ความลับของเหล่า วาฬ: พวกมันเหมือนมนุษย์มากกว่าที่คิด

ความลับของเหล่า วาฬ: พวกมันเหมือนมนุษย์มากกว่าที่คิด

เราเรียนรู้ว่า วาฬ และโลมาบางกลุ่มมีภาษาพูดพื้นถิ่น อาหาร และกิจวัตรเป็นของตัวเอง อันเป็นความแตกต่าง ทางวัฒนธรรมที่เคยคิดกันว่ามีแต่ในหมู่มนุษย์เท่านั้น

จอห์น ฟอร์ด อยากมองโลกด้วยสายตา วาฬ วันหนึ่งในฤดูร้อนปี 1978 ขณะที่นักชีววิทยาหนุ่มสวมชุดดำน้ำ กับอุปกรณ์สนอร์เกิลรอท่าอยู่ วาฬเพชฌฆาตฝูงหนึ่งว่ายปรี่มุ่งหน้าสู่ชายหาดกรวดบนเกาะแวนคูเวอร์ในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ฟอร์ดทิ้งตัวลงในน้ำที่ลึกไม่ถึงสามเมตร ยักษ์ใหญ่เหล่านี้พากันชะลอความเร็วและตะแคงตัว ร่างบางส่วนโผล่พ้นน้ำ ครีบหางที่แผ่เป็นรูปพัดตรงปลายกำลังโบกไปมา พวกวาฬเริ่มบิดและส่ายตัว พวกมันไถสีข้างและหน้าท้องกับหินใต้น้ำทีละตัว ทำนองเดียวกับที่หมีกริซลีถูลำตัวกับต้นสน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ฟอร์ด ชายวัย 66 ศึกษาวาฬเพชฌฆาตหรือโลมาขนาดใหญ่ที่สุดในอันดับซีเตเชีย (Cetacean) ที่รู้จักกันในชื่อวาฬมีฟัน (toothed whale) มากว่า 40 ปีแล้ว เขาเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า ถูหาด (beach rubbing) นี้นับครั้งไม่ถ้วน เขาไม่รู้แน่ว่าพวกมันทำแบบนั้นทำไม และสงสัยว่านี่เป็นการผูกสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง แต่คำถามสำคัญกว่าที่กวนใจเขามาเกือบตลอดชีวิตการทำงานก็คือ ทำไมวาฬเพชฌฆาตหรือออร์กา ฝูงนั้นจึงทำพฤติกรรมดังกล่าว ขณะที่เพื่อนบ้านทางใต้ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกันแทบทุกกระเบียดนิ้วกลับไม่ทำ

วาฬ
กลยุทธ์การกิน นอกชายฝั่งอะแลสกา วาฬหลังค่อมที่ทำงานเป็นทีมช่วยกันสร้างม่านฟองอากาศล้อมฝูงปลาเฮร์ริงเพื่อให้สับสนทิศทาง จากนั้นก็พุ่งตัวขึ้นจากเบื้องล่างพร้อมอ้าปากกว้าง นวัตกรรมนี้พัฒนาขึ้นในฝูงวาฬหลังค่อมที่ไม่ได้เป็นญาติกันหลายฝูง แต่ตอนนี้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ใช้อย่างแพร่หลาย

การถูหาดเป็นกิจวัตรของประชากรวาฬกลุ่มนี้ที่เรียกกันว่า ชาวถิ่นเหนือ เพราะในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง พวกมันจะเข้ามาหากินแถบทะเลในแผ่นดินระหว่างภาคพื้นทวีปของแคนาดากับเกาะแวนคูเวอร์ ผิดกับวาฬเพื่อนบ้านทางใต้ ไม่เคยมีบันทึกเลยว่าออร์กาแถบริมชายฝั่งรัฐวอชิงตันที่ผมอาศัยอยู่มีพิธีกรรมแบบนี้

แต่วาฬเพชฌฆาตในรัฐวอชิงตันที่เรียกว่าชาวถิ่นใต้ ก็มีขนบของตัวเอง นั่นคือพิธี “การทักทาย” พวกมันจะเข้าแถวเรียงหน้ากระดานหันหน้าเข้าหากัน ก่อนจะพุ่งเอาตัวถูกันไปมาและส่งเสียงร้องใต้น้ำ ซึ่งฝูงทางเหนือแทบไม่ทำเลย บางปี ชาวถิ่นใต้ใช้หัวดุนปลาแซลมอนที่ตายแล้วไปทั่ว แต่ชาวเหนือไม่ทำ พวกมันโหม่งกันหรือเอาหัวชนกันแบบ แกะเขาใหญ่อยู่บ้าง “พวกมันแค่ว่ายเข้าหากันและประสานงากันดื้อๆ แหละครับ” ฟอร์ดบอก

