มดไม้แดง : ผู้ดูแลที่ซ่อนเร้นของผืนป่า

มดไม้แดง : ผู้ดูแลที่ซ่อนเร้นของผืนป่า

“มดไม้แดงคือผู้ปิดทองหลังพระของป่า

และอาจเป็นผู้กำกับความเป็นไปของสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย”

ตอนเป็นเด็ก ขณะสำรวจป่าใกล้บ้านในเยอรมนีกับพ่อเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ช่างภาพสัตว์ป่า อินโก อาร์นดท์ ค้นพบรังมดขนาดมหึมารังแรก พวกเขากำลังดูนกกันอยู่ พอเดินผ่านหัวโค้งบริเวณป่ารกชัฏก็เห็นมูนดินสูงจากพื้นดิน 1.5 เมตรลักษณะเหมือนจอมปลวก รังนี้มีใบสนสปรูซทับถมกันเป็นชั้นหนาและฝูงมดสีแดงตัวจิ๋วจำนวนมากมาย

อาร์นดท์อยากเข้าไปสำรวจใกล้ๆ แต่กลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะชวนให้เขาเปลี่ยนความคิด อากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นฉุนรุนแรง แสบขึ้นจมูกเหมือนกลิ่นน้ำส้มสายชู “ผมจำกลิ่นนั้นได้ตลอดชีวิตเลยครับ” เขาบอก

มดไม้แดงมักสร้างรังในและรอบลำต้นไม้ผุๆ ที่มหาวิทยาลัยคอนสตันซ์ในเยอรมนี อาร์นดท์ถ่ายภาพมดไม้แดงชนิด ฟอร์ไมกา รูฟา ซึ่งมีพฤติกรรมคล้ายชนิด ฟอร์ไมกา โพลิกทีนา เพื่อเผยให้เห็นพฤติกรรมการทำรังที่ไม่สามารถเห็นในธรรมชาติได้เลย มดงานในภาพนี้ดูแลนางพญามด (ตรงกลาง) และไข่ของมัน (กระจุกสีขาว)
ฝูงมดพ่นกรดฟอร์มิกที่สร้างจากต่อมพิษตรงปลายส่วนท้องเพื่อขับไล่ภัยคุกคาม ในกรณีนี้คือช่างภาพ อินโก อาร์นดท์ ซึ่งมีผู้ช่วยจงใจกระตุ้นการตอบสนองนี้โดยโบกผ้าเหนือรังของมดชนิด ฟอร์ไมกา โพลิกทีนา

 

พอโตเป็นผู้ใหญ่ อาร์นดท์ใช้เวลาส่วนใหญ่ของหน้าที่การงานไปกับการเดินทางเพื่อถ่ายภาพสัตว์ เมื่อหลายปีก่อน เขากับภรรยาย้ายมาอยู่ในแถบชนบทของเยอรมนี ขณะเดินเล่นในป่าสนบริเวณนั้น สภาพโดยรอบจุดประกายความหลงใหลรังมดและเหล่าวิศวกรตัวจิ๋วขึ้นมาอีกครั้ง แมลงตัวยาวประมาณครึ่งเซนติเมตรสร้างโครงสร้างมโหฬารขนาดนั้นได้อย่างไร และพวกมันปล่อยกลิ่นฉุนนั้นออกมาทำไม

ตอนนี้อาร์นดท์มีเครื่องมือและประสบการณ์มากพอจะหาคำตอบให้กับคำถามของเขา อาร์นดท์ใช้กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงและเลนส์แมโคร เขาเริ่มถ่ายภาพรังมดและแบ่งปันภาพถ่ายเหล่านั้นกับนักวิจัยเพื่อขอมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่ามดนักสร้างรังมีความพิเศษจริงๆ พวกมันคือมดไม้แดง ในทางวิทยาศาสตร์จำแนกเป็น ชนิดหนึ่งในสกุล ฟอร์ไมกา และเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า สิ่งมีชีวิตแกนหลัก (keystone species) ที่มีขนาดเล็กที่สุดชนิดหนึ่ง

ขณะที่มดไม้แดงส่วนใหญ่ล่าแมลงอื่นเป็นอาหาร พวกมันยังกินซากสัตว์ด้วย ในภาพนี้ มดงานช่วยกันแยกชิ้นส่วนด้วงดินสีน้ำเงินซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนอย่างหนึ่ง มดตัวหนึ่งใช้ขากรรไกรที่เรียกว่า กราม ตัดหนวดออก

ในหมู่นักอนุรักษ์ สิ่งมีชีวิตแกนหลัก เช่น ช้างและฉลาม ถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะพฤติกรรมของพวกมันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ในหลายด้านมากเสียจนหากพวกมันหายไป ระบบนิเวศจะปรับตัวอย่างยากลำบาก ตามปกติแล้วมดไม้แดงพบในป่าไม้เขตหนาวเหนือและเขตอบอุ่นของยูเรเชีย แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา รังหายไปมากขึ้นเนื่องจากป่าถูกทำลายจากการทำไม้ การขยายตัวของเมือง และไฟป่า รวมทั้งภัยแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นซึ่งเกิดบ่อยครั้งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายประเทศในเขตถิ่นกระจายพันธุ์ของมด รวมถึงเยอรมนี จัดให้พวกมันเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ทุกวันนี้ การถ่ายภาพของอาร์นดท์มีความหมายใหม่ ภาพที่เขาถ่ายในช่วงสองปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นความสามารถอันน่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยครอบคลุมทั้งสัตว์และพืชหลากหลายชนิด ด้วยการถ่ายภาพ อาร์นดท์ได้เผยให้เห็นความมหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในโลกของแมลง

รังมดไม้แดงแต่ละรังมีมดอาศัยอยู่หลายพัน หรือกระทั่งหลายล้านตัว ในภาพนี้ มดงานแบกก้อนยางไม้เข้ารังมดพ่นกรดฟอร์มิกใส่ยางไม้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการต้านจุลินทรีย์ แล้วนำไปวางไว้ทั่วรังเพื่อช่วยต่อกรกับจุลชีพก่อโรค

รังขนาดมหึมาประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนเหนือพื้นดินและส่วนใต้พื้นดิน มดไม้แดงสร้างรังด้วยการขุดโพรงลงไปในพื้นดินและรวบรวมใบสน ใบไม้ เปลือกไม้ และก้านไม้มาทับถมกัน ขณะมูนดินพูนสูงขึ้น แต่ละรังจะมีทางเข้าและทางเดินใหม่ๆให้มดจำนวนตั้งแต่ 30,000 ตัวไปจนถึง 16 ล้านตัวได้ใช้งาน ในบรรดามดทุกชนิด รังของมดไม้แดงจัดเป็นรังมดเหนือพื้นดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสังคมที่ซ่อนเร้นนี้ อาร์นดท์ขอความช่วยเหลือจากนักกีฏวิทยา แบร์นฮาร์ด ไซเฟิร์ท จากสถาบันวิจัยของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเซ็งเคินแบร์คในแฟรงก์เฟิร์ต และนักสัตววิทยา เยือร์เกิน เทาทซ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยเวือร์ซบูร์กยูลีอุสมัคซีมีลีอาน นักวิจัยทั้งสองช่วยอธิบายว่าภาพของอาร์นดท์แสดงให้เห็นว่า มดกำกับความเป็นไปของชีวิตในผืนป่าด้วยวิธีที่น่าประหลาดใจอย่างไร

ตัวอย่างเช่น มดสร้างกรดฟอร์มิกในต่อมพิษที่ปลายส่วนท้อง ขณะสร้างรัง พวกมันจะรวบรวมยางไม้ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์ และพ่นกรดของมันใส่ยางไม้ ตัวกรดเองก็มีคุณสมบัติต้านจุลินทรีย์เช่นกัน ผลลัพธ์คือสารต้านจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งมดจะนำไปวางไว้ทั่วโครงสร้างรังเพื่อต่อกรกับจุลชีพก่อโรคทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา

นางพญามดเป็นมดเพศเมียประเภทเดียวที่วางไข่ จากนั้นไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนปั่นใยเป็นรังไหม มดงานเพศเมียดูแลตัวอ่อนขณะเติบโตเป็นดักแด้ อาร์นดท์ฉายไฟด้านหลังรังไหมให้เห็นดักแด้ที่อยู่ภายใน (ภาพประกอบขึ้นจากภาพซ้อนโฟกัส 17 ภาพ)

กรดฟอร์มิกยังเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมแมลงศัตรูพืชของมดชนิดนี้ พวกมันสามารถนำของเหลวนี้มาใช้เป็นอาวุธสยบแมลงอื่น เช่น มอดเจาะไม้ซึ่งเป็นสัตว์ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดชนิดหนึ่งในป่าสนสปรูซ การลดจำนวนมอดที่ทำให้ต้นไม้อ่อนแอและทำลายต้นไม้ ทำให้สภาวะสำหรับเพลี้ยที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ดีขึ้น มด “รีดนม” เพลี้ยให้ขับถ่ายน้ำหวานออกมา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของมด

การใช้กล้องดักถ่ายภาพยังช่วยให้อาร์นดท์บันทึกภาพสัตว์ขนาดใหญ่กว่าที่มาเข้าแถวให้มดพ่นกรดใส่ด้วยความสมัครใจ ภาพหายากภาพหนึ่งเป็นภาพนกเจย์ยูเรเชียบินลงมาหมอบบนยอดรัง แล้วแผ่หางอย่างสบายใจให้มดคลานขึ้นมาโจมตี “มดพ่นกรดใส่นกในฐานะศัตรูครับ” เทาทซ์อธิบาย แม้นกดูเหมือนจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ แต่พิษรุนแรงมากพอจะไล่หรือฆ่าปรสิต เช่น ไรและเหา ที่ติดตัวนกมา สำหรับนกหลายชนิด พฤติกรรมนี้ยังช่วยให้นกรักษาสุขภาพที่ดีไว้ได้

มดไม้แดงมีตารวมที่ประกอบด้วยหลายร้อยหน่วย มดใช้การมองเห็นเป็นขั้นตอนแรกในการแยกแยะวัตถุ ตามด้วยอวัยวะรับสารเคมีและรับสัมผัสบนหนวดที่แยกแยะอาหารและวัสดุสร้างรัง (ภาพประกอบขึ้นจากภาพซ้อนโฟกัส 534 ภาพ)
กรามที่คมและหยักเป็นฟันเลื่อยแต่ละชุดของมดเป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ทั้งตัดและคีบสำหรับใช้ขนย้ายวัสดุทำรังและเหยื่อ (ภาพประกอบขึ้นจากภาพซ้อนโฟกัส 122 ภาพ)

แขกไม่ได้รับเชิญบางชนิดที่ยอมเนื้อตัวเหม็นไปกับชุมชนมดต่างได้รับประโยชน์มากขึ้น ความที่เป็นแมลงสังคมมดสร้างคอโลนีและสังคมที่ซับซ้อนขึ้น แต่พวกมันยังอยู่ร่วมกับสัตว์หลากหลายชนิดภายในรังด้วย รวมทั้งไร แมงมุม และแมลงวัน อุบายหนึ่งคือผู้บุกรุกเหล่านี้บางชนิดอาจเติบโตขึ้นท่ามกลางกลิ่นที่คุ้นเคย

ถ้าด้วงใบไม้วางไข่บนหรือใกล้รัง มดงานอาจบังเอิญนำไข่เข้ามาในรังขณะรวบรวมวัสดุต่างๆ ไข่ จากนั้นตัวอ่อน และในที่สุดก็ดักแด้ ทุกระยะจะมีกลิ่นเหมือนรังมด นั่นคือวิธีที่พวกมันหลีกเลี่ยงการถูกเจ้าบ้านจับได้และใช้ประโยชน์จากแหล่งหลบภัยนี้ในการมีชีวิตรอด ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง นักวิจัยยืนยันว่า โดยเฉลี่ยแล้วภายในรังมดรังเดียวอาจพบสัตว์ได้มากกว่าสิบชนิด

มดตัวหนึ่งคาบซากผึ้งเคราะห์ร้ายที่มันหาพบกลับมายังคอโลนีเพื่อเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนที่กำลังเติบโตความแข็งแรงของมดงานเอื้อให้มันใช้กรามคาบอาหารที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองหลายเท่า

โครงการของอาร์นดท์เผยให้เห็นวิธีแปลกประหลาดและน่าทึ่งซึ่งสิ่งมีชีวิตที่มักถูกมองข้ามเหล่านี้มีอิทธิพลต่อกิจกรรมรอบๆพวกมัน แม้เขาพยายามอย่างที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการรบกวนชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองนี้แต่บางครั้งมดก็ทำอะไรที่คาดไม่ถึงและติดสอยห้อยตามเขากลับมา

“ผมไปกินมื้อเย็นนอกบ้าน แล้วพวกมันก็โผล่ออกมาและเดินไปทั่วกางเกงผมเลยครับ” เขาเล่าพลางหัวเราะกับความทรงจำนั้น “แต่ผมพยายามนำทุกตัวกลับรังเสมอ” เพราะผืนป่าต้องพึ่งพามด

เรื่อง เอริก อัลต์

ภาพถ่าย อินโก อาร์นดท์


อ่านเพิ่มเติม : ทำไมการอนุรักษ์วาฬ ถึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดโลกร้อน?

Recommend