคุกชื่อ แอสทีเรียส ที่มีลูกสาวที่ตาบอดชื่อ จูเลีย เขาได้ขอให้นักบุญวาเลนตินุสช่วยรักษาเธอ จูเลีย สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง หลังจากนั้นเธอก็เดินทางมาเยี่ยมเซนต์วาเลนไทน์ที่คุกอยู่เสมอ

กระทั่งพระเจ้าคลอดิอุสได้ตัดสินใจสั่งประหาร นักบุญวาเลนตินุส ก่อนถึงวันประหาร เขาได้เขียนจดหมายถึง จูเลีย ลูกสาวของแอสทีเรียสพร้อมลงท้ายด้วยคำว่า “From your valentine” จากนั้น นักบุญวาเลนตินุส ในวัย 47 ปีก็ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 269

 

เรื่องราวหลังการจากไปของ นักบุญวาเลนตินุส

จูเลีย ได้ปลูกต้นอัลมอนด์สีชมพูไว้ใกล้หลุมศพของ นักบุญวาเลนตินุส เพื่อเป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดร์และมิตรภาพอันสวยงาม รวมถึงได้มีการบรรจุกะโหลกของเซนต์วาเลนไทน์ไว้เป็นเรลิก (ชิ้นส่วนร่างกายของนักบุญหรือบุคคลที่เป็นที่นับถือ หรือศาสนวัตถุโบราณอื่น ๆ ที่มีการเก็บรักษาไว้ให้ศาสนิกชนได้บูชา หรือเป็นเครื่องระลึกถึง) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

ด้าน พระสันตะปาปาเกลาซิอุส จึงได้แต่งตั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่เป็นวันที่เซนต์วาเลนไทน์ถูกประหารชีวิต ให้เป็นวันสำคัญ คือ วันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงแก่นักบุญผู้เสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อแสดงออกถึงพลังแห่งความรักและมิตรภาพของมนุษย์ จนกลายเป็นตำนานและประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานกว่า 1500 ปี

จาก นักบุญวาเลนตินุส จึงกลายเป็นที่รู้จักในนาม เซนต์วาเลนไทน์ ซึ่งการฉลองวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรักได้เริ่มสืบต่อและแพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลก จนถึงทุกวันนี้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปผู้คนได้ตั้งให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันแห่งความรัก

นอกจากนั้นยังมีภาพวาดศิลปะที่เขียนขึ้นมาเพื่อยกย่อง นักบุญวาเลนตินุส หัวหน้าบาทหลวงผู้กล้าหาญ เป็นภาพ เซนต์วาเลนไทน์ ได้รับสายลูกประคำ จากพระแม่มารีย์ วาดขึ้นโดย David Teniers III

สำหรับประเพณีในวันแห่งความรัก เริ่มต้นที่การบอกรักด้วยคำพูด หรือต่อมาจะมีการแสดงความรักผ่านสิ่งของ อาทิ ช็อคโกแลต ที่มีความเชื่อว่าแต่ก่อนเป็นสิ่งหายากจึงมีคุณค่ามากที่จะมอบให้กับคนที่รัก , ดอกกุหลาบ ดอกไม้ที่สวยงามมีความหมายว่า เป็นความรักที่แสนบริสุทธิ์ ไม่คาดหวังให้อีกฝ่ายต้องมารักตอบ และจดหมาย การถ่ายทอดความรู้สึกผ่านตัวอักษร เป็นต้น

 

ตำนานเทพีแห่งความรัก

นอกจาก นักบุญวาเลนตินุส หรือ เซนต์วาเลนไทน์ แล้ว เทพีอโฟรไดท์ และ เทพคิวปิด เป็นอีกสองทวยเทพที่มีบทบาทในวันแห่งความรัก โดย เทพีอะโฟรไดท์ คือ เทพีแห่งความรัก ความงาม และความปรารถนา สามารถสะกดเทพ และ มนุษย์ทั้งปวง ให้ลุ่มหลง โดยอาจทำให้สติปัญญาของผู้ฉลาดตกอยู่ในความโฉดเขลา ตามตำนานกล่าวว่าเป็นธิดาของซูสหรือผุดขึ้นจากฟองทะเล คำว่า Aphros ในภาษากรีกแปลว่า ฟอง อะโฟรไดท์ มีสัญลักษณ์ เช่น นกพิราบขาว หงส์ และกุหลาบ

เทพีอโฟรไดท์ ในภาษาโรมันคือ วีนัส ส่วนในตำนานอียิปต์เทียบเท่ากับ เทพีฮาเธอร์ ความงามของเธอทำให้บรรดาทวยเทพบนเขาโอลิมปัสหมายปอง แต่ เทพีอโฟรไดท์ ปฏิเสธทุกองค์ รวมถึง มหาเทพซุส จึงถูกกลั่นแกล้ง โดย ซุส ได้ประทาน เทพีอโฟรไดท์ ให้เป็นพระชายาของ เทพฮีฟีสทัส เทพเจ้าแห่งช่างตีเหล็ก ลูกชายขาพิการของพระองค์ เพื่อเป็นบำเหน็จรางวัลทดแทนความชอบในการประกอบอสนียบาตถวาย

ทว่า เทพองค์แรกที่เทวีพิศวาสและร่วมอภิรมย์ด้วยคือ เทพเอรีส หรือ มาร์ส (ในภาษาโรมัน) เทพเจ้าแห่งการสงคราม ที่ได้ลักลอบเป็นชู้สู่หากับเทวี อโฟรไดท์ จนประสูติบุตรสอง ธิดาหนึ่ง มีนามตามลำดับว่า อีรอส หรือ คิวปิด , แอนติรอส และ เฮอร์ไมโอนี

 

เทพคิวปิดกับคันศรแห่งความรัก

คิวปิด ที่ต่อมาได้ชื่อว่าเป็นกามเทพ หรือเทพแห่งความไคร่ แม้จะถือกำเนิดจากชายชู้ แต่ก็ได้รับการยกย่อกว่าเป็นเทพ พระองค์ชื่นชม เทพอพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์บุตรชายองค์โตของซุสมาก มักจะติดตามอยู่เคียงข้างพระองค์เสมอ เพราะชื่นชอบคันธนูกับคันศรของเทพอพอลโล ถึงขั้นไปขอร้องให้ เทพฮีฟีสทัส สร้างธนูให้

เทพฮีฟีสทัส ประทานธนูและศรทองคำขนาดเล็กและนํ้าหนักให้พอดีกับตัว เทพคิวปิด ส่วน เทพีอโฟรไดท์ ได้ประทานอำนาจให้กับคันศรดังกล่าว คือหากผู้ใดถูกลูกศรทองคำจากคันธนูของคิวปิด แม้สัมผัสเพียงแผ่วเบา ผู้นั้นจะไปเกิดความรักแก่คนที่ตนพบเห็นคนแรกหลังสัมผัสกับลูกศร

คิวปิดรู้สึกยินดีกับธนูของตน จึงนำไปให้ เทพอพอลโล ดู แต่กลับได้รับเสียงขบขันและคำปรามาส คิวปิดรู้สึกน้อยใจ ขุ่นเคือง จึงกล่าวว่า ลูกศรของท่านทำให้ถึงแก่ความตายได้ แต่ศรของข้าทำให้ท่านเจ็บปวดได้ หลังจากนั้นคิวปิดได้ยิงศรพุ่งไปกระทบกายของเทพอพอลโลอย่างแผ่วเบาแทบไม่ะคายผิว อพอลโลได้หัวเราะแล้วเดินจากไป

หลังจากนั้น เทพอพอลโล ได้ไปเห็นนางไม้ชื่อ ดาฟเน่ พระองค์จึงวิ่งเข้าไปเพื่อที่จะสนทนากับเธอ แต่ดาฟเน่ขี้อาย ด้วยความตกใจกลัวเธอจึงวิ่งหนีไปยาวนาน แต่อพอลโลก็ติดตามไปทุกที่ จนฟินิอัส เทพเจ้าแห่งสายน้ำ ผู้เป็นบิดาของเธอได้ยินเสียง เข้าใจว่าเกิดเหตุร้ายกับเธอ พระองค์จึงเปลี่ยนร่างของเธอให้กลายเป็นต้นไม้ เมื่ออพอลโลเอื้อมมือไปสัมผัสกับดาฟเน่ เธอก็อันตรธานหายไปเหลือไว้แต่ต้นลอเรลอันสวยงาม

เทพอพอลโล รู้สึกเศร้าเสียใจกับการที่ทำให้ร่างของดาฟเน่เปลี่ยนไปจึงยืนอยู่ข้างต้นไม้ตลอดทั้งบ่าย เจรจาและอ้อนวอนขอให้ดาฟเน่ยกโทษ พระองค์จึงขอใบลอเรลจากศรีษะของหญิงสาวจำนวนหนึ่ง เพื่อว่าพระองค์จะได้นำไปร้อยไว้ประดับบนศรีษะ ดาฟเน่จึงสะบัดกิ่งก้านใบ และใบไม้จำนวนหนึ่งก็พร่างพรูลงมา พระองค์รู้ว่าดาฟเน่ให้อภัยแล้วจึงเก็บใบไม้มาและร้อยเป็นพวงมาลัยประดับไว้บนศรีษะอย่างทะนุถนอมเทพอพอลโลโยนมาลัยเหี่ยวเฉาออกแล้วสวมมงกุฏใบลอเรลแทน ซึ่งมันก็ยังคงเขียวสดเสมอมา และเป็นที่มาของการสวมใบลอเรลในพิธีจบการศึกษาของชาวยุโรป

 

คิวปิด กับ ไซคี

หลังจากได้สอนบทเรียนให้ เทพอพอลโล ที่ดูถูกผู้อื่น คิวปิด ได้รับคำสั่งจากมารดาคือ เทพีอโฟรไดท์ ลงโทษ เจ้าหญิงไซคี มนุษย์ที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดคนหนึ่งให้พบรักกับคนที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุดในแผ่นดิน ด้วยความที่อโฟรไดท์อิจฉาความงามของเธอ

คิวปิด ลอบเข้าไปในห้องนอนของ ไซคี ตั้งใจจะยิงศรลงโทษเธอตามคำสั่ง แต่เมื่อเห็นรูปโฉมของเธอ คิวปิดถึงกลับตกตะลึง จนทำลูกศรในมือทิ่มตัวเอง คิวปิด จึงหลงรักไซคีจากอำนาจของศรทองคำ แต่ก็ทำอะไรเปิดเผยไม่ได้ หลังจากนั้นพี่สาวทั้งสองของไซคีได้แต่งงานออกไป เหลือเพียงไซคีคนเดียวที่มีผู้คนมากมายหลงใหลแต่ไม่มีผู้ใดกล้ามาสาขอ พระราชาจึงนำความไปสอบถามเทพพยากรณ์ที่วิหารอะพอลโล ณ เมืองเดลฟี เทพพยากรณ์ให้คำตอบว่า นางไซคีจะได้แต่งงานกับอสุรกายที่แม้แต่เหล่าเทพยังยำเกรง จงพานางไปยังยอดผาที่สูงที่สุดของเมือง ณ ที่แห่งนั้นนางจะได้พบกับคู่ครอง

พระราชาทำตามคำทำนายด้วยหัวใจที่สลาย ไซคี ถูกทิ้งไว้กับโชคชะตาของนางอยู่บนผาสูง แต่อสุรกายไม่ได้ปรากฏกายแต่อย่างใด มีเพียงคิวปิดที่ซ่อนอยู่ตรงนั้น ในที่สุดเซฟีรัสเทพแห่งลมตะวันตกก็ได้พัดพานางไปยังตำหนักที่สวยสดงดงามของ คิวปิด

ตกดึก คิวปิด เข้าหานางไซคีในความมืดมิด กล่าวกับนางว่าไม่อาจให้นางเห็นหน้าและบอกกล่าวนามอันแท้จริงแก่นางได้ มิเช่นนั้นทุกอย่างจะพังทลาย ทั้งยังบอกไม่ให้นางไปไหนเพราะครอบครัวของนางต่างเข้าใจว่านางได้ตายไปแล้วเนื่องจากไม่เห็นนางอยู่ที่ผานั้น ไซคีเชื่อฟังสามี นางดำรงตนอยู่ในวิมานที่สวยงามและเพียบพร้อมนั้นด้วยความรู้สึกเงียบเหงา

