เต่า ‘สูญพันธุ์’ ถูกค้นพบอีกครั้งหลังจากร้อยปี

เต่า ‘สูญพันธุ์’ ถูกค้นพบอีกครั้งหลังจากร้อยปี

เต่ายักษ์เฟอร์นันดินา ที่คาดว่าสูญพันธุ์เมื่อร้อยปีที่แล้ว ขณะนี้มีความหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูประชากรของมันกลับมา

วอชิงตัน ทาเปีย ได้ค้นพบเต่ายักษ์เฟอร์นันดินาบนเกาะกาลาปาโกสชื่อดัง นั่นเปรียบเสมือนการได้รับรางวัลออสการ์

“สำหรับฉันมันเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะฉันทำงานด้านการอนุรักษ์เต่ามา 30 ปีแล้ว” ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูเต่ายักษ์กาลาปาโกสและผู้นำการสำรวจกล่าว “นี่เป็นเหมือนรางวัลออสการ์ของฉัน”

ทาเปียได้ร่วมมือกับทีมสำรวจท้องถิ่นสี่คน จากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปาโกส ได้แก่ เจฟเฟรย์ มาลากะ, เอดัวร์โด วิเลมา, โรเบร์โต บาเลสตีรอส, ซีโมน วิยามาร์ รวมถึงฟอร์เรลต์ กาลันเต พิธีกรและนักชีววิทยาจากช่อง แอนนิมอล แพลนเน็ต ทั้งหมดรู้สึกปลาบปลื้มเป็นที่สุดเมื่อสำรวจพบเต่ายักษ์ Chelonoidis phantasticus เพศเมียบนเกาะเฟอร์นันดินา เกาะที่มีภูเขาไฟซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในหมู่เกาะกาลาปาโกส

ครั้งสุดท้ายที่มีการยืนยันการพบเห็นเต่าสายพันธุ์นี้คือในปี 1906 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ขึ้นบัญชีแดง (Red List) ว่า อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาลากะได้พบอุจจาระของสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งในบริเวณอุทยานฯ ต่อมาเต่าสายพันธุ์นี้ถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

“มันเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเต่ายังคงอยู่ที่นั่น” ทาเปียกล่าว

ในวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางทีมสำรวจได้ออกเดินทางเวลาหกโมงเช้า เพื่อค้นหาพื้นที่สีเขียวท่ามกลางกระแสลาวาบนเกาะแห่งนี้ แต่ไม่พบสิ่งใด จนกระทั่งเวลาก่อนเที่ยง ช่วงสามในสี่ของเส้นทางสำรวจ ทาเปียพบรังของเต่า บริเวณรอบๆ ปรากฏรอยตีนและรอยกระดอง ทาเปียรู้ว่าตอนนี้พวกเราอยู่ใกล้มันมาก มาลากะเป็นคนแรกที่พบเห็นเต่า ครั้งแรกพบในระยะเกือบ 4 กิโลเมตร โดยทำการพรางตัวให้กลมกลืนกับต้นไม้เพื่อซุ่มดู ซึ่งนี่ถือเป็นชัยชนะสำหรับทีมของพวกเขา

“มันสร้างความหวังสำหรับผู้คนที่จะหันมาสนใจการอนุรักษ์เต่า และช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อที่จะรักษาชีวิตของมันให้อยู่ต่อไป” ทาเปียกล่าว

เต่าตัวเมียที่ทีมสำรวจค้นพบ มีอายุประมาณ 100 ปี ถูกนำไปยังศูนย์เพาะพันธุ์ในเกาะซานตากรุซ โดยทาเปียตัดสินใจที่จะทำการเพาะพันธุ์เนื่องจากพื้นที่ที่พบมีปริมาณอาหารที่จำกัด ถ้าหากทิ้งเต่าไว้บนเกาะเฟอร์นันดินา การตามหาเต่าอีกครั้งคงเป็นเรื่องยาก เพราะเต่ามีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่ไปรอบๆ เกาะซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 596 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขรุขระที่เกิดจากการไหลของลาวามากมายทำให้การหาสัตว์มีความยากลำบากเพิ่มขึ้น

แต่ทาเปียและทีมของเขาคาดหวังว่าจะพบเต่ามากกว่านี้ ในระหว่างการค้นหาเต่าเฟอร์นันดินาพวกเขาพบกับเส้นทางของเต่าซึ่งยาวมากกว่าสองกิโลเมตรจากจุดที่พวกเขาพบเต่าตัวเมีย โดยทีมสำรวจกำลังวางแผนเดินทางไปที่เกาะอีกครั้งในปลายปีนี้

ในระหว่างนี้พวกเขาจะเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเต่า และส่งไปยังมหาวิทยาลัยเยล เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและยืนยันว่าเต่าตัวนี้เป็น Chelonoidis phantasticus จริงหรือไม่ โดยกระบวนการอาจใช้เวลานานนับเดือน แต่ทาเปียคิดว่านี่เป็นชนิดของเต่าที่คิดไว้อย่างแน่นอน

กาลาปาโกส, เต่า, เต่ายักษ์เฟอร์นันดินา
เต่าเฟอร์นันดินาตัวเมียที่มีอายุประมาณ 100 ปี ซึ่งโดยปกติเต่ายักษ์จะมีอายุมากถึง 200 ปี ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูมีความหวังว่า เต่าตัวนี้จะช่วยทำให้เผ่าพันธุ์ของมันดำรงอยู่ต่อไปได้

เมื่อมีการค้นพบ เขาหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูจำนวนประชากรและนำพวกมันกลับสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เต่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 200 ปี ดังนั้นแม้จะมีอายุมาก แต่เต่าตัวเมียก็ยังมีเวลาเหลือเฟือสำหรับช่วยเผ่าพันธุ์ของมันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าใกล้สูญพันธุ์กลับสู่หมู่เกาะกาลาปาโกส ฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูเต่ายักษ์ได้ช่วยเหลือเต่ามากกว่า 7,000 ตัว ในสถานเพาะเลี้ยง เพื่อปล่อยคืนสู่ป่า นอกจากนี้ยังช่วยพื้นฟูเต่า หนึ่งชนิดจากเกาะเอสปาโนลาที่มีจำนวนเต่าลดลงเหลือเพียง 14 ชนิด แต่เมื่อมีความพยายามเพาะพันธุ์เริ่มขึ้น จึงทำให้มีประชากรมากกว่า 1,000 ตัว

เต่าบกบนเกาะกาลาปาโกสมีทั้งหมด 15 ชนิดโดย 2 ชนิด ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในหมู่เกาะกาลาปาโกสและอีก 12 ชนิดถูกคุกคาม แต่สำหรับทาเปียการค้นพบเต่ายักษ์เฟอร์นันดินานั้นเป็นมากกว่าการกลับมาของสายพันธุ์

“เต่าในกาลาปาโกสเป็นเหมือนวิศวกรของระบบนิเวศ” เขากล่าว “พวกมันมีส่วนช่วยในการกระจายเมล็ดพืชและหล่อหลอมระบบนิเวศ ผู้ชำนาญในด้านนิเวศวิทยากล่าวว่ามันถือเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญทางระบบนิเวศเป็นอย่างมาก”

***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม: สิ่งน่าพิศวงเกี่ยวกับ แมงมุมทารันทูลา ที่มีเขาประหลาดอยู่บนหลัง

สิ่งน่าพิศวงเกี่ยวกับ แมงมุมทารันทูลา ที่มีเขาประหลาดอยู่บนหลัง

Recommend