ทั้งรักทั้งชัง เจ้า ‘งูหางกระดิ่ง’

ทั้งรักทั้งชัง เจ้า ‘งูหางกระดิ่ง’

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับทะเลทรายอันบริสุทธิ์ไปสู่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบต่องูอย่างไร

ค่ำคืนแห่งการพบเจองูหางกระดิ่งเกือบจะเรียกได้ว่าต่อเนื่องนั้นช่างน่าเบิกบาน อุณหภูมิกำลังสบาย ความชื้นต่ำ และเบียร์เย็นฉ่ำ รถกอล์ฟไฟฟ้าเคลื่อนไปอย่างเงียบเชียบในคืนข้างขึ้น ข้ามเส้นทางสูงๆต่ำๆ เมื่อแสงไฟหน้ารถส่องไปเจองูพิษสักตัวหนึ่ง แมต กู๊ด จะกระโดดลงจากรถ แล้วใช้ไม้จับงูตัวนั้นยื่นให้ฉันดูอย่างใจเย็น

ช่วงนั้นเป็นต้นเดือนกันยายน ฤดูภาคสนามของนักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกใกล้จะสิ้นสุดลง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาผู้นี้และลูกศิษย์จับงูมานานกว่า 20 ปีแล้ว รวมถึงงูหางกระดิ่งไดมอนด์แบ็ก ถิ่นตะวันตก งูหางกระดิ่งลายเสือ และงูหางกระดิ่งหางดำ จนถึงขณะนี้พวกเขาพบงูมากกว่า 7,000 ตัวบนเส้นทางรถกอล์ฟของสนามกอล์ฟสโตนแคนยอนในหุบเขาโอโร เหนือเมืองทูซอนขึ้นไปไม่ไกลนัก และบนถนนส่วนบุคคลรอบๆ ที่เรียงรายไปด้วยบ้านหรูราคาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในคืนที่มือขึ้น ทีมของกู๊ดอาจจับงูได้มากถึง 20 ตัว วันรุ่งขึ้นในห้องปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัย ลูกศิษย์ของเขาจะวัดขนาด ระบุเพศ ชั่งน้ำหนัก และทำเครื่องหมายงูที่จับได้สำหรับระบุตัวหากถูกจับมาอีก (โดยทาสีบนกระดิ่งหางและฝังไมโครชิปขนาดจิ๋วไว้ใต้ผิวหนัง) ก่อนจะนำกลับไปปล่อยในบริเวณที่ถูกจับมา คำถามหลักในงานวิจัยของกู๊ดคือ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับทะเลทรายอันบริสุทธิ์ไปสู่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบต่องูอย่างไร ซึ่งกลายเป็นความย้อนแย้งในการอนุรักษ์ กล่าวคือ เมื่อเทียบกับงูในพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติมากกว่า งูในสโตนแคนยอนกลับมีขนาดใหญ่กว่า ออกลูกมากกว่า และขยายอาณาเขตไปทั่วย่านบ้านหรูเหล่านั้น บางทีการที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่อยู่ในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดอาจเป็นประโยชน์กับงู

ขณะเราขับรถกอล์ฟข้ามสะพานผ่านน้ำตกเทียมไป กู๊ดอุทานเสียงดังว่า “ช่างสมบูรณ์อะไรอย่างนี้!” ด้วยระบบชลประทาน พืชพรรณจึงออกดอกออกผลอุดมสมบูรณ์ ดึงดูดผู้บริโภคหลักๆให้เข้ามา เช่น หนูกระเป๋าขนเรียบ บนทางเดินระหว่างหลุมกอล์ฟที่เขียวขจี ไฟฉายคาดศีรษะของเราส่องไปเห็นฮาเวลินาฝูงเล็กๆ ซึ่งอยู่ในวงศ์เพ็กคารี (หมูป่าโลกใหม่)ในหมู่ไม้ สิงโตภูเขาตัวหนึ่งค่อยๆถอยฉากออกไป กู๊ดเคยเห็นแมวป่าบ็อบแคต หมาป่าไคโยตี และแรกคูนที่นี่ ชัดเจนว่าที่นี่เป็นสวนสวรรค์ของงู เพราะมีสัตว์ฟันแทะ นก และไข่ให้กินอย่างเหลือเฟือ อีกทั้งกองหินที่ถูกรถเกลี่ยดินดันมากองไว้ยังให้ที่หลบซ่อนมากมายแก่พวกมันด้วย

