งานวิจัยใหม่ชี้ ผลิตภัณฑ์จากนม อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนนอนฝันร้าย

งานวิจัยใหม่ชี้ ผลิตภัณฑ์จากนม อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนนอนฝันร้าย

“งานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อว่าการกินชีสก่อนนอน

ทำให้ฝันร้ายได้นั้นอาจเป็นเรื่องจริง และไม่ใช่แค่ชีสเท่านั้น

แต่อาหารที่มาจากนมอาจทำให้ไม่สบายตัวในตอนกลางคืนได้”

ในปี 1904 ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Dream of the Rarebit Fiend ได้เผยแพร่ออกมาเป็นครั้งแรกโดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหนึ่งที่มักจะฝันร้ายอยู่บ่อยครั้งหลังจากกินเวลช์แรร์บิต (Welsh rarebit) ซึ่งเป็นแซนด์วิชชีสชนิดหนึ่ง ทำให้กลายเป็นเรื่องเล่ากันว่าชีสทำให้ฝันร้ายได้จริง ๆ 

อย่างไรก็ตามแทบไม่มีการวิจัยเลยว่าชีสมีผลต่อการนอนหลับไปจนถึงการฝันได้จริง ๆ หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน และพบว่า ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากนมมักนอนหลับฝันร้ายมากกว่า ชัดเจนกว่า แม้จะยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจนก็ตาม

“ความรุนแรงของฝันร้ายนั้นมักสัมพันธ์กับภาวะแพ้แลคโตส และการแพ้อาหารชนิดอื่น” ดร. ทอเร นีลเชน (Tore Nielsen) ผู้เขียนหลักจากภาควิชาจิตเวชและเวชศาสตร์การเสพติดของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล กล่าว

“ผลการค้นพบใหม่เหล่านี้บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของผู้ที่มีความไวต่ออาหารบางชนิด อาจช่วยบรรเทาอาการฝันร้ายได้ นอกจากนี้ผลการค้นพบดังกล่าวยังอาจอธิบายได้ด้วยว่าทำไมผู้คนจึงมักโทษผลิตภัณฑ์จากนมว่าทำให้ฝันร้าย!”

อาหารก่อนนอน

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Frontiers in Psychology ทีมวิจัยได้มุ่งเน้นไปยังอาหารบางชนิด เช่น ชีสหรือขนมหวาน อาหารที่ไวต่อภาวะแพ้แลคโตส และพฤติกรรมการกินอาหารตอนดึก ว่าอาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือลักษณะของความฝันได้หรือไม่ 

โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 1,082 คนจากมหาวิทยาลัยแมคอีวาน พร้อมกับให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับเวลาและคุณภาพของการนอนหลับ การฝัน การแพ้อาหาร และสุขภาพทั่วไป โดยทั่วไปแล้วผู้เข้าร่วมประมาณ 1 ใน 3 รายงานว่าพวกเขาฝันร้ายเป็นประจำ 

ผู้หญิงมีแนวโน้มจะจำความฝันได้มากกว่า มักจะนอนหลับไม่สนิทและฝันร้ายมากกว่า ขณะเดียวกันก็มีอาการแพ้อาหารมากกว่าผู้ชายเกือบ 2 เท่า และเมื่อตรวจสอบผลลัพธ์ของแบบสอบถามแล้วก็พบว่า ผู้เข้าร่วมกว่าร้อยละ 40.2% ระบุว่าการกินอาหารส่งผลต่อการนอนหลับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ร้อยละ 24.7 บอกว่าการกินอาหารบางชนิดทำให้นอนหลับแย่ลง ขณะที่ 20.1% กล่าวว่าอาหรทำให้การนอนหลับดีขึ้น ส่วนอาหารที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการนอนที่แย่ลงนั้นได้แก่ ของหวาน อาหารรสเผ็ด และผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนอาหารที่ช่วยนอนหลับดีขึ้นได้แก่ ผลไม้ ผัก และชาสมุนไพร

“เรามักถูกถามอยู่บ่อย ๆ ว่าอาหารมีผลต่อความฝันหรือไม่ โดยเฉพาะกับช่วงวันหยุดหรือเทศกาลที่เน้นกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก” นีลเซน กล่าว “ตอนนี้เรามีคำตอบบางส่วนแล้ว” 

แล้วสาเหตุล่ะ?

ทีมวิจัยเชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ที่เมื่อกินอาหารบางอย่างซึ่งร่างกายมีภาวะไวหรือแพ้อาหารนั้นอยู่แล้ว ก็จะส่งผลต่อความฝันและคุณภาพการนอนได้ เป็นไปได้ว่าการกินผลิตภัณฑ์จากนมอาจกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติได้ 

“ฝันร้ายจะรุนแรงกว่าสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสซึ่งมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง ทำให้นอนหลับไม่สนิท” นีลเซน กล่าว “เรื่องนี้สมเหตุสมผล เพราะเราทราบดีว่าความรู้สึกทางร่างกายสามารถส่งผลต่อความฝันได้ ฝันร้ายอาจรบกวนการนอนหลับได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากมันจะปลุกคนให้ตื่นจากหลับจนต้องทุกข์ใจ นอกจากนี้ยังอาจทำให้หลีกเลี่ยงการนอนหลับได้ด้วย (ไม่อยากนอน) ซึ่งทั้งสองนี้สามารถพรากการพักผ่อนไปจากคุณได้”

ความรู้เหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าจะแนะนำผู้คนอย่างไรให้มีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้นได้ ตั้งแต่ประเภทอาหารที่กินไปจนถึงช่วงเวลาที่กิน ต่างก็มีผลต่อการนอนหลับได้ทั้งนี้ การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก จะช่วยให้นอนหลับสบายและฝันดีมากขึ้น 

ทั้งนี้งานวิจัยยังมีข้อจำกัดบางประการ หนึ่งคือเป็นการศึกษาเชิงความสัมพันธ์ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกสาเหตุได้ ทำได้เพียงแค่เชื่อมโยงระหว่างตัวแปรเท่านั้น สองคือผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวแคนาดา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถอ้างอิงไปใช้กับประชากรกลุ่มอื่น ๆ ได้

และสาม งานวิจัยนี้เป็นการรายงานตนเองโดยอิงจากการรับรู้และความทรงจำของผู้เข้าร่วมเอง จึงอาจมีการรายงานข้อมูลผิดพลาดได้ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนหลักฐานเพิ่มเติมว่าสุขภาพลำไส้มีผลต่อสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอาหารก่อนเข้านอนจึงเป็นวิธีที่น่าลองใช้สำหรับคนที่อยากนอนหลับฝันดี

“เราจำเป็นต้องศึกษาผู้คนในวัยต่าง ๆ ในวิถีชีวิตที่แตกต่างกันมากขึ้น และในพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน เพื่อพิจารณาว่าผลการศึกษาของเราสามารถนำไปใช้กับประชากรจำนวนมากได้หรือไม่” นีลเซน กล่าว 

“จำเป็นต้องการมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าผู้คนสามารถตรวจจับผลกระทบของอาหารบางชนิดต่อความฝันได้จริงหรือไม่ เราต้องทำการศึกษาโดยให้ผู้คนกินผลิตภัณฑ์ชีสแทนอาหารควบคุมบางชนิดก่อนนอน เพื่อดูว่าจะส่งผลต่อการนอนหลับหรือความฝันหรือไม่” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.frontiersin.org

https://scitechdaily.com

https://neurosciencenews.com

https://newatlas.com


อ่านเพิ่มเติม : ซิกมันด์ ฟรอยด์

เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์และจิตวิทยาความฝัน

Recommend