38 ปี 13,000 ครั้ง วิจัยพบ ‘ภัยแล้ง’ ในยุคใหม่ เสี่ยงเกิดขึ้นบ่อยและยาวนานขึ้น

38 ปี 13,000 ครั้ง วิจัยพบ ‘ภัยแล้ง’ ในยุคใหม่ เสี่ยงเกิดขึ้นบ่อยและยาวนานขึ้น

ภัยแล้งรุนแรงกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก มีรายงานว่า ภัยแล้งกว่า 13,000 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แผ่ปกคลุมโลกของเราตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษ การวิจัยใหม่ค้นพบว่า ‘ภัยผิดธรรมชาติ’ เหล่านี้กำลังร้อนขึ้น ยาวนานขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้น ตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น

เพิ่งจะเริ่มต้นปีใหม่ 2025 ยังไม่ทันไร โลกก็ต้องเผชิญกับไฟป่ารุนแรงที่ดูจะเป็นขนาดใหญ่ ‘ผิดธรรมชาติ’ โหมกระหน่ำรัฐแคลิฟอร์เนียจนทำให้ผู้ว่าการรัฐฯ ถึงกับกล่าวออกมาว่า ‘ไม่มีฤดูไฟป่าอีกต่อไป แต่จะมีทั้งปีที่เป็นไฟป่า’ เช่นเดียวกันประเทศไทยก็เผชิญกับไฟป่าทั้งบนเขาลอยที่ จ.นครราชสีมา นานเป็นอาทิตย์ราวกับหยุดยั้งไม่ได้

ไฟเหล่านี้เกิดจากขึ้นหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนกันแต่โดยส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลก ซึ่งทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น ในทางเดียวกันตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ก็ทำให้ทั่วโลกเกิด ‘ภัยแล้ง’ ที่ผิดปกติรุนแรงนับหมื่นครั้งในหลายสิบปีที่ผ่านมา

“เราจำเป็นต้องตระหนักถึงภัยแล้งประเภทใหม่เหล่านี้ ซึ่งกินเวลานานเกิน 1 ฤดูกาลหรือ 1 ปี” ฟราเซสกา เปลลิชชิอตติ (Francesca Pellicciotti) นักอุทกวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออสเตรเลีย และผู้เขียนงานวิจัยใหม่ กล่าวและว่า “ผลกระทบของภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงจุดที่ระบบส่วนไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกต่อไป”

โดยทั่วไปแล้วไฟป่าหลายแห่งถือเป็น ‘ไฟป่าตามฤดูกาล’ ที่ระบบนิเวศดังกล่าวสามารถปรับตัวเข้ากับไฟป่าได้ โดยไฟเหล่านั้นจะเผาพื้นที่ให้สารอินทรีย์ต่าง ๆ ย่อยสลายหมุนเวียนระบบ จากนั้นพืชก็จะเติบโตขึ้นมาใหม่โดยมีสารอาหารรองรับเกิดเป็นวัฏจักรที่คุ้นเคยซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมาฤดูแล้งที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่าก็ดูจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันทั้งเกิดนานขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงกว่าเดิมในทุกพื้นที่ทั่วโลก กระนั้นก็ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลทางสถิติกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงได้วิเคราะห์ภัยผิดธรรมชาติเหล่านี้และดูว่ามันสร้างผลกระทบอะไรไปบ้าง

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Science ได้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 มุมมองได้แก่มุมมองทางอุตุนิยมวิทยาในด้านน้ำฝนและอุณหภูมิ และมุมมองทางนิเวศวิทยาต่อพืชพรรณเพื่อประเมินความรุนแรง ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจโดยเกิดขึ้นกว่า 13,176 ครั้งตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2018

“ภัยแล้งสามารถแพร่กระจายและทวีความรุนแรงขึ้นได้อย่างมาก” เหลียงจื้อ เฉิน (Liangzhi Chen) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าว “หากภัยแล้งยังคงดำเนินต่อไป ภัยแล้งก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน”

ทีมวิจัยพบว่าปริมาณน้ำฝนที่ขาดหายไปในช่วงภัยแล้งหลายปีที่รุนแรงที่สุด 100 อันดับแรก เพิ่มขึ้นในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งภัยแล้งเหล่านั้นยังร้อนขึ้นควบคู่ไปกับอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยปีที่เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดยังเกิดขึ้นตามหลังเหตุการณ์เอลนีโญอีกด้วย

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าภัยแล้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเหมือนกันทุกครั้ง โดยภัยแล้งรุนแรงในป่าฝนเขตร้อนส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงต่อพืชพรรณเท่ากับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในทุ่งหญ้า แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือภัยแล้งมีผลกระทบต่อพื้นดินมากกว่า

ตัวอย่างเช่น ภัยแล้งที่ถือว่ายาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในทางอุตุนิยมวิทยาซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรในลุ่มน้ำคองโกตะวันออกโดยกินเวลาตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2018 และอีกครั้งในลุ่มน้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอมะซอนซึ่งกินเวลาราว 9 ปีและครอบคลุมพื้นที่เกือบเท่าสหราชอาณาจักร

เหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระดับที่ถือว่าไม่รุนแรงซึ่งพิจารณาจากความสมบูรณ์ของพืชพรรณในข้อมูลดาวเทียม แต่ในขณะที่ภัยแล้งในพื้นที่อบอุ่นอย่างทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และทางตะวันออกของออสเตรเลีย ผลกระทบนั้นกลับเป็นอีกเรื่องนึงเลย

“เมื่อภัยแล้งยาวนานขึ้น พืชพรรณต่าง ๆ ก็จะแห้งแล้งมากขึ้นและติดไฟได้ง่ายขึ้น” เฉิน กล่าวและว่า “ทั้งระบบจะแห้งแล้งมากขึ้นและดินก็จะแห้งมากขึ้น ซึ่งมันสามารถเร่งให้ไฟลุกลามในเชิงพื้นที่ได้”

ขณะที่ แมตต์ โรเดลล์ (Matt Rodell) นักอุทกวิทยาจากนาซา (NASA) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าผลการศึกษานี้ “เสริมความเห็นพ้องต้องกันที่เพิ่มขึ้นว่า เราคาดว่าจะเกิดภัยแล้งที่ใหญ่ขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น”

ในการศึกษาที่แยกกัน โรเดลล์และทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าภัยแล้งครั้งใหญ่และเหตุการณ์ฝนตกหนักหลังปี 2015 ซึ่งทั้งหมดอยู่ใน 10 ปีที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้ ทั้งคู่มีความถี่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้งานวิจัยของเฉินจะหยุดวิเคราะห์ข้อมูลไว้ที่ปี 2018 แต่พวกเขาก็คาดการณ์อย่างมั่นใจว่าหากขยายระยะเวลาข้อมูลออกไปก็จะเห็นภัยแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“นี่เป็นงานสืบสวนชิ้นสำคัญที่เน้นให้เห็นว่าลักษณะของภัยแล้งทั่วโลกเช่น ระยะเวลาและความุรนแรงมีความสำคัญอื่นที่ต้องพิจารณา นอกเหนือไปจากการประเมินการเกิดภัยแล้งเพียงอย่างเดียว” เจนสัน สเมอร์ดอน (Jason Smerdon) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพประกอบเรื่อง จากปี พ.ศ. 2562  แคลิฟอร์เนียประสบกับภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากต้องปล่อยให้ไร่นารกร้างว่างเปล่า

ภาพ : Peter Essick, Nat Geo Image Collection

ที่มา

https://www.science.org

https://www.sciencenews.org

https://www.washingtonpost.com

https://www.cbc.ca


อ่านเพิ่มเติม : โลกเดือด-สัตว์สูญพันธุ์-ความหวังสู่ Nature Positive รวมเรื่องสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2024

Recommend