กู๊ดติดตั้งป้ายให้ความรู้ไว้ตามที่ต่างๆเพื่อพยายามลดทอนสัญชาตญาณดิบของผู้คนลง (กระหน่ำตีงูหางกระดิ่งด้วยไม้กอล์ฟ) แต่บนถนนในบริเวณใกล้เคียงมีซากงูถูกรถทับเป็นครั้งคราว “คุณต้องถามว่า” กู๊ดพูดพลางถอนหายใจ “การพัฒนานี้เป็นกับดักทางนิเวศวิทยาหรือไม่ มันยั่งยืนอย่างไร ชะตากรรมของทุกชนิดพันธุ์ล้วนผูกติดอยู่กับการรบกวนต่างๆที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ครับ” ตัวอย่างเช่น สนามกอล์ฟอาจสูญเสียแหล่งน้ำ และนกครึ่งหนึ่งอาจหนีไป เขาบอกว่า ที่คุณเชื่อได้แน่ๆว่าผู้คนจะทำ ก็คือทำให้ทุกอย่างเละเทะไปหมด

งูหางกระดิ่งหางดำถิ่นตะวันออกตัวนี้ขดตัวอยู่บนท่อนซุง หลังจากคนขับรถยนต์ย้ายมันให้พ้นจุดอันตรายบนถนนในเทือกเขาเดวิสของภูมิภาคเวสต์เท็กซัส เมื่ออากาศเย็น งูมักอาบแดดบนพื้นผิวที่อบอุ่นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย
หัวที่ถูกตัดของงูหางกระดิ่งไดมอนด์แบ็กถิ่นตะวันตกถูกนำมาวางขายในเทศกาลจับงูหางกระดิ่งประจำปีที่เมืองสวีตวอเตอร์ รัฐเท็กซัส งูชนิดนี้และงูหางกระดิ่งชนิดอื่นมักถูกล่าเพื่อเอาหนังและชิ้นส่วนต่างๆ มาทำกระเป๋าสตางค์ เข็มขัด ต่างหู และของกระจุกกระจิก
งูหางกระดิ่งหลายร้อยตัวถูกขังอยู่ในคอกชมงูที่เทศกาลจับงูสวีตวอเตอร์ หลังจากผู้ดูแลงูชั่งน้ำหนัก วัดขนาด และบันทึกเพศงูในระเบียนแล้ว งูจะถูกนำไปแสดง “เพื่อการศึกษา” คือรีดพิษ จากนั้นถูกตัดหัวเพื่อสร้างความบันเทิงให้ผู้ชม
งูหางกระดิ่งลายเสือพบตามเชิงเขาหินตั้งแต่ตอนกลางของรัฐแอริโซนาไปจนถึงรัฐโซโนรา ประเทศเม็กซิโก พวกมันไม่ต่างจากงูหางกระดิ่งชนิดอื่นๆ ที่มักหลีกเลี่ยงการโจมตี พิษของมันจัดอยู่ในกลุ่มพิษงูหางกระดิ่งที่ร้ายแรงที่สุด

งูในสโตนแคนยอนอาจอยู่ดีมีสุข แต่ชะตากรรมของงูหางกระดิ่งอื่นๆส่วนใหญ่ ซึ่งกว่า 50 ชนิดพบเฉพาะในทวีปอเมริกาเท่านั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า จากแถบตะวันตกเฉียงใต้ของแคนาดาไปจนถึงตอนกลางของอาร์เจนตินา ผู้คนยังคงจับงูไปเป็นสัตว์เลี้ยงหรือส่งตลาดค้าหนังงู เบนรถเพื่อทับงูให้ตายบนถนน และแผ้วถางถิ่นอาศัยของงูเพื่อจัดสรรที่ดิน สร้างท่อส่งน้ำมัน และตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ งูหางกระดิ่งป่าเคยมีอยู่อย่างชุกชุม แต่ถูกล้างบางจนหมดไปจากหลายรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐฯและออนแทรีโอในแคนาดา พวกมันยังมีสถานภาพถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์เป็นแห่งๆทั่วถิ่นกระจายพันธุ์ในสหรัฐฯ ขณะที่งูหางกระดิ่งชนิดอื่นอีกหลายชนิดถูกจัดว่าถูกคุกคามจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

วันปลายฤดูร้อนวันหนึ่ง ฉันได้เห็นว่านักอนุรักษ์พยายามมากแค่ไหนในการปกป้องงูหางกระดิ่งป่าที่เหลืออยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากมหาวิทยาลัยอีสต์สเตราด์สเบิร์ก ทอมัส ลาดุ๊ก ซึ่งสวมปลอกขากันงู ค่อยๆเดินอย่างระมัดระวังไปตามแนวสันเขาที่เต็มไปด้วยหินในภูเขาฮอว์ก เขตสงวนพื้นที่ 6,250 ไร่ซึ่งดึงดูดนักดูนกให้หลั่งไหลมาในฤดูนกอพยพ

“ดูสิครับ” ลาดุ๊กพูดขึ้นพลางพยักเพยิดไปทางชะง่อนหิน ห่างออกไปไม่ถึงสามเมตร ฉันมองเห็นตัวอะไรสีดำๆ เหลืองๆขดเป็นกองหนา ฉันไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองขยับเข้าไปใกล้มันทีละน้อย คาดหวังไว้ว่าจะได้ยินเสียง “แกร๊กๆๆๆ” อันเป็นเอกลักษณ์ แต่เงียบสนิท เจ้างูตัวนี้แค่อยากอาบแดด

ทางด้านขวา ฉันเห็นงูขดตัวเป็นกองอีกตัวหนึ่ง “เพศเมีย” ลาดุ๊กบอก “น่าจะตั้งท้องอยู่ครับ” หัวของมันซึ่งเหมือนหัวของงูหางกระดิ่งทุกตัว เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วเรียวลงไปถึงคอที่แคบ รูม่านตาเป็นแนวตั้ง รูปตัววีสีเหลืองและสีดำที่เรียงลงไปตามแนวกระดูกสันหลังดูหรูหราเหมือนกำมะหยี่ ขณะฉันจ้องมองมัน มันค่อยๆคลายตัวออกช้าๆ จากนั้นมันก็แทรกตัวหายเข้าไปในรอยแยก

ฉันกับลาดุ๊กเดินต่อไปบนแนวสันเขานั้น แล้วลงไปยังลานหินเชิงผาถัดลงไปจากเส้นทางที่ใช้เดินกันเป็นประจำ ตอนแรกฉันเห็นแต่หิน แต่แล้วก็ตระหนักถึงความจริงอีกข้อหนึ่งเหมือนที่เพิ่งพานพบมา บนหินมนใหญ่ที่ยื่นออกมามีงูขดตัวอยู่ จากนั้น ห่างออกไปสองเมตร ก็มีอีกตัวหนึ่ง เมื่อกวาดสายตาไปบนลานหินมนใหญ่นี้ โดยระวังให้ขยับเพียงลูกตา ฉันนับกองงูหางกระดิ่งได้เพิ่มอีกหกกอง

บนยอดของกองหนึ่ง ลูกงูเกิดใหม่สีกากีมีลายแถบสีน้ำตาลครอกหนึ่งบิดตัวไปมา ลาดุ๊กบอกว่า แม้เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ พวกมันก็มีลำตัวยาวกว่า 18 เซนติเมตรแล้ว แถมมีพิษ เขี้ยวกลวง และปล้องปลายหางขนาดจิ๋วปล้องหนึ่งที่เรียกว่าปุ่ม  ทุกครั้งที่งูหางกระดิ่งลอกคราบ พวกมันจะมีปล้องกำเนิดเสียงเพิ่มอีกหนึ่งปล้อง (ปล้องกำเนิดเสียงมักหลุดไป ดังนั้น จำนวนปล้องจึงไม่ได้บอกอายุเสมอไป) ตัวเต็มวัยลอกคราบปีละสองครั้ง ส่วนงูวัยอ่อนลอกคราบบ่อยกว่า

