ภายหลังมัมมี่ลูกเสือเขี้ยวดาบตัวแรกของโลกได้รับการค้นพบซากในไซบีเรียเมื่อปี 2020 เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาถึงกายวิภาคของสุดยอดนักล่าชนิดนี้ ซึ่งเป็นกุญแจไขความลับเมื่อหลายปีก่อน
เป็นเวลานานกว่า 200 ปีแล้วที่นักบรรพชีวินวิทยาได้ตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าเสือเขี้ยวดาบนั้นมีลักษณะอย่างไรกันแน่ แม้จะมีแบบจำลองในพิพิธภัณฑ์ ในศิลปะโบราณที่น่าทึ่ง และโลดเล่นในภาพยนตร์เกี่ยวกับยุคน้ำแข็ง แต่รูปลักษณ์จริง ๆ ของ ‘เจ้าเขี้ยวดาบ’ เหล่านี้ยังคงเป็นปริศนา
เสื้อเขี้ยวดาบ (Homotherium latidens) เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีเอกลักษณ์ แต่อย่างไรก็ตามด้วยอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ยุคน้ำแข็งค่อย ๆ ถดถอยลง ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตนี้สูญพันธุ์ไป และที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญทำได้เพียงพิจารณากระดูกและรอยเท้าที่กลายเป็นฟอสซิลบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่ตอนนี้เจ้าลูกแมวเสือเขี้ยวดาบที่ถูกแช่แข็งไว้ในชั้นดินเยือกแข็งหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เพอร์มาฟรอสต์’ (Permafrost) ของไซบีเรียก็ทำให้โลกได้เห็นเขี้ยวดาบที่เคยเดินแต่ไปทั่วซีกโลกเหนือเมื่อประมาณ 32,000 ปีก่อนชัดเจนขึ้น
“ฉันตื่นเต้นมากที่ได้เห็นตัวอย่างที่น่าทึ่งเช่นนี้” แอชลีย์ เรย์โนลด์ส (Ashley Reynolds) นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งแคนาดา กล่าว
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพบมัมมี่แมมมอธและสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันของรัสเซียนี้มาแล้วหลายตัว แต่สัตว์นักล่าชั้นยอดกลับหาได้ยากยิ่งเมื่อเทียบกับเหยื่อของมัน การค้นพบมัมมี่เสือเขี้ยวดาบจึงเป็นอะไรที่มีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากเหยื่อมักจะมีจำนวนมากกว่านักล่าในป่าอยู่แล้ว แต่แล้วในปี 2020 เอ.วี. โลปาติน (A.V. Lopatin) นักโบราณคดีจากสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซียได้พบกับซากหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกอัศจรรย์ใจ
“ซากมัมมี่แช่แข็งนี้ถูกค้นพบโดยนักขุดค้นที่กำลังตามหาเขี้ยวแมมมอธ” โลปาติน กล่าวและว่า เขาและเพื่อนร่วมงาน “ประหลาดใจและดีใจอย่างมาก” ที่ได้พบกับตัวอย่างนี้ซึ่งเพิ่งได้รายงานไว้บนวารสาร Scientific Report
ลูกสัตว์แช่แข็งตัวนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นรูปลักษณ์ของแมวเขี้ยวดาบในชีวิตจริงเป็นครั้งแรกเท่านั้นตามที่เรย์โนลด์สกล่าว แต่ยังแสดงถึงช่วงชีวิตที่นักโบราณคดีรู้ไม่มากนัก เนื่องจากฟอสซิลส่วนใหญ่มาจากสัตว์ที่โตเต็มวัยเท่านั้น
ขนที่แท้จริงของเสือเขี้ยวดาบ
หลังจากใช้เวลาตรวจสอบสักพัก โลปาตินและเพื่อนร่วมงานของเขาก็ระบุว่ามัมมี่ตัวนี้เป็นลูกของสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า” โฮโมเทอเรียม ลาติเดนส์” (Homotherium latidens) เป็นสัตว์กินเนื้อที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่าเสือเขี้ยวดาบที่มีเขี้ยวขนาดใหญ่โผล่ออกมาจากปาก
มันเป็นนักล่าที่มีรูปร่างสูงยาวและมีอาณาเขตกว้างไกล ซึ่งเหมาะกับการวิ่งไล่เหยื่อมากกว่าที่จะซุ่มโจมตีแบบที่สัตว์นักล่าอื่น ๆ ใช้ แมวใหญ่ชนิดนี้พบได้ทั้งในยูเรเซียและอเมริกาเหนือ โดยล่าลูกแมมมอธและสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ
การค้นพบแหล่งฟอสซิลก่อนหน้าเช่นในถ้ำฟรีเซนฮานในเท็กซัสชี้ให้เห็นว่า บางครั้งเสือเขี้ยวดาบจะสร้างโพรงในถ้ำเพื่อเลี้ยงลูกของมัน อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อมูลมากขนาดนี้แต่หากไม่มีฟอสซิลที่เก็บรักษาเนื้อเยื่ออ่อนเช่น ขน กล้ามเนื้อ หรือผิวหนังไว้อย่างดี นักบรรพชีวินวิทยาก็ได้แต่ถกเถียงกันว่า โฮโมเทอเรียม จะมีลักษณะอย่างไรกันแน่
ตัวอย่างเช่น ศิลปินหลายคนมักจะวาดภาพเสือเขี้ยวดาบที่มีปลายเขี้ยวยื่นออกมาด้านล่างของปาก ซึ่งอาจเป็นเรื่องจริงสำหรับสัตว์บางชนิด แต่การวิเคราะห์ในปี 2022 แสดงให้เห็นว่าโฮโมเทอร์เรียมกลับมีขากรรไกรที่ลึก ซึ่งเขี้ยวดาบของมันจึงเปรียบเสมือน “อาวุธซ่อนเร้น” ที่ถูกปกคลุมด้วยริมฝีปากบนเมื่อปากปิดอยู่
กระนั้นการจะตอบคำถามได้อย่างแท้จริงว่าโฮโมเทอเรียมตัวเต็มวัยนั้นมีปากที่คลุมเขี้ยวจริง ๆ หรือไม่ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายแม้แต่กับซากมัมมี่ก็ตาม โลปาตินตั้งข้อสังเกตว่าริมฝีปากของลูกเสือเขี้ยวดาบที่พบนั้นมีริมฝีปากบนลึกกว่าลูกสิงโตในปัจจุบันถึง 2 เท่า
สิ่งนี้ทำให้ภาพชัดเจนขึ้นว่าลูกโฮโมเทอเรียมอาจมีขากรรไกรที่สามารถปกปิดเขี้ยวยาวที่จะงอกขึ้นมาภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม เรย์โนลดส์ เตือนว่า ลูกเสือเขี้ยวดาบตัวนี้ยังไม่มีฟันแท้ ดังนั้นจึงมีเพียงมัมมี่ของโฮโมเทอเรียมตัวเต็มวัยเท่านั้นที่จะสามารถยุติการถกเถียงเรื่องนี้ได้
แต่การค้นพบซากลูกเสือเขี้ยวดาบก็แสดงให้เห็นว่ามัมมี่โฮโมเทอเรียมตัวเต็มวัยอาจกำลังรอการค้นพบอยู่เช่นกัน ทั้งนี้มันก็ได้ยืนยันสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวกับกายวิภาคของลูกเสือที่นักบรรพชีวินวิทยาคาดหวังไว้
“ลูกเสือมีกล้ามเนื้อคอที่โตเต็มที่ ซึ่งเชื่อกันว่ามันเกิดขึ้นตอนที่โตเต็มวัย และยังมีขาหน้ายาวกับมีกล้ามเนื้อเหมือนที่พบในโฮโมเทอเรียมตัวเต็มวัยอื่น ๆ” มาร์กาเร็ต ลูอิส (Margaret Lewis) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยสต็อกตันในนิวเจอร์ซี ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับการศึกษานี้กล่าว
ขากรรไกรของลูกเสือยังสามารถอ้าปากกว้างได้ซึ่งโฮโมเทอเรียมตัวเต็มวัยเคยใช้กัดเหยื่อ นอกจากนี้สีสันของแมวใหญ่โบราณนี้ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยสำหรับสีขนของแมวใหญ่ในปัจจุบันมักจะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่พวกมันใช้ล่าเหยื่อ
ทั้งสิงโต คูการ์ และแมวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแหล่งเปิดที่เป็นทุ่งหญ้านั้นมักจะมีสีขนที่อ่อนและสม่ำเสมอกัน ดังนั้นเมื่อพิจารณาว่าโฮโมเทอเรียมที่เดินในพื้นที่หนาวเย็น มีต้นไม้ไม่กี่ต้น แต่มีหญ้ามากมาย มันจึงดูเหมือนว่าแมวใหญ่โบราณตัวนี้น่าจะมีสีขนที่เหมาะกับการกลมกลืนไปกับพื้นที่ที่เปิดโล่ง
“สีน้ำตาลเข้มสม่ำเสมอของขนในซากมัมมี่นั้นเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเลย” โลปาตินกล่าวและว่า คล้ายกับลูกสิงโตถ้ำที่พบในดินเยือกแข็งหลายปีก่อน เขาตั้งข้อสังเกตว่าลูกเสือเขี้ยวดาบน่าจะเกิดมาพร้อมกับขนสีที่เข้มกว่าและจะจางลงเมื่อโตขึ้น
เป็นเรื่องน่าสนใจที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีจุดหรือลายบนตัวลูกเลย ทั้งนี้เนื่องจากลวดลายนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในแมวยุคใหม่ แม้แต่ในสปีชีส์ที่มีขนสม่ำเสมอมากขึ้นเมื่อโตเต็มวัย ลูอิสตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์ที่ถูกแช่แข็งมักจะมีสีออกแดง ดังนั้นขนปัจจุบันของลูกแมวอาจไม่ได้สะท้อนสีจริง ๆ ของมันเมื่อโตเต็มวัย
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของขนต่อไปอาจช่วยชี้แจงได้ว่าจริง ๆ แล้วโฮโมเทอเรียมนั้นมีสีอะไรกันแน่
เสือเขี้ยวดาบกับแมวในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบลูกเสือตัวนี้ต่อไปอีกสักระยะ เสือเขี้ยวดาบเป็นตัวอย่างแรกของมัมมี่ยุคน้ำแข็งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่มีสัตว์ชนิดอื่นมาเปรียบเทียบแบบตรง ๆ ได้ในปัจจุบัน พวกมันเชี่ยวชาญการล่าแมมมอธและสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น
ทว่ามันก็ตายลงเมื่อเหยื่อขนาดยักษ์ของมันหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ ขณะที่แมวใหญ่ตัวอื่น ๆ ไม่เคยล่าเหยื่อในลักษณะนี้มาก่อน ดังนั้นเนื้อเยื่ออ่อนของฟอสซิลจึงเพิ่มรายละเอียดข้อมูลได้มากมายจากการที่นักบรรพชีวินวิทยาได้แต่เดาจากกระดูกเท่านั้น แม้แต่เท้าเล็ก ๆ ของลูกแมวตัวนี้ก็ยังให้ข้อมูลใหม่ ๆ ได้
“นิ้วเท้าแต่ละนิ้วในอุ้งเท้านั้นกลมกว่าของสิงโตมาก” เรย์โนลด์ส กล่าว และลูกเสือตัวนี้ไม่มีแผ่นกระดูกที่โดดเด่นซึ่งอยู่สูงกว่าขาของแมวในปัจจุบัน เหตุผลนั้นยังไม่ชัดเจน แต่การตรวจสอบความแตกต่างอาจช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญแยกแยะได้ดีขึ้นว่าเสือเขี้ยวดาบแตกต่างจากแมวขนาดใหญ่ในปัจจุบันอย่างไร
โฮโมเทอเรียมและญาติของมันไม่ใช่แค่สิงโตที่มีเขี้ยวยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นนักล่าที่วิวัฒนาการมาในโลกที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้อย่างสิ้นเชิงซึ่งถูกยึดครองโดยสิ่งมีชีวิตยักษ์ใหญ่ที่แปลกประหลาดมากมาย
ลูกเสือเขี้ยวดาบตัวน้อยที่ถูกแช่แข็งนี้จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงไปยังยุคดังกล่าว ยุคที่เสือเขี้ยวดาบยังคงเดินล่าเหยื่ออยู่บนทุ่งหญ้าหนาวเย็น
สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : ALEXEY V. LOPATIN
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com