ความโศกเศร้าของนางทำให้เอรอสอนุญาตให้นางไปพบพี่สาวได้ แต่ได้เตือนนางไว้ว่าพวกพี่สาวของนางอาจจะพูดสิ่งใดให้ความสัมพันธ์ของเราต้องแตกหัก ไซคีได้รับปากสามีว่าจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด พี่สาวก็ได้ยุยงให้นางเกิดความสงสัยต่อรูปโฉมที่แท้จริงของสามีของนางจริงๆ ตกกลางคืนเมื่อเอรอสหลับไหล ไซคีที่อยากรู้จึงได้ถือตะเกียงน้ำมันส่องแสงไปยังสามี เมื่อได้เห็นความงดงามของเทพบุตรหาใช้ความอัปลักษณ์ของอสุรกายไม่ นางไซคีเกิดความยินดี ทว่าน้ำมันร้อนๆ จากตะเกียงได้หยดลงไปต้องไหล่ของเอรอส ปลุกให้เอรอสตื่นขึ้นด้วยความแสบร้อน องค์เทพโกรธที่ชายาผิดคำพูดและได้สยายปีกหนีไป

ไซคีเสียใจมากกับการกระทำที่ได้ทำลงไป จึงออกตามหาเทพเจ้าคิวปิด นางจึงได้วิงวอนต่อเทพเจ้าให้ช่วยเหลือนางตามหาสามี เมื่อเทพีวีนัสได้ยินคำวิงวอนจึงได้ลงมาโปรดแลกกบการเผชิญแบบทดสอบ 4 ประการ แล้วจะช่วยให้ทั้งสองได้คืนดีกัน

แบบทดสอบเริ่มด้วย 1.) แยกเมล็ดธัญพืชจำนวนมหาศาลที่ปะปนอยู่ 6 ชนิดออกจากกัน 2.) การข้ามแม่น้ำที่แสนอัตราย ไปเก็บขนแกะทองคำ 3.) การตักน้ำสีดำจากแม่น้ำสติสซ์ในดินแดนยมโลก และ 4.) การขอแบ่งปันความงามจากเทพีเพอร์เซฟะนี ราชินีของเทพเจ้านรก

ทั้ง 3 ด่านทดสอบ นางไซคีผ่านมาได้ โดยมีความช่วยเหลือจากเหล่าทวยเทพที่เอาใจช่วย แต่ในด่านสุดท้ายนั้น ถือว่าเป็นด่านที่ยากที่สุด เพราะเธอต้องไปยังยมโลก จึงตัดสินใจยอมตายด้วยการกระโดดหอคอย แม้เธอจะเข้าไปได้ตามคำแนะนำจากหอคอย และได้พบกับองค์ราชินีแห่งนรกได้อย่างปลอดภัย ทว่าระหว่างทางกลับไปยังดินแดนแห่งทวยเทพ เมื่อใกล้ถึงเทือกเขาโอลิมปัส ไซคีได้เปิดกล่องออกดูโดยหวังจะขอปันความงามมาให้ตนเองบ้าง แทนที่จะได้พบกับความงาม ไซคีกลับต้องละอองแห่งความตาย

เมื่อไซคีล้มลง คิวปิด ที่ฟื้นตัวจากบาดแผลและสามารถออกมาจากการกักขังของมารดาได้ได้เข้ามาช่วยชีวิตไซคีและพานางไปสานต่อภารกิจจนสำเร็จ หลังจากนั้น คิวปิด ได้ขอให้มหาเทพซูสช่วยตัดสินเรื่องทั้งปวง เทพซุสจึงได้เรียกประชุมเหล่าทวยเทพ เจรจาให้เทพีอโฟรไดท์ยอมรับในความรักของโอรสและนางไซคี และประกาศให้เทพคิวปิดกับไซคีเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้อง เหล่าเทพเห็นใจในความยากลำบากที่ทั้งสองได้กระทำเพื่อความรัก จึงประทานน้ำอมฤตแก่ ไซคี ให้นางกลายเป็นเทพีแห่งจิตวิญญาณ (the goddess of the soul) มีชีวิตอมตะเคียงคู่เอรอสได้นานเท่านาน

เหล่านี้คือตำนานที่เกี่ยวข้องกับวันแห่งความรัก ที่แม้จะเริ่มต้นจากความโศกเศร้าของชีวิต นักบุญวาเลนตินุส แต่เรื่องราวของท่าน รวมถึงตำนานเทพปกรณัมก็ถูกเล่าขานต่อกันมา ก็ถ่ายทอดให้เห็นถึงความสวยงามของความรัก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก มอบความรักให้แก่กัน โดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก  PA IMAGES, ALAMY STOCK PHOTO

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Saint_Valentine

https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/189754

 

อ่านเพิ่มเติม : วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก 

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก

Recommend