เมื่อ บึงละหาน เดือด
“พายุเข้าเมื่อวาน พอเช้ามาปลาเล็กปลาน้อยก็น็อคน้ำตาย ลอยขาวเป็นแพทั่วทั้งบึงละหานเลยครับ” ข้อความจาก ‘พี่ติ๋ง’ ที่เผยแพร่ไปทางโลกออนไลน์ ทำให้ผมตื่นตระหนกจนต้องนัดวันกับผู้ส่งสารนี้เพื่อออกสำรวจเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับ บึงละหาน ในครั้งนี้ให้เร็วที่สุด
รุ่งเช้า ตะวันยังหลบดวง กระนั้น แสงเช้าที่เฉิดฉานก็ช่วยให้มองเห็นผืนน้ำเบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน
เรือของเราลอยลำออกจากฝั่งอย่างช้า ๆ
พี่ติ๋ง หนึ่งในคณะผู้นำการท่องเที่ยวทุ่งบัวแดงอันขึ้นชื่อของบึงละหาน บังคับเรือมุ่งไปตามร่องน้ำที่คุ้นเคย
กว่าสามสิบปีที่ พี่ติ๋ง หรือนามจริง ติ๋ง พัดจันทึก มีชีวิตผูกพันอยู่กับบึงละหานจนเรียกได้ว่าเป็นผู้รู้จักบึงน้ำขนาด 18,000 ไร่แห่งนี้ในทุกตารางนิ้ว
และเมื่อผู้รู้จักบึงละหานยังตกใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมากขนาดนี้ เช่นนั้นคนชัยภูมิเช่นผมจะไม่รีบมาสำรวจถึงปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้อย่างไร
เราออกจากฝั่งกันมาไม่นานนัก ก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นเหม็นที่ลอยผ่านมาตามสายลม
ไม่นานจากนั้น เราก็ได้พบกับภาพอันน่าสะเทือนใจของซากปลานับแสนตัวที่ลอยตายเกาะกันเป็นแพผืนใหญ่เต็มผืนน้ำ
พี่ติ๋ง ไม่รอช้าพาเรือผ่านเข้าไปยังใจกลางซากปลาสีขาวโพลนเบื้องหน้านั้นทันที
ซากปลามากมายหลายสายพันธุ์ทั้งปลาขาวสร้อย ปลาแขยง ปลานิล ปลานวลจันทร์ ที่มีขนาดตั้งแต่ตัวเล็กราวหัวแม่มือไปจนถึงตัวใหญ่ยักษ์หลายกิโลกรัม
“นี่ขนาดมันจมน้ำไปบางส่วนแล้วนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเรามาเห็นตั้งแต่เมื่อวานมันจะมากมายขนาดไหน” พี่ติ๋งบอกถึงปริมาณปลาตายที่มันทำให้เรายิ่งหม่นเศร้าไปกับความสูญเสียในครั้งนี้
“เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมครับ พายุเข้าบึงละหาน มาทั้งฝนทั้งลม พอวันถัดมาหลังพายุผ่านไปแล้วจึงมีคนมาเห็นว่าปลาลอยขึ้นมาตายเป็นจำนวนมาก ปลาน่าจะน็อคน้ำครับ” พี่ติ๋งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์และสันนิษฐานต่อถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรม
“จะว่าไป ปลาในบึงละหานมันก็น็อคตายกันเป็นเรื่องธรรมดานะครับ แต่ครั้งนี้ที่ไม่ธรรมดาก็คือมันตายกันมากเกินไปครับ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนบึงละหานไม่เคยมีใครเจอเหตุการณ์แบบนี้เลยจริง ๆ ครับ” ชายผู้รู้จักบึงละหานมาทั้งชีวิตตั้งคำถามจากความจริงตรงหน้า
คำถามที่ใช่เพียงจากเขาเท่านั้น หากแต่มาจากชาวชุมชนโดยรอบบึงละหานที่ฝากฝังชีวิตเอาไว้กับบึงน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
พื้นที่ชุ่มน้ำ บ้านของทุกสรรพชีวิต
ด้วยขนาดราว 18,000 ไร่ของบึงละหาน ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการอุปโภคบริโภคของคนใน อ.จัตุรัส และ อ.เมืองชัยภูมิ
ไม่เพียงแต่มีขนาดพื้นที่มากมาย บึงละหานยังมีสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะพิเศษตรงตามที่ทางวิชาการเรียกว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” จึงทำให้ “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงละหาน” ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเฉพาะกับผู้คน
ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญยิ่งของ จ.ชัยภูมิ และจากการสำรวจ พบว่ามีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่มากกว่าร้อยชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของบรรดา นกน้ำ นกทุ่ง ที่มีจำนวนมากกว่า 150 ชนิดอีกด้วย
จากความหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้ ทางกลุ่มชุมชนการท่องเที่ยวทุ่งบัวแดงบ้านโนนหัวช้างและชุมชนโดยรอบ จึงได้ช่วยกันสำรวจนก ปลา และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในบึงละหานโดยมี พี่ติ๋ง เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
นั่นจึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ละหานเดือด พี่ติ๋ง จึงเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงนี้
ความเปลี่ยนแปลงของ บึงละหาน ที่มีผลต่อ ลมหายใจ ของคนชัยภูมิ
“ลมหายใจ” ที่ใช่เป็นเพียงวลีเท่ห์ ๆ เพื่อเอามาประกอบการเขียนอะไรนั่นหรอก
หากความพิเศษของ พื้นที่ชุ่มน้ำ ยังถือเป็นพื้นที่ที่มีส่วนช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศ และสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เป็นสองเท่าของป่าไม้ทั้งโลก
จากข้อมูลความจริงเช่นนี้ บึงละหาน จึงเป็น “ลมหายใจ” ของคนชัยภูมิและคนทั้งโลกอย่างแท้จริง
ซึ่ง “พื้นที่ชุ่มน้ำบึงละหาน” จ.ชัยภูมิ ก็ได้ทำหน้าที่สำคัญนี้มาอย่างยาวนาน
นานจนกระทั่ง กาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึง วัน ปี ที่เข้าสู่ พ.ศ.2567 ซึ่งเราต่างสัมผัสได้ถึงบึงละหานที่เริ่มเปลี่ยนไป
เมื่อโลกเดือด บึงละหานเริ่มสั่นสะเทือน
ขณะลอยเรือท่ามเวิ้งน้ำกว้างไกล สิ่งที่เราสังเกตถึงความผิดปกติหนึ่งนั่นก็คือ บรรดาสาหร่ายหางกะรอก สาหร่ายหางวัวที่เป็นพืชเด่นของบึงละหานที่ขึ้นกระจายไปทั่วทั้งบึงนั้น วันนี้กลับไม่พบเลยแม้แต่น้อย
อาจด้วยผืนน้ำที่ลดระดับจนตื้นเขิน และเริ่มมีสีเขียวเข้มจาก “ปรากฏการณ์น้ำเขียว” (eutrophication) หรือที่บุปผาสาหร่ายแตกตัวเติบโตจำนวนมากจนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง (และนี่ถือเป็นอีกสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปลาตายทั้งบึงละหาน)
ไม่เพียงปรากฏการณ์น้ำเขียวจะส่งผลต่อพืชน้ำใบเขียวเท่านั้น หากมันยังส่งผลถึงบรรดานกเป็ดผีเล็ก ที่ในวันเดียวกับที่ปลาน็อกน้ำ เรายังไม่พบนกเป็ดผีเล็กทำรังแม้แต่รังเดียว
และยังไม่เห็นตัวนกเป็ดผีเล็กว่ายเล่นดังเช่นที่เคยเป็น แม้ว่าเราจะมุ่งไปยังแหล่งอาศัยประจำของเขาก็ตาม…
นอกจากนั้นบรรดา นกอีแจว นกพริก เราก็ยังไม่พบว่านกเหล่านี้ทำรังวางไข่ในที่ประจำของพวกมันแม้แต่คู่เดียว
จากเหตุการณ์เหล่านี้เอง ที่ทำให้เรารู้เลยว่านี่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โลกเดือดที่กำลังส่งผลสะเทือนไปทั่วทุกมุมโลกเช่นที่เป็นอยู่นี้
และสำหรับปรากฏการณ์ บึงละหานเดือด นี้ทาง ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์บึงละหานเอาไว้ดังนี้
- อากาศร้อน ๆ น้ำที่แห้งและนิ่งก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดการตกตะกอนหมักหมมของซากพืชและสัตว์ที่ก้นบึงเป็นจำนวนมาก เมื่อสะสมกันเยอะ ๆ ก็เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติโดยแบคทีเรีย ซึ่งก็จะใช้ออกซิเจนในน้ำไปเป็นจำนวนมากจนคุณภาพน้ำที่พื้นท้องน้ำแย่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าน้ำเน่า
- ฝนตกหนักลงไป น้ำฝนเย็นกว่าน้ำในหนอง น้ำเย็นหนักกว่าจึงจมลงข้างล่าง แล้วดันเอาน้ำเน่าขึ้นมาด้านบนแทน
- ฝนที่ไม่ตกเป็นเวลานานยังชะเอาสารอินทรีย์ สารเคมี หน้าดิน ขยะ และหลายสิ่งหลายอย่างลงไปในน้ำเต็มไปหมด
- ธรรมชาติของปลา เวลาหายใจไม่ออกจะพยายามขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ เพราะผิวน้ำอยู่ใกล้กับอากาศ โดยปกติจะมีออกซิเจนมากกว่าน้ำที่อื่น แต่รอบนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากน้ำเสียจากด้านล่างโดนน้ำฝนดันขึ้นมาอยู่ที่ผิวน้ำ ด้วยเหตุนี้ปลาก็เลยตายกันเป็นจำนวนมากอย่างที่เห็น ยิ่งแล้งนาน แล้วจู่ ๆ ฝนที่ตกลงมาเยอะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย
“จริงอยู่ครับว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ปลาที่ตายมากขนาดนี้ ผมก็เพิ่งเคยได้เห็นในบึงละหานเป็นครั้งแรกในชีวิตนี่ล่ะครับ” พี่ติ๋งเอ่ย ขณะถ่อเรืออยู่ท่ามซากปลาจำนวนมหาศาลที่ลอยอยู่รอบ ๆ เรือของเรา
ผมไร้ถ้อยใดจะกล่าวตอบพี่ติ๋ง
ด้วยนาทีนั้น หัวใจกำลังหม่นเศร้าไปกับความจริงตรงหน้า
ความจริงของธรรมชาติ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใด ย่อมส่งผลสะเทือนถึงทุกมุมของโลกเสมอ
ละหานเดือด ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม
กว่า 4 ชั่วโมงที่พี่ติ๋งพาไปสำรวจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ บึงละหาน
นับเป็น 4 ชั่วโมงที่เราลอยเรืออยู่ท่ามซากปลาจำนวนมหาศาล พร้อมกับสูดกลิ่นอันรัญจวนจากซากปลาที่เริ่มเน่าเสีย และนับเป็น 4 ชั่วโมงที่เราได้อยู่กับความเป็นจริงอีกด้านของธรรมชาติ
ความจริงของธรรมชาติ ที่เราแทบไม่รู้เลยว่า ความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับบึงละหานเมื่อก่อนหน้านี้นั้นมันจะส่งผลรุนแรงถึงเพียงนี้
นับจากฝนทิ้งช่วงไปนานหลายเดือนที่ได้มารวมกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น น้ำที่เหลือในบึงละหานจึงเกิดการระเหยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ประกอบกับภัยแล้งที่ทำให้ความต้องการน้ำจากชุมชนโดยรอบเพิ่มมากขึ้น บึงละหานก็จำต้องปล่อยน้ำออกไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว
เมื่อปริมาณน้ำเหลือน้อย และยังไม่มีน้ำทั้งจากฝนฟ้า หรือห้วยลำคันฉูกับแม่น้ำชีเข้ามาเติม นั่นจึงส่งผลให้อุณหภูมิน้ำในบึงละหานเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
บึงละหาน จึงคงสภาพอยู่เช่นนี้มาเป็นเวลานานหลายเดือน
กระทั่ง มีพายุเข้าโหมกระหน่ำอย่างฉับพลัน
เช่นนั้น ปรากฏการณ์ปลานับแสนลอยตายเกลื่อนจึงเกิดขึ้น ณ บึงละหานแห่งนี้
****************
เมื่อพี่ติ๋งพาเรือเข้าเทียบท่าอย่างช้า ๆ
เราเดินขึ้นฝั่งกันเงียบ ๆ ไร้สิ้นซึ่งบทสนทนาใด ๆ
แต่ถึงแม้ไม่มีคำพูดใด หากในใจกลับยังมากมายด้วยภาพของซากปลาจำนวนมหาศาลที่เราเพิ่งผ่านพบมา
ซากปลาตายเหนือผืนน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำบึงละหาน ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า บึงละหาน จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก
เราไม่เคยคิด จนกระทั่งได้มาพบกับความจริงด้วยตาของตนเองในวันนี้
ความจริงจากซากปลานับแสนที่เป็นสิ่งยืนยันให้เราได้รู้ว่า
“บึงละหานเดือด ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” นั้นมันรุนแรงเพียงใด
ขอขอบคุณ
ดร.นนท์ ผานิชวงศ์ แห่งกลุ่ม Siamensis
พี่ติ๋ง ที่พาออกสำรวจบึงละหานในครั้งนี้
พี่ ๆ ชาวชุมชนทุ่งบัวแดงบ้านโนนหัวช้างทุกท่านครับ
เรื่องและภาพ : มนตรี คำสิงห์