การ จับแมลง เกินขนาดในยูกันดา และภาวะคุกคามจากโลกร้อน

การ จับแมลง เกินขนาดในยูกันดา และภาวะคุกคามจากโลกร้อน

เหล่านักวางกับดัก จับแมลง จอมกระโดดนำแหล่งโปรตีนสำคัญมาสู่ท้องตลาดในยูกันดา แต่การจับเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นภัยคุกคามอาหารแห่งอนาคตนี้

ค่ำคืนหนึ่งที่อากาศเย็นยะเยือก และลมพัดแรงบนยอดเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูกันดา

กระแสลมเขย่าแผ่นสังกะสีขนาดหนึ่งคูณสองเมตรที่ตั้งเรียงกันเป็นผนังลาดเอียงของกับดักยักษ์สำหรับ จับแมลง เครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซลส่งเสียงดังกระหึ่มห่างออกไปไม่กี่เมตร ป้อนไฟฟ้าให้หลอดไฟขนาด 400 วัตต์ที่อยู่ตรงกลาง แสงไฟสว่างมากจนมนุษย์ตาพร่า แต่ดึงดูด รัสโปเลีย ดิฟเฟอเรนส์ (Ruspolia differens) ในยูกันดา มักเรียกแมลงชนิดนี้ว่า “ตั๊กแตน” หรือ เอ็นเซเนเน แต่ที่จริงพวกมันคือ จิ้งหรีดพุ่มไม้หัวแหลม

ตรงปลายด้านล่างของแผ่นสังกะสีเหล่านั้นมีถังน้ำมันหลายสิบใบรองอยู่ กิกกันดู อิสลาม นายกสมาคมนักจับจิ้งหรีดพุ่มไม้ในท้องถิ่น คาดหวังว่าอีกไม่นานถังจะเต็มไปด้วยแมลงตัวยาวเกือบแปดเซนติเมตรชนิดนี้นับล้านๆตัว

“ผู้มาเยือน” ซึ่งเป็นชื่อที่คนท้องถิ่นเรียก มารวมตัวกันเพื่อผสมพันธุ์และหากินเป็นฝูงขนาดมหึมา หลังฤดูฝนของแต่ละปีในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ เมื่อผู้คนหลายร้อยจากทั่วประเทศผละงานประจำของตัวเอง ออกมาจับพวกมัน จิ้งหรีดทอดโรยเกลือเป็นของดีราคาแพงในยูกันดา ขายถุงละสองดอลลาร์สหรัฐตามตลาดนัด ลานจอดรถโดยสารสาธารณะ และริมถนน

ตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายนปี 2020 และควรอยู่กลางช่วงจับแมลงในฤดูใบไม้ร่วงในฮารุก็องโก ตามตำนานเล่าขานกันว่า แมลงชนิดนี้มาจากดวงจันทร์ ซึ่งคืนนี้เต็มดวง แต่ “เราจับไม่ได้เลยครับ” อิสลามกล่าว “พวกมันอยู่ที่ไหนกันหมด”

จับแมลง
ภาพถ่ายกับดักจากมุมสูงแสดงให้เห็นการร่วมมือกันของผู้จับจิ้งหรีดในการเพิ่มแสงสว่างและความอบอุ่น เพื่อดึงดูดจิ้งหรีดพุ่มไม้ให้มามากขึ้น หลายทศวรรษก่อน ผู้คนใช้ผ้าปูที่นอนรวบรวมแมลงสำหรับบริโภค ในครัวเรือน แต่ความนิยมในเอ็นเซเนเนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเปลี่ยนกิจกรรมการจับจิ้งหรีดให้กลายเป็นธุรกิจ นำไปสู่การการติดตั้งกับดักขนาดใหญ่อย่างแพร่หลาย

จิ้งหรีดพุ่มไม้และแมลงกินได้อื่นๆ อุดมด้วยโปรตีนและธาตุเหล็ก สังกะสี รวมทั้งแร่ธาตุจำเป็นอื่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) ยกย่องให้เป็น “แหล่งอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นหัวใจของ สร้างความมั่นคงทางอาหาร บรรเทาความหิวโหย และป้องกันภาวะพร่องโภชนาการ อาหารประเภทนี้มีความสำคัญ ต่อประเทศอย่างยูกันดา ซึ่งเด็กเกือบหนึ่งในสามมีภาวะแคระแกร็น และครึ่งหนึ่งของเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบกับ หนึ่งในสามของผู้หญิงมีภาวะโลหิตจาง

แต่สิ่งที่เคยเป็นการจับแบบรายย่อยและเก็บไว้บริโภคเองในยูกันดา กลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้กับดักขนาดยักษ์ติดตั้งตามยอดเขาและหลังคาบ้านเรือน ซึ่งดักจับจิ้งหรีดได้ครั้งละหลายตันเพื่อสนอง อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณการจับที่ลดลงชี้ว่า จิ้งหรีดพุ่มไม้กำลังถูกจับเกินขนาด นำไปสู่แรงกดดันให้ ใช้วิธีจับที่ยั่งยืนกว่านี้

ตอนที่อิสลามเริ่มดักจับแมลงเมื่อปี 2017 เขาจับเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น พวกเขาจับจิ้งหรีดที่มาเล่นแสงไฟสปอตไลต์กันขโมยที่บ้าน แต่ตลาดที่กำลังเติบโตรับประกันรายได้งามๆ ไม่นานอิสลามก็ติดตั้งกับดักเชิงพาณิชย์ขึ้นสองอัน “เอ็นเซเนเนมากันเยอะแยะเลยครับ” อิสลามเล่า “เรามีลูกค้ามากมายมาซื้อครับ”

จับแมลง
ชายหนุ่มฟังเสียงปีกดังหึ่งๆ และเสียงแก๊งๆ ของตัวจิ้งหรีดที่ปะทะแผ่นสังกะสีซึ่งตั้งเป็นผนังของกับดักยักษ์ ฝูงจิ้งหรีดพุ่มไม้ซึ่งถูกล่อด้วยแสงไฟที่สว่างจ้าและทำให้สลบด้วยควันไฟ ไหลร่วงลงไปในถัง จิ้งหรีดเป็นอาหารว่างที่ได้รับความนิยม แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการสูญเสียถิ่นอาศัยกำลังทำให้ประชากรจิ้งหรีดลดลง

“ในคืนดีๆ เราอาจจับได้มากถึง 400 กระสอบ” แต่ละกระสอบหนักถึง 50 กิโลกรัม “จากนั้นเราส่งไปขาย ที่กรุงกัมปาลา” เขากล่าว แต่สามวันบนยอดเขาฮารุก็องโก ป่านนี้เขายังไม่ได้อะไรเป็นกอบเป็นกำเลย

“ความต้องการแมลงชนิดนี้พุ่งกระฉูดครับ” ฟิลิป เนียโค นักกีฏวิทยาจากภาควิชาวนศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยมาคีเรเรในกัมปาลา กล่าวและเสริมว่า “อุปทานซึ่งขึ้นลงตามฤดูกาล ตอนนี้ตอบสนองไม่ทันแล้ว”

เนียโคนำทีมนักวิจัยที่มุ่งพัฒนาวิธีเพาะพันธุ์จิ้งหรีดพุ่มไม้สำหรับเกษตรกร เป้าหมายคือลดแรงกดดันที่มี ต่อประชากรจิ้งหรีดในธรรมชาติ ช่วยให้มีอุปทานเอ็นเซเนเนตลอดทั้งปี และสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้เกษตรกร ซึ่งพืชผลต้องเสี่ยงต่อภัยแล้งรุนแรงและศัตรูพืชมากขึ้นทุกที

เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งที่ตลาดกัตเวในกรุงกัมปาลา แผงขายของขนาดเล็กต่อด้วยไม้เรียงรายบนถนนดินโคลน ที่ทอดสู่ลานโล่ง พวกผู้ชายและผู้หญิงดูเหมือนนั่งอยู่เฉยๆ ใต้ร่มคันใหญ่ถัดจากแผงขายของเหล่านั้น

แล้วชายคนหนึ่งก็เดินสะพายกระสอบพลาสติกมา ในนั้นมีจิ้งหรีดพุ่มไม้อยู่ครึ่งหนึ่ง บรรดาพ่อค้าแม่ค้าลุกพรวดพราดเข้ารุมล้อม พากันยื้อแย่งกระสอบใบนั้น ตะโกนแข่งกันว่าเท่าไร จะมีมาเพิ่มอีกไหม แล้วเมื่อไร

ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจับภาพรูปแบบการบินของจิ้งหรีดพุ่มไม้หัวแหลม ซึ่งในยูกันดานิยมเรียกกันว่า ตั๊กแตน หรือ เอ็นเซเนเน เนื่องจากจิ้งหรีดมีจำนวนลดลง การพัฒนาเทคนิคเพาะพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยงอาจช่วยเสริมความมั่นคงทางอาหาร สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้เกษตรกร และคุ้มครองประชากรในธรรมชาติ

ชายคนนั้นเป็นพ่อค้าขายส่งจิ้งหรีด แต่วันนี้เขามีจิ้งหรีดมาน้อย ชายวัยกลางคนเจ้าของแผงค้าแถวนั้น ซื้อจิ้งหรีดครึ่งกระสอบนี้ไป ส่วนคนอื่นๆ เดินคอตกจากไปด้วยความผิดหวัง หวังว่าจะซื้อได้สักกระสอบเมื่อใดก็ตาม ที่มีมาอีก

ฮัจ คุไร โคท็องโกเล นายกสมาคมโอลด์มาซากาบาเซเนเนจำกัด องค์กรดูแลคนจับจิ้งหรีดระดับชาติ ซึ่งกำหนดกฎความปลอดภัยในการจับและขึ้นทะเบียนผู้จับจิ้งหรีด กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้มีเพียงการจับเกินขนาด “พระผู้เป็นเจ้าอำนวยพรให้ยูกันดามีดินอุดมสมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม” เขาว่า แต่การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อ แผ้วถางที่ดินสำหรับปลูกอ้อยและปาล์มน้ำมันทำลายถิ่นอาศัยของจิ้งหรีดพุ่มไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการรวมฝูงของจิ้งหรีด

“ถ้าเราพึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อนาคตของแมลงชนิดนี้อาจไม่ยั่งยืน” โจเฟรม มาลิงงา กล่าว อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยกูลูผู้นี้ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยมาคีเรเรและมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เพื่อเริ่มการทดลองภาคสนามของโครงการเพาะพันธุ์จิ้งหรีดในสถานเพาะเลี้ยง เราไม่อาจปล่อยให้จิ้งหรีดพุ่มไม้หัวแหลมหายไป พวกมันเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับชาวยูกันดา “โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยากจนและซื้อแหล่งโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ไม่ไหวครับ” มาลิงงากล่าว

เรื่อง ฮาลีมา อัตฮ์มานี
ภาพถ่าย แจสเปอร์ ดูเอสต์

ติดตามสารคดี ชะตากรรมนักจับแมลง ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/541514


อ่านเพิ่มเติม ตามหาแมลงกลางพงไพรแอมะซอน

ป่าแอมะซอน

Recommend