วาฬ, เรือประมง, วาฬเพชฌฆาต, นอร์เวย์
โจรขโมยปลา วาฬบางตัวเห็นเรือประมงเป็นโอกาส วาฬเพชฌฆาตในน่านน้ำของนอร์เวย์เช่นเจ้าตัวนี้อาจรอกินปลาเฮร์ริงที่หลุดจากอวน หรืออาจเข้าไปลากหรือดึงปลาจากอวนเลย ในอะแลสกา วาฬหัวทุยเรียนรู้วิธีขโมยปลาค้อดดำจากเบ็ดราวของเรือประมงมากินทีละตัว

ประชากรสองกลุ่มไม่ได้พูดภาษาเดียวกันด้วยซ้ำ ชาวถิ่นเหนือส่งเสียงกังวานแหลมยาวที่ฟังดูคล้ายลมรั่ว จากลูกโป่ง ส่วนชาวถิ่นใต้จะร้องสั้นๆ แบบลิงส่งเสียงกู่หรืออย่างที่ห่านร้อง สำหรับหูที่ฝึกฟังจนชำนาญของฟอร์ด ระดับเสียงสูงต่ำและท่วงทำนองของพวกมันนั้นต่างกันราวกับภาษาจีนกลางกับภาษาสวาฮิลี

กระนั้น วาฬถิ่นเหนือและถิ่นใต้ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันในลักษณะสำคัญอื่นๆ พวกมันใช้ชีวิตในทะเลที่อยู่ติดกัน ครั้งละหลายเดือนและมีรัศมีหากินทับซ้อนกัน แม้วาฬเพชฌฆาตทั่วโลกจะมีอยู่หลายชนิด แต่วาฬถิ่นเหนือและถิ่นใต้ มีพันธุกรรมเหมือนกันเกือบทั้งหมด วาฬเพชฌฆาตในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือไปจนถึงทะเลต่างๆรอบ แอนตาร์กติกายังกินอาหารแตกต่างกันด้วย บ้างกินฉลาม โลมา เพนกวิน หรือกระเบนราหู ในปาตาโกเนีย ในแอนตาร์กติกา วาฬเพชฌฆาตรวมทีมกันสร้างคลื่นซัดแมวน้ำเวดเดลล์ให้ตกจากแพน้ำแข็ง แล้วเขมือบเหยื่อที่ตกน้ำ แต่ทั้งชาวถิ่นเหนือและถิ่นใต้ชอบกินปลา และกินอยู่แทบจะชนิดเดียวนั่น คือแซลมอนชินุก

ลูกวาฬ, วาฬหัวทุย,
วาฬเด็ก ลูกวาฬหัวทุยที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่าโฮป พักผ่อนอยู่ในดงสาหร่ายซาร์กัสซัม โฮปกินนมจากวาฬเพศเมียชื่อ แคนโอเพนเนอร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าแคนโอเพนเนอร์จะเป็นแม่ของโฮป วาฬหัวทุยแต่ละฝูงอาจมีวิธีให้นมลูกวาฬต่างกัน บางฝูงให้ป้าหรือย่ายายเป็นแม่นม บางฝูงให้วาฬเพศเมียตัวเดียวให้นมลูกวาฬสองตัวที่อาจไม่ใช่ลูกของมัน

เหตุใดวาฬสองฝูงที่เกือบจะพูดได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกันและมีลักษณะพันธุกรรมเหมือนกันแทบทุกอย่าง จึงพูดและมีพฤติกรรมต่างกันได้ขนาดนี้ หลายปีที่ฟอร์ดกับเพื่อนร่วมงานสองสามคนได้แต่พูดคุยกันในวงเล็กๆ ถึงนัยของความขัดแย้งนี้ เป็นไปได้ไหมว่าสัตว์สังคมที่ซับซ้อนเหล่านี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณจากพันธุกรรม เพียงอย่างเดียว วาฬเพชฌฆาตจะส่งต่อลักษณะสืบสายพันธุ์เฉพาะที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหรือตัวแปรอื่น นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมหรือดีเอ็นเอได้หรือไม่ วาฬมีวัฒนธรรมของตนเองได้ไหม

แนวคิดนี้ฟังดูหลุดโลก นักมานุษยวิทยาถือว่าวัฒนธรรม หรือความสามารถในการสั่งสมและส่งต่อภูมิปัญญา ทางสังคม จำกัดอยู่แต่ในหมู่มนุษย์มานานแล้ว แต่นักวิจัยเคยอธิบายวิธีที่นกจับคอนเรียนรู้ภาษาเฉพาะถิ่นและ ส่งต่อให้ลูกหลาน และฟอร์ดก็เสนอว่า วาฬเพชฌฆาตฝูงต่างๆ อาจทำแบบนี้ได้เช่นกัน จากนั้นเขาก็เริ่มได้ยิน ข้อค้นพบต่างๆจากนักชีววิทยาที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในอีกซีกโลก นั่นคือวาฬหัวทุยหรือวาฬสเปิร์ม นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเสนอว่า วาฬบางชนิดมีพฤติกรรมและการสื่อสารต่างกันไปตามวิธีการเลี้ยงดู

