ว่ายน้ำกับปลาโมลาโมลา
เรื่อง เทียร์นีย์ ทีส
เทียร์นีย์ ทีส หลงรักมหาสมุทรตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นในแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันเรามักพบเห็นนักชีววิทยาทางทะเลผู้นี้ได้นอกชายฝั่งกาลาปาโกส ขณะศึกษาปลาโมลาโมลาหรือปลาแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะพิทักษ์สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้
การสำรวจโลกใต้นํ้าของเธอเผยให้เห็นพื้นที่อ่าวที่ซึ่งปลาโมลาโมลาใช้เป็น “แหล่งพำนักตลอดปี” และ “สถานีทำความสะอาด” ที่ปลาเล็กปลาน้อยมารวมตัวกันเพื่อกินปรสิตที่ติดมากับผิวหนังของปลาโมลาโมลา ในโครงการอื่นๆ ทีสยังฝึกนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวเอกวาดอร์ในเรื่องชีวมาตรระยะไกล (biotelemetry) โดยใช้เครื่องมืออัลตราโซนิก ตรวจจับและบันทึกการเคลื่อนที่หรือการอพยพของสัตว์ทะเล เช่น ฉลามวาฬ และเต่าทะเล ทีสให้เหตุผลที่เลือกฝึกนักวิทยาศาสตร์หญิงว่า “เราต้องการต้นแบบที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ที่ ผู้หญิงสามารถเข้าถึง เราอยากให้เด็กผู้หญิงมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนุก มีความสำคัญ และเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้”
วิทยาศาสตร์ว่าด้วยมหาสมุทรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เรื่อง ชาห์ เซลบี
“ไม่เคยมีช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไปกว่านี้อีกแล้วเมื่อพูดถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์” ชาห์ เซลบี กล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา อดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดได้ก่อตั้ง คอนเซอร์วิฟาย (Conservify) ห้องปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ซ (open-source technology) ที่เปิดกว้างให้สาธารณชนสามารถช่วยพัฒนาหรือ มีส่วนร่วม เช่น ข้อมูลดาวเทียม เซนเซอร์ โดรน และแอปพลิเคชัน
ปัจจุบัน บริษัทกำลังสร้างเครื่องติดตาม จีพีเอสราคาย่อมเยาหลายรูปแบบที่สามารถซุกซ่อนไปกับขั้นตอนต่างๆ ของการค้าหูฉลามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อติดตามการค้าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาระบบตรวจการณ์ระยะไกลโดยใช้โดรนช่วยสอดส่องติดตามพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล
อ่านเพิ่มเติม : สำรวจโลก : ทำไมหมีดำตัวนี้ถึงมีขนสีขาว, สำรวจโลก : บันทึกภาคสนาม