หลังได้รับการปกป้องจากแม่หนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยกว่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลูกงูจะดูแลตัวเอง พวกมันลอกคราบเป็นครั้งแรก จากนั้นอาจเริ่มแกะรอยสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนูและหนูผี โดยใช้อวัยวะตรวจจับกลิ่นบนเพดานปากที่เรียกว่า อวัยวะโวเมอโรเนซัล (vomeronasal organ) และอวัยวะตรวจจับความร้อนภายในหลุมเล็กๆระหว่างดวงตากับ รูจมูก พวกมันซุ่มโจมตีเหยื่อ ฉีดพิษที่รุนแรงมากเข้าไปปริมาณหนึ่ง จากนั้นกลืนกินเหยื่อทั้งตัว

เมื่ออากาศเย็นลง งูหางกระดิ่งวัยอ่อนจะตามรอยกลิ่นแม่ของมันกลับไปยังรังของครอบครัว หรือโพรงจำศีล พวกมันใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวขดตัวอยู่กับญาติๆทุกช่วงวัย รวมถึงเพศผู้ที่กลับมาจาก “การนัดออกเดต” กับเพศเมียไกลออกไปกว่าสามกิโลเมตร รวมทั้งงูชนิดอื่น เช่น งูเรซเซอร์และงูคอปเปอร์เฮด ที่ในช่วงเวลาอื่นอาจกินลูกงูหางกระดิ่งเป็นอาหาร ระหว่างจำศีล งูไม่สนใจเรื่องการกินอาหาร ถ้าอาบแดดไม่ได้ พวกมันก็ย่อยอาหารไม่ได้

ลาดุ๊กกับลูกศิษย์ติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุและติดตามงูหางกระดิ่งป่าในภูเขาฮอว์กนานเกือบสามปี พวกเขาประเมินขนาดประชากรและระบุตำแหน่งโพรงจำศีลที่สำคัญๆของพวกมัน งูเพศเมียรวมทั้งลูกเกิดใหม่และพวกที่ยังโตไม่เต็มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อาบแดด กินอาหาร ผสมพันธุ์ และออกลูกภายในรัศมีหลายร้อยเมตรจากที่ซ่อนตัวใต้ดินเหล่านี้และบรรดานักดูนกผู้มาเยือน ลาดุ๊กเคยแนะนำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขาฮอว์กปรับเปลี่ยนเส้นทางบนสันเขาใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอาบแดดเหล่านี้ ซึ่งเขตรักษาพันธุ์ก็ทำตาม

ทุกวันนี้ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกถือว่า ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ซ่อนตัวและแหล่งอาบแดดของงูหางกระดิ่งเป็นความลับระดับรัฐทีเดียว บางคนใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆท่องไปตามสื่อสังคมต่างๆ แล้วโน้มน้าวผู้ที่ชอบโพสท่าถ่ายรูปกับงูให้ลบการติดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์จากโพสต์ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม “การที่คนสนใจงูหางกระดิ่งก็ดีอยู่หรอกครับ” ลาดุ๊กบอก “แต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของผลกระทบที่พวกเขามีต่อประชากรงู”

