มองนักศึกษาจีนในไทย ปรากฏการณ์ขยายตัวของการศึกษาข้ามพรมแดน

มองนักศึกษาจีนในไทย ปรากฏการณ์ขยายตัวของการศึกษาข้ามพรมแดน

หลักสูตรไหนในไทยที่นักศึกษาจีนนิยมเรียนมากที่สุด? มองปรากฏการณ์ของนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัยไทยที่ขยายตัวมากขึ้น จนทำให้ไทยเป็นอีกจุดหมายหนึ่งในด้านการศึกษา

โลกที่เล็กลง การเดินทางข้ามประเทศเพื่อไปศึกษาคือเรื่องธรรมดาของผู้คนในทุกวันนี้ และในระหว่างที่นักเรียนไทยเลือกเดินทางไปเรียน ทั้งในยุโรป อเมริกา ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในเวลาเดียวกันนี้ประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า นักศึกษาจีนเป็นกลุ่มนักศึกษาจากต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยมากที่สุด โดยในปีการศึกษา 2567 มีจำนวนรวม 28,052 คน ลำดับที่ 2. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 12,292 คน 3.กัมพูชา 1,871 คน 4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1,097 คน 5. เวียดนาม 868 คน โดยที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน มหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คือสถาบันที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาต่างชาติ (สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568)

เมื่อพิจารณาจากหลักสูตร พบว่า มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างชาตินิยมมากที่สุดใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,036 คน 2.หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน ) มหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 930 คน 3. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน) มหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 728 คน 4. หลักสูตรศิลปบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน 589 คน 5. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต จำนวน573 คน

เหตุผลนักศึกษาจีนมาไทย

ถึงเช่นนั้น ชาติที่เป็นที่น่าสนใจหนีไม่พ้นกลุ่มนักศึกษาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับไทยหลายมิติในปัจจุบัน ด้วยจีนกับไทย ข้องเกี่ยวทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทั้งยังมีเอเจนซีในจีนช่วยทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ เพื่อโน้มน้าวนักศึกษาจีนให้มาเรียนที่ไทย

งานศึกษาเรื่อง การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย โดย ดร.กุลนรี นุกิจสังสรรค์  ดร.กรองจันทร์ จันทรพาหา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬา ซึ่งได้รับทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อธิบายตอนหนึ่งว่า การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนในไทยเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย

เช่น ที่นั่งในมหาวิทยาลัยของจีนมีจำกัด  (การสอบ Gaokao หรือ เกาเข่า ที่มีการแข่งขันกันสูง) ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในไทยไม่สูง กฎระเบียบเรื่องวีซ่าของไทยไม่เข้มงวดนัก อีกทั้งความร่วมมือกับไทย-จีน ยังอาจเป็นโอกาสให้กับนักศึกษาจีนในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย ยิ่งเมื่อกระแสการมาศึกษาต่อในไทยได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีน สถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งจึงหันมาปรับหลักสูตรและทำการตลาดเพื่อดึงนักศึกษาจีนให้เข้ามาศึกษาเพิ่มขึ้น

ขณะที่การศึกษาเรื่อง ‘การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’ โดย Li Yang นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ และวราภรณ์ ไทยมา อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายตอนหนึ่งว่า ปัจจัยดึงดูด (Pull Factor) ที่ทำให้นักศึกษาจีนเลือกที่จะเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทยมีหลายประการ ประกอบด้วย

 1.ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน และสภาพภูมิอากาศบางมหาวิทยาลัยคล้ายกับประเทศจีน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลที่นักศึกษาจีนให้ความสำคัญที่สุด

2.ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านภูมิศาสตร์ และยังเป็นคู่ค้าทางการลงทุนกับประเทศจีน ในขณะที่ค่าครองชีพค่อนข้างต่ำทำให้นักศึกษาจีนบางกลุ่มนิยมเรียนภาษาไทย และหางานทำต่อในประเทศไทยหลังจากกจบการศึกษา

 3.นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา มีโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-จีน

4. การร่วมลงทุน  (Take Over) ของชาวจีนในมหาวิทยาลัย เอกชนในประเทศไทยทำให้สามารถดึงนักศึกษาชาวจีนเข้ามาศึกษาต่อได้มากยิ่งขึ้น

5.ภาวะปัญหาการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยลดน้อยลง สถาบันอุดมศึกษา จึงเร่งปรับตัวเพื่อเปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ทั้งเปิดวิทยาลัยนานาชาติ เปิดหลักสูตรที่สอดรับกับตลาดแรงงาน การจัดทำหนังสือบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน มีการประชาสัมพันธ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านตัวแทน (agency)

“นอกจากนี้การออกไปแสวงหาความรู้หรือวิวัฒนาการใหม่ๆ ของชาวจีนวัยหนุ่ม-สาว มาจากนโยบาย Go-West ของจีนในขณะที่ปัจจัยดึงดูดมาจากการที่ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านลักษณะทาง ภูมิศาสตร์ทั้งด้าน ที่ตั้ง ตลาดแรงงานและสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาเมืองที่ดึงดูดชาวต่างชาติ รวมไปถึงการประสบปัญหาจากการที่นักศึกษาไทยลดลงจากภาวะปัญหาการเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล” งานวิจัยการเติบโตของนักศึกษาจีนฯ อธิบายตอนหนึ่ง

นักศึกษาจีนในไทย เรียนมหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ รสำรวจของฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย ซึ่งให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อมูลและปรากฏเป็นข่าวในสื่อไทยว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายของนักศึกษาจีน และ มหาวิทยาลัยในไทยที่มีนักศึกษาจีนมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ

1.มหาวิทยาลักเกริก มีนักศึกษาจีนจำนวน 4,670 คน

2.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,389 คน

3.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 2,160 คน

4.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 1,736 คน

5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1,165 คน

รายงานวิเคราะห์ว่า การที่นักศึกษาจีนขยายตัวสูง หลัก ๆ มาจากนักลงทุนชาวจีนที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากนั้นทำกิจการทางการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ในประเทศจีนเพื่อดึงคนจีนเข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของนักธุรกิจและนักลงทุนในจีนในธุรกิจการศึกษามีมานานแล้ว เท่าที่เป็นข่าวก็ตั้งแต่ช่วงปี 2560 – 2561 โดยที่มีการเปิดเผยแน่นอนแล้ว 3 มหาวิทยาลัย คือ 1. มหาวิทยาลัยเกริก 2. มหาวิทยาลัยชินวัตร 3. มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ซึ่งทั้ง 3 มหาวิทยาลัยอยู่ในสถานะของนิติบุคคล

“บางมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปอย่างชัดเจน โดยมีนักศึกษาจีนเข้ามาเป็นนักศึกษากลุ่มหลักของมหาวิทยาลัยไปแล้วในปัจจุบัน” ส่วนหนึ่งของรายงานให้ข้อมูล

สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานหรือนักลงทุนจากจีนมีผลทำให้นักศึกษาเลือกที่จะมาเรียน

การศึกษาเรื่อง ‘การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’เคยอ้างถึงเกณฑ์ ISCED 2013 (UNESCO Institute for Statistics, 2015) หาความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับนักศึกษาจีน ซึ่งพบว่า ในช่วง พ.ศ.2556  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนอย่างมาก เนื่องมาจาก ในปี 2553 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตได้เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง โดยใช้ภาษาจีนเป็นสื่อการสอน และในปีพ.ศ. 2562 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่าง

ประเทศ (ภาษาจีน) ได้รับความนิยมอย่างมากคิดเป็นร้อยละ 49.00 ของหลักสูตรที่นักศึกษาจีน ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งหมด โดยหลักสูตรนี้ให้ความสำคัญในด้านบัญชี ด้านการบริหาร ด้านโลจิสติกส์ รวมไปถึงมีการฝึกปฏิบัติงานจริงกับบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ

ภาพนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัยเกริก ภาพจากเฟสบุ๊ค มหาวิทยาลัยเกริก Krirk University
จากเหตุผลในหลายปัจจัยทำให้ประเทศไทย เป็นอีกจุดหมายทางการศึกษาของนักศึกษาจีน ภาพจากเฟสบุ๊ค มหาวิทยาลัยเกริก Krirk University

เลือกหลักสูตร แบบนักศึกษาจีน

การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและประเทศจีนคือส่วนสำคัญของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาจีน ถึงเช่นนั้นหลักสูตรที่ข้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน  เช่น การบริหารธุรกิจ การจัดการ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด บัญชี  ก็ดูเหมือนจะเป็นหลักสูตรวิชาที่นักศึกษาจีนสนใจ สอดคล้องกับนโยบายการค้าการลงทุนในภาพใหญ่ของไทยที่มองประเทศจีนคือคู่ค้าสำคัญ

การศึกษาเรื่องการเติบโตของนักศึกษาจีนฯ เมื่อ พ.ศ.2564 บอกว่า นักศึกษาจีนนิยมศึกษาต่อในด้านการบริหารธุรกิจและกฎหมายมากที่สุดเกือบทุกมหาวิทยาลัย โดย 4 ใน 5 เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยรัฐหนึ่งเดียวที่มีจำนวนนักศึกษาจีนมากคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปิดสาขาการเรียนการสอนหลากหลาย และมีนักศึกษาจีนมากเกือบทุกสาขา โดยสาขาการบริหารธุรกิจและกฎหมาย, ศิลปะและมนุษย์และ วิศวกรรม,-อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง มีจำนวนใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้หลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต รองลงมาคือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) และ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรม ซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

ในระดับปริญญาโท พบว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษาจีนไม่แตกต่างกันมากนัก โดยพบนักศึกษาจีนมากในสาขาการบริหารธุรกิจและกฎหมายและการศึกษาเป็นหลัก โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาจีนมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรภาษาจีน) และ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (หลักสูตรภาษาจีน) รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยเกริก พบมากในหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต การบริหารการศึกษา (หลักสูตรภาษาจีน) และ มหาวิทยาลัยชินวัตร พบมากในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ (หลักสูตรนานาชาติ)

ทั้งหมดคือการฉายภาพให้เห็นภูมิทัศน์ของการเติบโตของการศึกษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับไทยในทุกมิติ อ่านเพเป็นปรากฏการณ์การขยายตัวของการศึกษาที่ไร้พรมแดนในวันนี้และอนาคต

 

อ้างอิง

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยนักศึกษาจีนในไทย โดย ดร.กุลนรี นุกิจสังสรรค์  ดร.กรองจันทร์ จันทรพาหา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬา

การเติบโตของนักศึกษาจีนและความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย’ โดย Li Yang นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการ จัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และวราภรณ์ ไทยมา อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สถิตินักศึกษาจีนเรียนไทย เพิ่ม 24% ทุนจีนเข้าเทกโอเวอร์มหาวิทยาลัยไทย นิตยสาร positioning สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568

ภาพประกอบ : บรรยากาศการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในจีน แสดงให้เห็นการยินดีของครอบครัวภายหลังความทุ่มเทเตรียมตัวในการสอบเรียนต่อ เพราะจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยในจีนมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพลเมือง จนเป็นปัจจัยหนึ่งให้นักเรียนจีนเดินทางข้ามประเทศเพื่อหาที่เรียนต่อ

photo by Ruoyi Zhang, iStock


อ่านเพิ่มเติม : เรียนวิศวะแบบ ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร’

สถาบันเอกชนเฉพาะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

Recommend