“แค่ถือโทรศัพท์ เดินถ่ายรูปสัตว์ในเมือง
ก็อาจจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับโลก”
นี่คือความพิเศษของปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมืองอย่าง City Nature Challenge หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า CNC ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันในกว่า 700 เมืองทั่วโลก โดยมีเป้าหมายให้คนทั่วไปได้ออกมา ‘สำรวจธรรมชาติรอบตัว’ และช่วยกันบันทึกสิ่งมีชีวิตที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ นก แมลง หรือเห็ดรา ผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist

ฟังดูเหมือนเป็นการแข่งขัน แต่จริง ๆ แล้วหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในฐานะ ‘นักวิทยาศาสตร์พลเมือง’
และปีนี้ National Geographic ภาษาไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเพื่อน ๆ นักวิทยาศาสตร์พลเมืองกว่า 150 คน ออกสำรวจกันทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยไม่คิดเลยว่า ธรรมชาติที่เรามองเห็นอยู่ทุกวัน จะมีอะไรให้ค้นหาและเรียนรู้มากขนาดนี้

ก่อนจะเล่าว่าเราไปเจออะไรบ้าง ต้องอธิบายก่อนว่า กิจกรรมสำรวจธรรมชาติในช่วงกลางวันนั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 เส้นทาง ให้ผู้เข้าร่วมเลือกตามความสนใจ ซึ่งเส้นทางที่เราเลือกไปเดินสำรวจคือการสำรวจแพลงก์ตอนและแมลงในระบบนิเวศน้ำ พร้อมกับเพื่อนร่วมเส้นทางอีกราว 30 คน
เนื่องจากสิ่งมีชีวิตที่กลุ่มของเรากำลังตามหานั้นมีขนาดเล็กมาก การสำรวจในเส้นทางนี้ จึงต้องเริ่มจากการเก็บตัวอย่างน้ำ ด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Plankton net เสียก่อน บอกเลยว่าขั้นตอนนี้ถูกใจเหล่านักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยมาก เพราะได้ช่วยกันตักช่วยกันกรอง จนกลุ่มของพวกเราได้ตัวอย่างน้ำที่มีแพลงก์ตอนกลับไปเต็มกระเป๋า

เมื่อได้ตัวอย่างแพลงก์ตอนมาแล้ว เราก็เริ่มสำรวจแมลงน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เราลงสวิงตักน้ำบริเวณนั้นจนทั่ว แล้วเทตะกอนที่ได้ใส่ถาดพลาสติก ช่วยกันเขี่ยหาแมลงที่ซ่อนอยู่ตามเศษพืช หากเจอตัวไหนเราก็ถ่ายลง iNaturalist เพื่อรายงานการพบสัตว์ชนิดนั้น ๆ ซึ่งแมลงที่เราพบในวันนี้ ก็มีทั้งหนอนแดง มวนน้ำ จิงโจ้น้ำ แมลงชีปะขาว ตัวอ่อนแมลงปอ รวมไปถึงปูและปลาตัวเล็ก ๆ ที่ติดขึ้นมาด้วย

หลังจากเก็บตัวอย่างทั้งหมดเรียบร้อย เราก็กลับเข้าไปในอาคารเพื่อนำตัวอย่างที่ได้ไปสังเกตต่อใต้กล้องจุลทรรศน์ ภายใต้กำลังขยายหมื่นเท่า เราเห็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวหลายชนิดกำลังเคลื่อนไหวอยู่ ตัวหนึ่งที่เราจำได้แม่นคือ Cosmarium แพลงก์ตอนพืชกลุ่ม Green algae ที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วสองซีกติดกัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการผลิตออกซิเจน และเป็นแหล่งพลังงานให้สัตว์น้ำขนาดเล็กในระบบนิเวศ

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในช่วงบ่าย พวกเราก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วงหัวค่ำ เราเริ่มเดินจากหน้าอาคารวิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ลัดเลาะไปตามแนวสวน ทุกคนส่องไฟฉายกวาดสายตาช้า ๆ ไปตามพื้น พุ่มไม้ และแนวผนัง ซึ่งสัตว์ที่เราเห็นในคืนนั้น ก็มีทั้งกิ่งก่า จิ้งจกคางคก ตุ๊กแกบ้าน กบบัว อึ่งน้ำเต้า และงูเขียวหางไหม้ตาโต ที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ

ในบรรดาสัตว์ทั้งหมดที่เราเห็นในคืนนั้น ปาดเหนือ เป็นตัวที่เราหยุดดูนานกว่าตัวอื่น จริงอยู่ที่ปาดไม่ใช่สัตว์หายาก แต่ก็ใช่ว่าเราจะเห็นมันได้ทุกที เพราะปาดเป็นสัตว์ที่ไวต่อสภาพแวดล้อมมาก แถมมันยังสามารถหายใจผ่านผิวหนัง หากน้ำหรืออากาศรอบตัวปนเปื้อนมากเกินไป มันก็อยู่ไม่ได้ การเจอมันที่นี่ จึงเหมือนคำตอบกลาย ๆ ว่า พื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้ยังไม่เสียสมดุลเกินไป

ระหว่างการสำรวจ อาจารย์ประจำเส้นทางจะย้ำเสมอว่า การจับหรือสัมผัสสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะสัตว์กลุ่มนี้มีผิวหนังบอบบางมาก การที่เราทาครีมหรือยากันยุงแล้วจับพวกมัน อาจทำให้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายของมันได้ นั่นคือหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ City Nature Challenge สอนเราให้เคารพทุกชีวิตธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่เราประทับใจที่สุดจากกิจกรรมในวันนี้


ปีนี้ ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมใน 13 พื้นที่ทั่วประเทศ และมีการบันทึกสิ่งมีชีวิตผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist ไปแล้วมากกว่า 12,000 ครั้ง แต่มากกว่าจำนวนข้อมูล สิ่งที่กิจกรรมนี้มอบให้ คือ ‘พื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน’ ที่ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพในแบบที่สัมผัสได้จริง ๆ
โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ การได้ลงมือสำรวจ ตั้งคำถาม และเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง คือพลังบางอย่างที่ห้องเรียนให้ไม่ได้ กิจกรรมแบบนี้ อาจไม่ได้สร้างนักวิทยาศาสตร์ทันที แต่มันกำลังวางรากฐานให้เด็กคนหนึ่ง เติบโตมาพร้อมกับความสงสัยใคร่รู้และหัวใจที่อ่อนโยนต่อโลกใบนี้มากขึ้น
เรื่อง : อรณิชาเปลี่ยนภักดี
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล