พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

คุณค่าโดยรวมของ พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำฝนและน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับสารพิษ ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) คือ พื้นที่ซึ่งมีน้ำเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดหรือควบคุมสภาพแวดล้อมและลักษณะการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำเกิดจากระดับน้ำใต้ดิน (Water Table) ที่มีระดับอยู่ใกล้กับผิวดินมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นขึ้นมา หรืออาจถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง

ดังนั้น ความหมายของพื้นที่ชุ่มน้ำจึงครอบคลุมถึงทุกพื้นที่ซึ่งมีลักษณะทางภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ชื้นแฉะ หรือเป็นแหล่งน้ำที่มีระดับน้ำเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีการไหลเวียนของน้ำตามฤดูกาล หรืออาจมีระดับน้ำขังคงที่ถาวร รวมไปถึงบริเวณริมชายฝั่งทะเลและพื้นที่ในทะเลบางส่วนที่มีความลึกหรือระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร เมื่อกระแสน้ำลดลงถึงจุดต่ำสุด

จากลักษณะทางกายภาพที่กล่าวมา ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำมีองค์ประกอบของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่หลากหลาย เนื่องจากมีระบบนิเวศที่อยู่ทั้งในเขตน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น  นาข้าว นากุ้ง และอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

พื้นที่ชุ่มน้ำสามารถจำแนกออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้

 

  • พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเลและชายฝั่ง (Marine and Coastal Wetlands) หมายถึง บริเวณในทะเลและริมชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสน้ำจากแม่น้ำ เช่น ทะเลสาบน้ำเค็ม (Lagoon) หาดทราย (Beach) และแนวปะการัง (Coral Reef) เป็นต้น

พื้นที่ชุ่มน้ำ, wetland, ธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

  • ปากแม่น้ำหรือชวากทะเล (Estuarine) หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำและทะเลมาบรรจบกัน ลักษณะของน้ำจึงเป็นน้ำกร่อย เช่น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta) ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง (Tidal Marsh) ป่าชายเลน (Mangrove Forest) หาดโคลน (Mud Flat) และแหล่งหญ้าทะเล (Seagrass Bed) เป็นต้น

 

 

  • ทะเลสาบหรือบึง (Lacustrine) หมายถึง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำขังถาวรหรือมีน้ำขังตามฤดูกาล อาจมีกระแสน้ำไหลเพียงเล็กน้อย เช่น ทะเลสาบและบึงต่าง ๆ 

พื้นที่ชุ่มน้ำ, wetland, ธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

  • แม่น้ำและแหล่งน้ำไหล (Riverine) หมายถึง แม่น้ำ ลำธาร ลำห้วย และลำคลองที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี รวมถึงพื้นที่ราบลุ่มริมชายฝั่งแม่น้ำตลอดสายและสันทรายแม่น้ำ  

 

 

  • หนองน้ำ (Palustrine) หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดหรือมีน้ำท่วมขังตามฤดูกาล มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร และมีพืชน้ำปกคลุมมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นผิวน้ำ เช่น ที่ลุ่มชื้นแฉะ (Marsh) พรุ (Bog) และมาบ (Swamp) เป็นต้น

พื้นที่ชุ่มน้ำ, wetland, ธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

  • พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) เช่น อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ นาข้าวและพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งมีน้ำท่วมขัง 

 

คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ 

โลกของเรามีพื้นที่ชุ่มน้ำรวมกันราว 10 ล้านตารางกิโลเมตร หรือราวร้อยละ 6 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งอาจเป็นเพียงพื้นที่ส่วนน้อยของโลก แต่ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นเป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืช  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน นก หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ ซึ่งทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำนับเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

นอกจากนี้  พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศและนิเวศบริการ ทั้งการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่าที่ช่วยป้องกันอุทกภัยและบรรเทาความแห้งแล้ง เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถช่วยป้องกันชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะและการพังทลาย ป้องกันคลื่นและลมทะเล รวมถึงป้องกันการรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินของน้ำทะเล อีกทั้ง ยังเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถดักจับตะกอนและแร่ธาตุ บำบัดน้ำเสียและสารพิษต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งสำหรับมนุษย์ พื้นที่ชุ่มน้ำยังมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว  ประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และยังเป็นแหล่งการเรียนรู้การศึกษาวิจัยทางธรรมชาติที่สำคัญต่อวิถีชีวิต

wetland, ธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ

ภัยคุกคามและการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในปัจจุบัน

ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วโลกต่างตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม จากการบุกรุกและการพัฒนาของสังคมมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตร การทำประมง การขยายของตัวเมือง การพัฒนาและการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่ดูเหมือนพื้นที่รกร้างตามธรรมชาติถูกทำลายลง โดยปราศจากความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญ การวางแผน การจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้อง เมื่อโลกปราศจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่เพียงเฉพาะการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แต่รวมถึงการสูญหายไปของทรัพยากรธรรมชาติและการเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศและนิเวศบริการ ซึ่งอาจเป็นผลให้มนุษย์และสังคมเมืองต่าง ๆ ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากธรรมชาติที่รุนแรงยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือการพังทลายของหน้าดิน ในอนาคต 

กว่า 40 ปีที่ผ่านมา การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพียงฉบับเดียวที่อุทิศให้กับการดูแลรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อยับยั้งการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 โดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรก คือ พรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพื้นที่ราว 16 ตารางกิโลเมตร โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีแรมซาร์ไซต์รวม 14 แห่ง เช่น ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น 

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/wetland/

World Wide Fund For Nature – http://www.wwf.or.th/what_we_do/wetlands_and_production_landscape/wetland/

Ramsar Convention – https://www.ramsar.org/sites/default/files/documents/library/info2007-01-e.pdf

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://wetland.onep.go.th/w_mean.html

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช http://web3.dnp.go.th/wildlifenew/downloads/Wetland.pdf


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แร่และหิน (Minerals and Rocks)

Recommend