วาฬ, วาฬหัวทุย, เรือประมง
ปลอดภัยอีกครา แคนโอเพนเนอร์กับโฮปว่ายน้ำไปกับวาฬหัวทุยเพศเมียอีกตัว (ขวา) ที่หัวหน้าทีมวิจัย เชน เกโร ตั้งชื่อให้ว่าดิจิต หลังหย่านมแล้ว ดิจิตถูกอวนพันแน่นจนครีบหางเกือบขาด เมื่อไม่สามารถหรือไม่เต็มใจดำน้ำลงไปหาอาหาร ดิจิตก็ดูเหมือนต้องกลับมากินนมอีกครั้ง ตอนนี้มันเป็นอิสระและหายดีแล้ว ดิจิตจึงกลับไปดำน้ำจับหมึกได้เหมือนเดิม

ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า วาฬและโลมาบางชนิดมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเช่นเดียวกับมนุษย์ ความเป็นไปได้นี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ว่าด้วยวิวัฒนาการของสัตว์ทะเลบางชนิด ขนบทางวัฒนธรรมอาจทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม พลิกความหมายใหม่ของการเป็นวาฬ แต่แนวคิดนี้ยังเปลี่ยนมุมมองของเราว่าด้วย สิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ด้วย วัฒนธรรมวาฬดูจะสั่นสะเทือนแนวคิดเก่าแก่ที่นิยามตัวของเราเอง

วาฬอาศัยอยู่ในดินแดนอันแตกต่างที่เราเพิ่งจะเข้าใจ เป็นชีวิตข้ามแดนตามแนวดิ่ง ที่นั่นอาจมืดมิดจนการมองเห็นด้วยตาแทบไร้ประโยชน์ ความสัมพันธ์ทั้งหมดดำเนินผ่านเสียง ความลี้ลับต่างๆ ที่เรากำลังคลี่คลายใต้เกลียวคลื่นในทะเลเผยให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตแปลกหน้ากลับเหมือนเรามากกว่าที่คิด การเป็นพันธมิตรกันในหมู่วาฬ ความซับซ้อนของบทสนทนา และวิธีดูแลลูกหลานของพวกมันดูคุ้นอย่างน่าตกใจ

วาฬ, วาฬเพชฌฆาต
แบ่งปันอาหาร วาฬเพชฌฆาตทำตัวเหมือนเรือประมงที่ติดตามฝูงปลาเฮร์ริงในมหาสมุทรอาร์กติกของนอร์เวย์ ฝูงออร์กาต้อนปลาจนเป็นก้อนกลมๆ ด้วยการพลิกหน้าท้อง เป่าฟองอากาศ และฟาดหางให้ปลาตกใจ นักวิจัยพบว่าพวกมันจะทำพฤติกรรมนี้น้อยลงเมื่อมีเรือประมงอยู่ใกล้ๆ

นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมานานแล้วว่า วาฬเรียนรู้พฤติกรรมหลายอย่างจากเพื่อนหรือผู้อาวุโสกว่าในฝูง ขณะที่ยีนกำหนดรูปร่างและหน้าที่ของร่างกายสิ่งมีชีวิตด้วยการเข้ารหัสคำสั่งต่างๆ เพื่อสร้างลักษณะสืบสายพันธุ์ และพฤติกรรมสำคัญๆ การเรียนรู้ทางสังคมก็เป็นปัญญาที่รับมาในรูปของพัฒนาการของการเชื่อมโยงทางประสาท ซึ่งเอื้อให้สัตว์เรียนรู้จากตัวอื่นๆ รอบตัวมันได้ นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า วัฒนธรรมกำหนดว่าพฤติกรรม ต้องอาศัยการเรียนรู้ทางสังคมและมีร่วมกันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งพฤติกรรมนั้นยังดำเนินสืบเนื่องอยู่ เมื่อฝูงสัตว์ ส่งต่อพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้หลายอย่างให้กัน พวกมันอาจพัฒนาชุดของนิสัยที่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวอื่นๆ ในชนิดพันธุ์เดียวกันอย่างสิ้นเชิง

ในวาฬบางชนิด สติปัญญาอาจเป็นการตอบสนองทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งต่อวัฒนธรรม เมื่อสัตว์สังคมเหล่านี้ ส่งต่อปัญญาที่ได้จากการเรียนรู้ออกไปอย่างกว้างไกล วัฒนธรรมจะดำรงอยู่ได้เมื่อปัจเจก (บุคคล) คิดวิธีใหม่ๆ ในการทำสิ่งต่างๆ ที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์สามารถทำตามได้ และวาฬก็เป็นนวัตกรที่เฉียบแหลม แต่ใช่ว่าทุกคนจะคล้อยตาม นักวิจัยบางคนแย้งว่า ตัวแปรทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างเหล่านี้ได้ กระนั้น วิธีคิดใหม่เรื่องพฤติกรรมสัตว์ป่าและวัฒนธรรมกลุ่มแบบที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางน้อยลงก็กำลังหยั่งราก

เรื่อง เครก เวลช์

ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

สามารถติดตามสารคดี ความลับของเหล่าวาฬ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ทำไมวาฬถึงใหญ่โตมโหฬารนัก?

วาฬ

Recommend