ความฉลาดไม่ได้วัดที่ขนาด วิจัยใหม่พบ หมาพันธุ์เล็ก ครองแชมป์อัตราส่วนสมองต่อร่างกาย

ความฉลาดไม่ได้วัดที่ขนาด วิจัยใหม่พบ หมาพันธุ์เล็ก ครองแชมป์อัตราส่วนสมองต่อร่างกาย

น้องหมาที่ตัวใหญ่อาจไม่ได้ฉลาดมากกว่าน้องหมาตัวเล็ก ๆ งานวิจัยใหม่เปิดเผยผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ สุนัขที่ฉลาดกว่ามักจะเป็นตัวที่เล็กกว่า ซึ่งหมายความว่าเจ้าไซบีเรียนตัวป่วนอาจไม่ได้ฉลาดเท่ากับชิวาวาตัวเล็ก 

เรามักได้ยินมาเสมอว่า สุนัขพันธุ์บอร์เดอร์ คอลลี่ (Border Collie ) เบลเยียมมาลินอยส์ (Belgian Malinois) เป็นสุนัขที่ฉลาดที่สุด แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าน้องหมาตัวเล็ก ๆ ก็สามารถยืนหยัดได้อย่างน่าภูมิใจในกลุ่มผู้มีความสามารถทางสติปัญญา

เมื่อพูดถึงน้องหมามักจะมีไม่กี่สายพันธุ์ที่ชาวอินเตอร์เน็ตมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวป่วนอย่างไซบีเรียนฮัสกี้ ซึ่งแสดงท่าทางและพฤติกรรมแปลกประหลาดมากมายจนเจ้าของต้องกุมขมับ พร้อมกับกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสายพันธุ์นี้ไปแล้ว

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้บางคนตั้งคำถามว่าทำไมไซบีเรียนถึงฝึกให้เชื่องยากเย็นเหลือเกิน อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้คือจริง ๆ แล้ว ไซบีเรียนฮัสกี้ นั้นถือว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ ‘ทำงาน’ ซึ่งได้รับการผสมพันธุ์เพื่อแสดงทักษะที่ซับซ้อนและช่วยเหลือมนุษย์เช่น การนำทาง ค้นหาและกู้ภัย หรือควบคุมดูแล

โดยงานวิจัยก่อนหน้าเผยให้เห็นว่าสุนัขสายพันธุ์ทำงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นไซบีเรียน เกรทไพรีนีส หรือร็อตไวเลอร์ ต่างก็มีการทำงานของสมองที่ดีกว่า ซึ่งหมายความว่ามีการควบคุมพฤติกรรมและความจำระยะสั้นที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะตัวที่เล็กกว่า

เช่นเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นก่อนหน้าก็เผยให้เห็นว่าสุนัขที่มีสมองที่ใหญ่กว่า(ตัวใหญ่กว่า)มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโอกาสการรอดชีวิตที่สูงขึ้น การตัดสินใจที่ดีขึ้น และความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่สูงขึ้น ทว่างานวิจัยใหม่นี้ให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามอย่างน่าประหลาดใจ

“ในกลุ่มสายพันธุ์อื่น ขนาดสมองที่สัมพันธ์กัน (กับขนาดร่างกาย) บ่งบอกถึงความสามารถทางปัญญาที่สูงกว่า แต่ในกรณีนี้ เราเห็นตรงกันข้าม” ดร. อานา บัลการ์เซล (Ana Balcarcel) หัวหน้าทีมวิจัยและนักชีววิทยาวิวัฒนาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์วิวัฒนาการมงเปอลีเย (Montpellier) ในฝรั่งเศส กล่าว

ใหญ่กว่าไม่ได้ฉลาดกว่าเสมอไป

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Biology Letters ได้เปรียบเทียบอัตราส่วนของขนาดสมองกับขนาดร่างกายในสุนัข โดยวัดตัวอย่างกะโหลกศีรษะน้องหมาตัวใหญ่จำนวน 1,682 ตัวจาก 172 สายพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเบิร์นในสวิตเซอร์แลนด์

จากนั้นทีมวิจัยก็ได้คำนวณ ‘ปริมาตรภายในสมองที่สัมพันธ์กัน’ ของสุนัข ซึ่งก็คือขนาดสมองที่สัมพันธ์กับขนาดร่างกาย และท้ายที่สุดก็รวมเข้ากับข้อมูลคะแนนลักษณะพฤติกรรม 14 ประการโดยมาจากแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรม ความสามารถในการฝึก การเรียกร้องความสนใจ ความก้าวร้าว และลักษณะอื่น ๆ

ผลลัพธ์นั้นได้หักล้างงานวิจัยเดิม ๆ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า น้องหมาสายพันธุ์ทำงานอย่างไซบีเรียนฮัสกี้หรือร็อตไวเลอร์นั้นมีอัตราส่วนสมองต่อร่างกายน้อยที่สุด หรือกล่าวอย่างสุนัขเหล่านี้ไม่ได้ฉลาดที่สุด

“ผลลัพธ์ที่ได้นั้นค่อนข้างขัดกับสัญชาตญาณและตรงกันข้ามกับรูปแบบที่เราได้เห็นตลอดวิวัฒนาการของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดเวลา สัตว์ส่วนใหญ่มีขนาดสมองเพิ่มขึ้นตามสมมติฐานคือ สมองที่ใหญ่ขึ้นช่วยให้เรารอดชีวิต ช่วยให้เราแข่งขันกับสัตว์อื่นได้ดีขึ้น”

“แต่ในสุนัข มันตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง – ในวิธีการเดียวนี้ที่เราใช้วัดความสามารถทางปัญญา”

กลับกันสุนัขตัวเล็ก ๆ อย่างชิวาวา ปอมเมอเรเนียน และยอร์กเชียร์เทอร์เรียร์ กลับมีขนาดสมอง ‘ใหญ่กว่า’ เมื่อเทียบกับขนาดตัวแล้ว ดังนั้นหากยึดตามแนวคิดที่ว่า ‘ความฉลาดเท่ากับปริมาตรสมอง’ ก็จะหมายความว่า น้องหมาตัวเล็กเหล่านี้ฉลาดกว่าสุนัขตัวใหญ่สายพันธุ์ทำงานบางตัว

ตัวเล็กกว่าก็กลัวและก้าวร้าวมากกว่า

นอกจากนี้ทีมงานยังพบอีกว่า ลักษณะสมองที่ใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัวของสุนัขตัวเล็กนั้นเชื่อมโยงกับความกลัวและความก้าวร้าวมากขึ้น สายพันธุ์เหล่านี้มักจะแสดงความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจาก ‘ผู้อื่น’ และมีการเรียกร้องความสนใจมากกว่า

ซึ่งอาจอธิบายธรรมชาติของน้องหมาเหล่านั้นที่มักจะ ‘โวยวาย’ เก่ง เห่าได้ทุกคน และพร้อมบวกทุกตัว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาเหตุเป็นเพราะชิวาวาได้รับการผสมพันธุ์มาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ทำให้นิสัยอย่างการแสดงความรักใคร่และเรียกร้องความสนใจนั้นกลายเป็นลักษณะที่ถูกคัดเลือกให้ส่งต่อมา ขณะที่สุนัขสายพันธุ์ทำงานจะได้รับการผสมพันธุ์เพื่อให้ฝึกได้ง่ายมากขึ้น

“ความแตกต่างที่สำคัญในที่นี้คือ สุนัขไม่ได้อยู่ในแวดล้อมตามธรรมชาติ” ดร. บัลคาร์เซล “พวกมันเป็นผลมาจากการคัดเลือกเทียม (โดยมนุษย์) การคัดเลือกที่มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการภายใต้การควบคุมของมนุษย์”

ดร. บัลตาร์เซล ยังเสริมอีกว่าก่อนหน้านี้มักมีความเชื่อที่ว่าสุนัขตัวใหญ่มักจะฉลาดกว่า แต่ในตอนนี้เจ้าของที่มีสุนัขพันธุ์เล็ก ๆ สามารถยืนหยัดได้อย่างภูมิใจแล้วว่าเจ้าตัวน้อยเหล่านี้ก็มีที่ยืนอยู่ในกลุ่มสุนัขที่ฉลาด แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสุนัขจะมีสมองขนาดเท่าไหร่ พวกเขาก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์เสมอ

“สุนัขได้รับการผสมพันธุ์ให้มีความสามารถในการรับรู้ที่แตกต่างกัน” ดร. บัลคาร์เซล กล่าว “ดังนั้นแม้ว่าสุนัขของคุณจะมีสมองเล็ก(เมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย) แต่สุนัขเหล่านี้ก็มีความพิเศษและมีความเชี่ยวชาญในแบบของตัวเอง”

สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ :  Hannele Lahti, Nat Geo Image Collection

ที่มา

https://royalsocietypublishing.org

https://www.livescience.com/a

https://www.telegraph.co.uk


อ่านเพิ่มเติม : วิทยาศาสตร์ยืนยัน เจ้าของเป็นอย่างไร สุนัขก็เป็นอย่างนั้น

Recommend