“ปฏิบัติการหรี่แสงอาทิตย์เพื่อลดโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรเตรียมทำการทดลอง
ด้านวิศวกรรมธรณีที่อาจช่วยซื้อเวลาให้มนุษยชาติ”
ตามรายงานใหม่จากThe Telegraph ระบุว่ารัฐบาลของสหราชอาณาจักรเตรียมอนุมัติไฟเขียวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้นักฟิสิกส์ของตนเองทำการทดลองด้านวิศวกรรมธรณีหลายรายกาย ไม่ว่าจะเป็นการฉีดละอองลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ หรือทำให้เมฆมีความสว่างมากขึ้นเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์
โครงการดังกล่าวจะยังมีขนาดเล็กและได้รับการประเมินอย่างเข้มงวดตามรายงานของสำนักงานวิจัยและประดิษฐ์ขั้นสูง (ARIA) ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากรัฐบาลราว 50 ล้านปอนด์ (2,236 ล้านบาท) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญในการประเมินเทคโนโลยีเหล่านี้ในขั้นต่อไป
หากประสบความสำเร็จ วิศวกรรมธรณีเหล่านี้อาจช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวและอันตรายจากวิกฤตสภาพอากาศได้ชั่วครราว ทำให้มีเวลามากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้ให้ได้ว่าวิธีเหล่านี้ได้ผลจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตามวิศวกรรมธรณีเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง และการทดลองภาคสนามจริง ๆ หลายโครงการก็ต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีการคัดค้านอย่างหนัก เช่นการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (SRM) อาจส่งผลร้ายแรงที่ไม่ได้ตั้งใจนั่นก็คือทำให้ฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตอาหาร
และที่สำคัญ หลายคนเตือนว่าการทดลองวิศวกรรมธรณีอาจทำให้ผู้คนเบี่ยงไปจากเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งก็คือการลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ทว่าศาสตราจารย์มาร์ก ไซเมส (Mark Symes) ผู้นำโครงการของ ARIA ระบุว่าการปล่อยให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระตุ้นจุดเปลี่ยน (tipping points) เช่นกระแสน้ำในมหาสมุทรพังทลาย หรือแผ่นน้ำแข็งยักษ์ละลาย จะส่งผลกระทบร้ายแรงกว่า
“หลังจากพูดคุยกับนักวิจัยหลายร้อยคน เราได้ข้อสรุปว่าข้อมูลทางกายภาพในโลกแห่งความเป็นจริงส่วนหนึ่งได้ขาดหายไปจากความเข้าใจของเรา” ศาสตราจารย์ ไซเมส กล่าว “ข้อมูลเหล่านี้จะแสดงให้เราเห็นว่าแนวทางที่มีศักยภาพเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้ผลจริงหรือไม่”
“และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร การสร้างแบบจำลองและการศึกษาในอคารเป็นสิ่งสำคัญในฐานะข้อกำหนดเบื้องต้น แต่ก็ไม่สามารถบอกอะไรเราได้มากนัก” เขาเสริม
ทำอะไรบ้าง?