ภาพบนแผ่นหิน เช่น ภาพงูหางกระดิ่งบนหินบะซอลต์ภาพนี้ที่แหล่งภาพบนแผ่นหินเพนเท็ดร็อกในแมริโคปาเคาน์ตี รัฐแอริโซนา ชี้ให้เห็นว่างูอยู่ร่วมกับมนุษย์มาหลายศตวรรษแล้ว ศิลปะบนแผ่นหินที่ชนพื้นเมืองสกัดขึ้นนี้มีอายุย้อนกลับ ไปราว 1,400 ปี
เมืองเอลแพโซ รัฐเท็กซัส ผู้เพาะพันธุ์งู ไคล์ วาร์กัส จับงูหางกระดิ่งหินลายแถบ ซึ่งเป็นหนึ่งในงูราว 350 ตัว ที่เขาครอบครอง งูที่เขาเพาะเลี้ยงได้สำเร็จชนิดนี้ปกติอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงทางตอนใต้ของสหรัฐฯ และเม็กซิโก
งูหางกระดิ่งหลายชนิดมีกระดิ่งหางที่เรืองแสงในเวลากลางคืน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากลไกลนี้ใช้ล่อเหยื่อ
งูหางกระดิ่งไดมอนด์แบ็กแดงอาศัยอยู่ท่ามกลางเศษใบไม้ในแซนดีเอโกเคาน์ตี รัฐแคลิฟอร์เนีย ถิ่นกระจายพันธุ์ของงูชนิดนี้กำลังหดตัวลง โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่ง เพราะอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่หนาแน่น

การโน้มน้าวสาธารณชนให้ปกป้องงูพิษอาจเป็นเรื่องยาก งูหางกระดิ่งทำให้เราทั้งหลงใหลและหวาดกลัวด้วยความสามารถในการที่พวกมันยังคงซ่อนตัวอยู่ได้และร่างกายที่แข็งแรงอย่างน่าประหลาด เขี้ยวแหลมราวกับเข็ม และพิษร้ายแรง

มนุษย์กับงูหางกระดิ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนเสมอมา ชาวโฮปีในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯถือว่างูหางกระดิ่งเป็นผู้นำสารไปยังวิญญาณผู้ประทานฝนของโลก และเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมที่จัดขึ้นทุกสองปี ชาวอัซเต็กและ ชาวยูกาเต็กมายาแห่งเมโสอเมริกายุคก่อนโคลัมบัสเคารพงูหางกระดิ่ง โดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฝนและฤดูเพาะปลูก ชาวอาปาเชเชื่อมโยงงูกับการเกิดใหม่และการฟื้นคืนสภาพเดิม ขณะที่วัฒนธรรมอเมริกันพื้นเมืองอื่นๆเชื่อมโยงงูกับความรุนแรงและการแก้แค้น

สำหรับชาวอาณานิคมยุโรปยุคแรก งูหางกระดิ่งซึ่งพบในโลกใหม่เท่านั้น คือสัญลักษณ์ของความเป็นชายชาตรีและความไม่เกรงกลัวสิ่งใด

แต่ความนับถืองูจบลงเพียงเท่านี้ ตลอดศตวรรษที่สิบเจ็ดและสิบแปด ชุมชนต่างๆเสนอเงินรางวัลสำหรับงูหางกระดิ่ง ที่ตายแล้ว (ธรรมเนียมที่รัฐนิวยอร์กและรัฐเวอร์มอนต์ทำต่อมาจนถึงทศวรรษ 1970) หลายรัฐเคยจัด (บางรัฐยังคงจัดอยู่) เทศกาลจับงูประจำปีที่ฆ่างูหลายร้อยตัว บางครั้งหลายพันตัว โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย

“ผมระอากับการเที่ยวสอนคนว่างูไม่ได้จงใจจะเล่นงานคุณหรอกนะ” แมตต์ กู๊ด พูดขึ้นขณะเราง่วนกับการหางูใน สโตนแคนยอน “แต่ผมไม่รู้ว่าเรามีความก้าวหน้ามากแค่ไหนแล้ว” ในหลายพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ การฆ่า งูหางกระดิ่งหลายชนิดเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และหลายคนก็ฆ่าได้มากโขทีเดียว

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

ภาพถ่าย ฆาบิเอร์ อัซนาร์ กอนซาเลซ เด รูเอดา


อ่านเพิ่มเติม : “ค้างคาว” สุดยอดผลงานวิวัฒนาการ แพรวพราวยามโบยบิน ทนทานต่อโรคจนน่าฉงน

Recommend