ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคที่เริ่มตั้งแต่มีมนุษย์กำหนดขึ้นมาบนโลก แต่ยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ การศึกษาเรื่องราวในยุคนี้ต้องอาศัยนักโบราณคดีขุดค้นหลักฐานจากพื้นที่ต่างๆ มาศึกษาและวิเคราะห์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ประวัติศาสตร์ก่อนวรรณกรรม สื่อถึงช่วงเวลาที่ยาวนานตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเอกภพหรือโลก แต่ส่วนใหญ่มักสื่อถึงสมัยตั้งแต่เกิดชีวิตบนโลก หรือนับตั้งแต่สิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์กลุ่มแรกปรากฏขึ้น
จุดเริ่มต้นของ ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือช่วงเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์ระหว่างการใช้เครื่องมือหินครั้งแรกเมื่อ 3.3 ล้านปีก่อน จนถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกที่มีการคิดค้นระบบการเขียน การใช้สัญลักษณ์ เครื่องหมาย และภาพปรากฏในกลุ่มมนุษย์ยุคแรก ซึ่งต้องใช้เวลาหลายพันปีกว่าระบบการเขียนจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งกระจายไปเกือบทุกวัฒนธรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
ในการแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคหินกลางหรือยูเรเชีย นักประวัติศาสตร์นิยมใช้ระบบสามยุค ส่วนนักวิชาการด้านสมัยก่อนมนุษย์มักใช้บันทึกทางธรณีวิทยาและชั้นฐานในธรณีกาล ระบบสามยุคเป็นการกำหนดระยะเวลายุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ออกเป็น 3 ช่วง ตามเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือที่โดดเด่น ได้แก่ ยุคหิน ยุคสัมฤทธิ์ และ ยุคเหล็ก (บางแห่งแบ่งเป็นเพียง 2 ยุคคือ ยุคหิน กับ ยุคโลหะ)
ยุคหิน
ยุคหิน เป็นยุคที่มนุษย์ใช้หินเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ แบ่งเป็น 3 ยุคคือ ยุคหินเก่า ยุคที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือจากหินหยาบๆ พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , ยุคหินกลาง เป็นยุคที่มนุษย์ได้เริ่มทำเครื่องมือที่มีความประณีตมากขึ้น เช่น เครื่องมือแบบบักโซ ฮัวบินเหนียน ปัจจุบันพบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ่าวไทย รวมถึงฝั่งตะวันตกของเกาะชวา และ ยุคหินใหม่ มนุษย์นำหินมาจัดทำให้เครื่องมือและอาวุธมีความละเอียดมากขึ้นบางครั้งเรียกว่า ยุคหินขัด พบมาก ในตะวันออกกลาง จีนและอินเดียในทวีปและหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการศึกษาพบว่า ยุคหินเก่า (Old Stone Age) คือช่วงเวลาประมาณ 500,000–10,000 ปีก่อนคริสตกาล สำหรับยุคหินกลาง (Middle Stone Age) เป็นช่วงราว 10,000–7,000 ปีก่อนคริสตกาล และ ยุคหินใหม่ (New Stone Age) เป็นช่วง 7,000–5,000 ปีก่อนคริสตกาล
วัฒนธรรมยุคหินใหม่พบอยู่ทั่วโลก แต่หลักฐานสำคัญที่มีลักษณะโดดเด่นคือการสร้างอนุสาวรีย์หิน ที่มีชื่อเสียง อย่าง สโตนเฮนจ์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้คำนวณเวลาทางดาราศาสตร์ เพื่อพิธีกรรม เพื่อบวงสรวงดวงอาทิตย์ และเพื่อผลผลิตทางการเพาะปลูก
ยุคสัมฤทธิ์ หรือ สำริด
ยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) การเริ่มต้นของยุคสัมฤทธิ์ในแต่ละภูมิภาคจะต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มระหว่างประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว คือยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งที่มนุษย์รู้จักใช้โลหะสัมฤทธิ์ ในบางพื้นที่ได้เข้าสู่ช่วงก่อนมีตัวอักษร และบางพื้นที่อารยธรรมเมืองได้เริ่มก่อร่างขึ้น ยุคสัมฤทธิ์เป็นยุคที่สองเกิดขึ้นหลังยุคหินใหม่ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากหินมาสู่ ทองแดง โลหะชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาหลอมเป็นเครื่องมือเครื่องใช้คือ ทองแดง ปรากฏหลักฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีส นำทองแดงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เมื่อประมาณ 3,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช
ทั้งนี้ สัมฤทธิ์ คือโลหะที่เกิดจากทองแดงหลอมกับดีบุก ตะกั่วหรือโลหะอื่น สังคมในยุคดังกล่าวอาจผลิตโดยการหล่อโลหะขึ้นเองหรือค้าขายเแลกเปลี่ยนจากแหล่งผลิตที่อื่น โดยเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคสำริดที่พบตามแหล่งต่าง ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก นอกจากทำด้วยสัมฤทธิ์แล้วยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากดินเผา หิน และแร่ ในบางแหล่งมีการใช้สัมฤทธิ์ต่อเนื่องมาจนถึงยุคเหล็กเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสัมฤทธิ์ มีทั้ง ขวาน หอก ภาชนะ กำไล ตุ้มหู ลูกปัด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สัมฤทธิ์มีความแข็งและทนทานกว่าโลหะอื่นที่มีอยู่ในเวลานั้น ทำให้อารยธรรมที่รู้จักใช้สัมฤทธิ์มีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี ส่วนเหล็ก แม้ว่าจะมีอยู่มากในธรรมชาติ แต่ด้วยจุดหลอมเหลวที่สูงทำให้ไม่มีใช้กันแพร่หลายจนปลายสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ส่วนเตาเผาภาชนะดินเผาซึ่งมีอายุถึง 6,000 ปีก่อนคริสตกาลสามารถผลิตความร้อนเพื่อหลอมดีบุกกับทองแดงได้แล้ว จึงมีการนำทองแดงมาหลอมรวมกับดีบุกกลายเป็นสัมฤทธิ์ ทำอาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น กลองมโหรทึก
ด้านวัฒนธรรมยุคสัมฤทธิ์แตกต่างกันในการพัฒนาการเขียนขึ้นครั้งแรก จากหลักฐานดีทางโบราณคดีพบว่าวัฒนธรรมในเมโสโปเตเมีย (อักษรคูนิฟอร์ม) และอียิปต์ (ฮีโรกลิฟ) เป็นผู้พัฒนาระบบการเขียนที่มีใช้แห่งแรก
นอกจากนี้ ความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนไปมากทั้งด้านการเมืองและสังคม ชุมชนเกษตรกรรมขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนเมือง จึงมีการจัดแบ่งความสัมพันธ์ตามความสามารถ เอื้ออำนวยต่อการผลิตอันนำไปสู่ความมั่นคงด้านปัจจัยพื้นฐานและความมั่งคั่งแก่สังคม มนุษย์จึงมีความมั่นคงปลอดภัยกว่าเดิมและมีความสะดวกสบายมากขึ้น นำไปสู่พัฒนาการทางสังคมสู่ความเป็นรัฐในเวลาต่อมา
ขณะที่แหล่งอารยธรรมที่สำคัญ ๆ ของโลกล้วนมีการพัฒนาการสังคมจากช่วงเวลาสมัยหินใหม่และสมัยสัมฤทธิ์ แหล่งอารยธรรมของโลกที่สำคัญและแหล่งวัฒนธรรมบางแห่ง อาทิ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียในภูมิภาคเอเชียตะวันตก แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีน และแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงในประเทศไทย
กระนั้น ในยุคสัมฤทธิ์นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการขนส่งแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ยืดยาวมาจนถึงทุกวันนี้อีกอย่าง นั่นก็คือ การที่มนุษย์เริ่มต้นทำสงครามกันจากอาวุธที่ผลิตจากสัมฤทธิ์
ยุคเหล็ก
ยุคเหล็ก (Iron Age) เกิดหลังจากยุคสำริดสิ้นสุดลงในช่วง 1206-1150 ปีก่อนคริสตกาล หรือเริ่มเมื่อประมาณ 3,200 ปีมาแล้ว เป็นยุคที่ 3 ซึ่งมนุษย์เริ่มใช้เหล็กในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต โดยมนุษย์กลุ่มแรกที่มีการใช้เหล็ก คือ ตะวันออกกลางเป็นการนำเอาของที่มีความแข็งและคงทนกว่ามาเป็น เครื่องมือเครื่องใช้
ยุคเหล็ก คือช่วงของการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องจากยุคสำริด หลังจากที่มนุษย์สามารถนำทองแดงมาผสมกับดีบุกและหลอมเป็นโลหะผสมได้แล้ว มนุษย์ก็คิดค้นหาวิธีนำเหล็กซึ่งเป็นโลหะที่มีความแข็งและทนทานกว่าสำริดมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ ด้วยการใช้อุณหภูมิในการหลอมที่สูงกว่าการหลอมสำริด แล้วจึงตีโลหะเหล็กในขณะที่ยังร้อนอยู่ให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ
เนื่องจากเหล็กใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้มีความเหมาะสมกับงานการเกษตรที่ต้องใช้ความแข็งแรงมากกว่าสำริด และมีความทนทานกว่าด้วย จึงทำให้มนุษย์ยุคเหล็กสามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยเหล็กยังใช้ทำอาวุธที่มีความแข็งแกร่งและทนทานกว่าสำริด จึงทำให้สังคมมนุษย์ยุคนี้ที่พัฒนาเข้าสู่ยุคเหล็กและเข้าสู่ความเป็นรัฐได้ด้วยการมีกองทัพที่มีประสิทธิภาพกว่า สามารถปกป้องเขตแดนของตนเองได้ดีกว่า ทำให้สังคมเมืองของตนมีความมั่นคงปลอดภัย และในที่สุดก็สามารถขยายอิทธิพลไปยังดินแดนอื่นๆ ได้ในเวลาต่อมา
ช่วงเวลานี้เริ่มต้นจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโลหะของมนุษย์สามารถหลอมโลหะประเภทเหล็กขึ้นมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ ซึ่งการผลิตเหล็กต้องใช้อุณหภูมิสูงมีกรรมวิธีที่ยุ่งยาก เหล็กมีความแข็งแกร่งคงทนกว่าโลหะสำริดมาก สังคมมนุษย์จึงสามารถพัฒนาการผลิตเหล็ก จะสามารถพัฒนาสู่ความเป็นรัฐ เพราะการผลิตเหล็กทำให้สังคมสามารถผลิตอาวุธได้ง่ายและแข็งแกร่งขึ้น จนสามารถขยายกองทัพได้ และมีเครื่องมือที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรที่มีความคงทนกว่า
ยุคเหล็ก มีความแตกต่างจากยุคสำริดหลายอย่างทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิต การผลิตเหล็กทำให้กองทัพมีอาวุธที่แข็งแกร่ง แน่นอนว่าการทำสงครามในยุคนี้มีความรุนแรงขึ้นกว่ายุคสัมฤทธิ์ รวมถึงขอบเขตของสงความยังขยายวงกว้างขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแย่งชิงพื้นที่ อาหารและทรัพยากรของคนต่างเผ่าพันธุ์ ซึ่งแหล่งอารยธรรมแห่งแรกที่สามารถผลิตเหล็กได้คือ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียหรือก็คืออาณาจักรฮิตไทต์ เมื่อ 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ 3,200 ปีมาแล้ว
ดังนั้น ยุคเหล็ก จึงพามนุษย์ไปสู่พัฒนาการทางสังคมจนกลายเป็นรัฐที่มีกำลังทหารที่แข็งแกร่งเข้ายึดครองสังคมอื่นๆ จนขยายเป็นอาณาจักรในเวลาต่อมารวมรัฐไทยด้วย
อนึ่ง นักโบราณคดีบางประเทศรวม ยุคสำริด และ ยุคเหล็ก ให้อยู่ในยุคเดียวกันคือ ยุคโลหะ ( Metal Age) อยู่ในช่วงเวลา 5,000–3,000 ปีก่อนคริสตกาล
จุดจบของยุคเหล็กและยุคก่อนประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สิ้นสุดลงหลังยุคเหล็ก มักกำหนดที่การคิดค้นประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึก ทำให้วันที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ขึ้นอยู่กับวันที่บันทึกที่เกี่ยวข้องกลายเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ เช่น โดยทั่วไปยอมรับว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ของอียิปต์สิ้นสุดประมาณ 3100 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในขณะที่นิวกินีสิ้นสุดที่คริสต์ทศวรรษ 1870
ก่อนที่ต่อมาจะเข้าสู่ สมัยโบราณ โดยจุดสิ้นสุดของยุคก่อนประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันมากตามพื้นที่ต่างๆ และคำนี้มักไม่ค่อยใช้ในการอภิปรายสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สิ้นสุดลงเมื่อไม่นานนี้ จากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่ ยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ยุคที่มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ตัวอักษร แต่ตัวอักษรนั้น ปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมาย และมาถึง ยุคประวัติศาสตร์ ยุคที่มนุษย์ประดิษฐ์ตัวอักษรในการจดบันทึกเหตุการณ์หรือความรู้ต่างๆ ที่ใช้สื่อสารที่สามารถเข้าใจได้จวบจนถึงปัจจุบัน
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพจาก ILLUSTRATION BY GREG HARLIN
ข้อมูลอ้างอิง