ฟอสซิลทวดกบโบราณในอำพัน

ฟอสซิลทวดกบโบราณในอำพัน

ฟอสซิลทวด กบโบราณ ในอำพัน

มากกว่าหนึ่งในสามของสายพันธุ์กบ และคางคกจำนวน 7,000 สายพันธุ์ พบได้ในป่าฝนเขตร้อนทั่วโลก ทว่าฟอสซิลของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเหล่านี้ต่างออกไป เนื่องจากมันมีช่วงชีวิตในยุคสมัยที่สภาพแวดล้อมแบบป่าฝนเขตร้อนเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นไม่นาน ส่งผลให้บรรดานักบรรพชีวินวิทยากำลังขบคิดเกี่ยวกับปริศนาวิวัฒนาการในช่วงแรกๆ ของกบโบราณเหล่านี้

ขณะนี้ก้อนอำพันจากยุคครีเตเชียสได้เผยให้เห็นซากของกบโบราณจากยุคไดโนเสาร์จำนวนสี่ตัว พวกมันคือฟอสซิลกบโบราณที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา และชิ้นส่วนที่ถูกกักเก็บไว้มีความสมบูรณ์มากพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่า พวกมันคือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Electrorana limoae

กบโบราณ
อำพันจากเมียนมาที่ภายในบรรจุฟอสซิลของกบจากยุคไดโนเสาร์
ภาพถ่ายโดย Chen Hai-Ying

“มันน่าตื้นตันมากเลยครับที่ฟอสซิลเล็กๆ เหล่านี้ยังคงอยู่รอดมาได้” David Blackburn นักบรรพชีวินวิทยา จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Gainesville ในรัฐฟลอริดากล่าว “เดิมเรามีฟอสซิลที่สมบูรณ์ของกบน้อยมาก และเจ้าสายพันธุ์ Electrorana เป็นอะไรที่หายากมาก”

ในช่วงชีวิตของมัน กบเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวไม่เกินหนึ่งนิ้ว รายงานจาก Scientific Reports ซึ่งการวิจัยครั้งนี้นำทีมโดย Lida Xing นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

“ปกติแล้วเราจะไม่พบฟอสซิลกิ้งก่า หรือกบในก้อนอำพัน แต่เจ้านี่คือกรณีพิเศษ” Marc Jones ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลของกบ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอนกล่าว “มีบ้างที่เราจะพบฟอสซิลของกบ แต่ไม่ใช่ในก้อนอำพันแบบนี้ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้านี้เราพลาดอะไรไปบ้าง”

(ค้นพบฟอสซิลกิ้งก่าเก่าแก่ที่สุดในโลก)

กบโบราณ
มุมมองที่ต่างกันของอำพันคนละก้อนแสดงให้เห็นถึงฟอสซิลของกบโบราณภายใน
ภาพถ่ายโดย Chen Hai-Ying

 

“ปาฏิหาริย์” จากการบริจาค

ฟอสซิลของกบอายุ 99 ล้านปีมาจากอำพันก้อนอื่นๆ ในเหมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมียนมา สถานที่พบฟอสซิลในอำพันมากมายไม่ว่าจะเป็นหางไดโนเสาร์, ลูกนกโบราณ, ปีกนกโบราณ ไปจนถึงแมลง นอกจากนั้นนักบรรพชีวินวิทยายังพบหนอนกำมะหยี่ และแมงมุมน้ำ ซึ่งบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมในยุคครีเตเชียสน่าจะเป็นป่าฝนเขตร้อน เช่นเดียวกับสถานที่ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพวกมันในปัจจุบัน

สถาบันบรรพชีวินวิทยา Dexu เมืองเฉาโจว มณฑลกวางตุ้งได้รับฟอสซิลหายากชิ้นนี้มาจากนักสะสมในจีนที่ตั้งใจบริจาคให้แก่สถาบัน โดย Xing เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ทางสถาบันมีตัวอย่างของฟอสซิลกบอยู่แล้วสามตัวอย่าง ทว่าพวกเขามีแค่ส่วนรยางค์แขนขา และร่างกายที่ปราศจากหัวเท่านั้น ดังนั้นฟอสซิลของกบชิ้นสมบูรณ์ที่เปรียบดังปาฏิหาริย์สำหรับสถาบันนี้ จึงเข้ามาเติมเต็มให้งานวิจัยของพวกเขาพัฒนาไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น

“มันย่อยสลายไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่คุณยังสามารถมองเห็นโครงกระดูกของมันได้ชัดเจน” Xing กล่าว

และด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกนได้เผยให้เห็นถึงลักษณะกายวิภาคแบบสามมิติของกบโบราณนี้ ผลการวิจัยพบว่าโครงสร้างของ Electrorana นั้นคล้ายคลึงกับกบในปัจจุบันแทบจะทุกด้าน ดูเหมือนว่ากบสายพันธุ์นี้จะเป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของกบในปัจจุบัน และรวมไปถึงญาติผู้ใกล้ชิดอย่างคางคกด้วยเช่นกัน

“แม้ว่าฟอสซิลของ Electrorana จะแทบไม่มีเนื้อเยื่อปรากฏอยู่แล้ว แตกต่างจากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ในก้อนอำพันจากแหล่งเดียวกัน แต่โครงกระดูกที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์แบบของมันถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาของฟอสซิลกบจากป่าฝนเขตร้อน” Michael Pittman นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าว

กบโบราณ
ภาพจากเทคโนโลยีซีทีสแกนเผยให้เห็นโครงสร้างของกบ
ภาพถ่ายโดย Chen Hai-Ying

 

ไม่ใช่แค่กบ แต่มีด้วงด้วย

เนื่องจากความหลากหลายของฟอสซิลที่พบในแหล่งแร่อำพันแห่งนี้ นอกเหนือจากองค์ความรู้ทางกายวิภาคแล้ว ฟอสซิลสุดพิเศษนี้ยังให้ข้อมูลของลักษณะอาหารของพวกมันอีกด้วย

ภายในก้อนอำพันยังบรรจุซากของตัวด้วง ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพวกมันคืออาหารของกบในยุคไดโนเสาร์ ข้อมูลอื่นๆ จากการวิจัยระบุว่ากบตัวนี้ยังคงเป็นกบวัยรุ่น กระดูกของมันยังคงเป็นกระดูกอ่อน ดังนั้นแล้วจึงมีบางส่วนของกระดูกที่หายไป ซึ่งอาจให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมได้ว่ามันมีพฤติกรรมอย่างไร ตลอดจนอยู่ในระบบนิเวศแบบใด ซึ่งชิ้นส่วนที่ว่าก็ได้แก่ กระดูกบริเวณข้อต่อสะโพก และกระดูกหูชั้นใน

กบโบราณ
รายละเอียดบางอย่างนอกเหนือจากโครงกระดูกยังคงหลงเหลืออยู่
ภาพถ่ายโดย Chen Hai-Ying

ทั้งนี้ Blackburn หนึ่งในทีมนักวิจัยคาดหวังว่าฟอสซิลชิ้นใหม่ๆ ที่จะถูกค้นพบในอนาคตจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษา และเปรียบเทียบกบโบราณกับกบสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยไขปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยได้ว่าพวกมันมีชีวิต และวิวัฒนาการมาเป็นกบในปัจจุบันได้อย่างไร

“ผมหวังว่าจะมีฟอสซิลสมบูรณ์แบบนี้มาให้เราอีก” เขากล่าว “ทุกวันนี้ระบบนิเวศแบบป่าฝนเขตร้อนเต็มไปด้วยกบมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าป่าฝนเขตร้อนในยุคครีเตเชียสก็น่าจะมีสัตว์อีกหลายสายพันธุ์รอให้เราไปค้นพบด้วยเช่นกัน”

เรื่อง John Pickrell

 

อ่านเพิ่มเติม

ภาพถ่ายอันน่าทึ่ง! เมื่องูพยายามหนีออกจากปากกบ

Recommend