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น วิธีการเหล่านี้ได้รับการเสนอขึ้นเพื่อลดปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกโดยอาศัยวิธีต่าง ๆ ไมว่าจะเป็น การฉีดละอองลอยในชั้นสตราโตสเฟียร์ หรือก็คือการปล่อยอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมาก พูดให้ตรงกว่านี้ก็คือปล่อยอนุภาคซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศซึ่งจะสะท้อนแสงแดดบางส่วนกลับสู่อวกาศ
ขณะที่อีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือ การทำให้เมฆที่อยู่บนมหาสมุทร ‘สว่างขึ้น’ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าเป็นการเพิ่มร่มเงาตามธรรมชาติให้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จะพ่นละอองลอยของเกลือทะเลซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดหยดน้ำ หรือการควบน้ำรอบอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อตัวของเมฆ
วิธีนี้จะทำให้เมฆมีชั้นกลางมีความหนาแน่นมากขึ้นจนสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ในทางกลับกัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ได้เสนแนวทางที่คล้ายกันคือทำให้เมฆเซอร์รัส (Cirrus) ที่อยู่ระดับสูงกว่าบางลง เนื่องจากเมฆชั้นนี้จะจับแสงแดดไว้มากกว่าที่สะท้อนกลับ การทำให้มันบางลงจึงทำให้มันจับแสงได้น้อยลง
“ทุกสิ่งที่เราทำจะปลอดภัยตั้งแต่การออกแบบ” ศาสตราจารย์ ไซเมส กล่าว “เราทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อรับผิดชอบการวิจัย รวมถึงงานภาคสนาม เรามีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับระยะเวลาการทดลองและการย้อนกลับของการทดลอง และเราจะไม่ให้เงินทุนสำหรับการปล่อยสารพิษใด ๆ สู่สิ่งแวดล้อม”
ผู้คนตอบสนองอย่างไร?
หลายคนระบุว่าโครงการของ ARIA เป็นการเบี่ยงประเด็นที่ ‘อันตราย’ ไปจากความสนใจในการลดการปล่อยมลพิษ โดยพวกเขาเรียกโครงการ SRM ว่า ‘บ้าไปแล้ว’ และคล้ายกับการรักษามะเร็งด้วยยาแอสไพริน
ขณะเดียวกันสภาวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NERC) ประกาศเปิดตัวโครงการวิจัยวิศวกรรมธรณีมูลค่า 10 ล้านปอนด์ (447.3 ล้านบาท) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการทดลองวิศวกรรมธรณีที่กล่าวถึง แต่จะใช้การสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่มีอยู่ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ เช่นการปะทุของภูเขาไฟและมลพิษจากการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อตรวจสอบผลกระทบ
“บทบาทของเราคือการให้หลักฐานดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และมั่นคง แต่จะไม่สนับสนุน (วิศวกรรมธรณี) ในทางใดทางหนึ่ง” เคท เฮเมอร์ (Kate Hamer) กรรมการของ NERC กล่าว
ทาง ไมค์ ฮูล์ม (Mike Hulme) ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ตอบโต้ในระดับที่รุนแรงกว่าตามคำแถลงแบ่งปันกับ Newsweek ว่า “โครงการนี้ใช้งบประมาณวิจัยสาธารณะของสหราชอาณาจักรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมหาศาล (50 ล้านปอนด์ขึ้นไป) ซึ่งควรนำไปลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อกำจัด CO2 ออกจากอากาศด้วย”
แต่ทาง แมทธิว เฮนรี (Matthew Henry) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กายภาพ มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ กลับมีท่าทีค่อนข้างเห็นด้วย
“อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องศึกษาวิศวกรรมธรณีฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากเป็นเครื่องมือเดียวที่มีศักยภาพในการลดอุณหภูมิในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อุณหภูมิโลกจะคงที่เท่านั้น (ไม่ลดลง) และธารน้ำแข็งละลายกับระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
พร้อมเสริมว่า “แม้ว่าการกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศจะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังคงช้าและมีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในเส้นทางอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 องศา ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้
เฮนรี่ระบุว่าแบบจำลองสภาพอากาศที่ใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็สามารถประเมินการแทรกแซงทางวิศวกรรมภูมิอากาศได้เช่นกัน แต่ยังมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ดังนั้นการทดลองขนาดเล็กที่ได้รับทุนจาก ARIA อาจช่วยปรับปรุงแบบจำลองเหล่านี้ได้ โดยให้ข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อแสดงกระบวนการเฉพาะพื้นที่ได้ดีขึ้น
โฆษกของ ARIA กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับกิจกรรมและกรอบเวลาของโครงการที่ได้รับเงินทุนจะประกาศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งต้องมีการติดตามกันต่อไป
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา