ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 40 กิโลกรัมในท้องของซากวาฬ

ขยะพลาสติกจำนวนกว่า 40 กิโลกรัมในท้องของซากวาฬ

พบวาฬตายบริเวณน่านน้ำประเทศฟิลิปปินส์ สาเหตุการตายมาจาก ขยะพลาสติก ที่เข้าไปติดอยู่ในกระเพาะของมันเป็นจำนวนมากจนทำให้มันขาดสารอาหารพร้อมกับเสียชีวิตไปในที่สุด

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หน่วยงานทางทะเลท้องถิ่นโทรศัพท์หาภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเมืองดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อมาวินิจฉัยวาฬตัวหนึ่งที่มีลักษณะผอมแห้ง พร้อมกับมีอาการอาเจียนเป็นเลือด และคาดการณ์ว่าจะตายลงไปในไม่ช้า โดยทางหน่วยงานต้องการให้ทางพิพิธภัณฑ์นำร่างของวาฬไปตรวจหาสาเหตุของการตายอีกครั้ง

ทันทีที่ดาร์เรล แบลทช์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล และภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ D’Bone Collector นำร่างของวาฬตัวดังกล่าวมาพิสูจน์ตรวจหาสาเหตุการตาย เขาก็พบกับสิ่งที่น่าตกใจ คือขยะพลาสติกกว่า 40 กิโลกรัมในท้องวาฬ

“พลาสติกจำนวนมากอยู่ในกระเพาะของมัน” เขากล่าว “พวกเราหยิบพลาสติกใบแรกออกมา จากนั้นก็ใบที่สอง จนกระทั่งใบที่ 16 โดยมีทั้งถุงพลาสติก ถุงขนม หรือแม้กระทั่งเชือกไนล่อน” เขากล่าวและเสริม “ผมแทบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองเลย”

แม้กระทั่งลูกชายของเขา ที่เข้าร่วมการชันสูตรซากวาฬยังต้องตกตะลึงพร้อมกับตั้งคำถามว่า “พ่อครับ ทำไมมันถึงมีชีวิตอยู่รอดมาได้นานขนาดนี้?”

เศษซากพลาสติกอัดแน่นอยู่ในกระเพาะของวาฬจนมีความหนาและแข็งราวกับเป็น “ลูกเบสบอล” เพียงแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่ามาก ขนาดใหญ่พอๆ กับลูกบาสเกตบอลสองลูกรวมกัน จำนวนพลาสติกที่อยู่ในท้องของวาฬเทียบได้เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 8 ของน้ำหนักตัวทั้งหมดเลยทีเดียว พลาสติกบางส่วนติดอยู่ในกระเพาะวาฬนานจนเริ่มแข็งเป็นหินไปแล้ว

วาฬชนิดดังกล่าวคือวาฬคูเวียร์ มีขนาดความยาวประมาณ 4.5 เมตรและหนัก 500 กิโลกรัม ในส่วนของสาเหตุการตาย น่าจะเป็นเพราะอดอาหารและขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากพลาสติกอุดตันในทางเดินอาหาร ปกติแล้ววาฬจะดูดซับน้ำจากอาหารที่กินเข้าไป แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่า ไม่มีอาหารใดๆ ผ่านเข้าไปในลำไส้ของมันเลยเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ร่างกายเริ่มกระบวนการทำลายตัวมันเอง เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยพลาสติกได้ ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย

วาฬตัวนี้ไม่ใช่ตัวแรก และอาจไม่ใช่ตัวสุดท้าย ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะพลาสติกครั้งนี้

ในภาวะที่ขยะพลาสติกกำลังเพิ่มขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแบบนี้ สัตว์อย่าง โลมา นก และปลากว่าหลายชนิด ต่างต้องเผชิญกับชะตากรรมที่น่าสงสาร พร้อมกับจำนวนพลาสติกมหาศาลในกระเพาะของพวกมัน ในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ร้อยละ 90 ของนกทะเลทั้งหมด ต่างบริโภคพลาสติกเข้าไปไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลจำนวนกว่าแสนตัวที่ต้องตายเพราะขยะพลาสติกในทุกๆ ปี ตามการคาดการณ์ขององค์การยูเนสโก

ขยะพลาสติก
แม้ว่าปลาฉลามวาฬจะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ยังตกเป็นเหยื่อของขยะพลาสติกด้วยเช่นกัน

ในส่วนของสาเหตุของการตายเกิดขึ้นได้หลายสาเหคุ อย่างในกรณีนี้ พลาสติกจำนวนมากไปขัดขวางการดูดซึมอาหารในกระเพาะและลำไส้ ทำให้วาฬเกิดภาวะอดอาหาร บางครั้งขอบของพลาสติกได้บาดอวัยวะภายในของระบบทางเดินอาหาร

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ปริมาณพลาสติกที่สัตว์บริโภคเข้าไปนั้นไม่เพียงพอที่จะเป็นสาเหตุเดี่ยวๆ ที่ทำให้เกิดการล้มตายได้ แมทธิว ซาโวกา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวาฬจากสแตนฟอร์ด กล่าวและเสริมว่า แต่ผลกระทบหลังจากนั้นต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะยิ่งบริโภคพลาสติกเยอะเท่าไหร่ พื้นที่ว่างในกระเพาะก็จะลดน้อยลงเช่นนั้น “หากคุณกินแคลอรี่น้อยกว่าเพื่อนบ้านของคุณเป็นจำนวนร้อยละ 10 ประจำทุกวัน คุณจะเห็นข้อแตกต่างเอง”

“ทุกครั้งที่เราต้องหาพลาสติกในกระเพาะของสัตว์ เรามักพบเจอได้ตลอด” ซาโวกากล่าว “ขณะนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า แม้แต่ในสถานที่ที่มนุษย์ยังไม่เคยเข้าไป พวกเราก็เจอขยะพลาสติกแล้ว และไม่ได้เจอแค่นั้นนะ เรายังเห็นสัตว์กำลังกินพวกขยะเหล่านั้นอยู่ด้วย”

น่านน้ำรอบๆ ประเทศฟิลิปปินส์ถือว่ามีความอันตรายต่อสัตว์ทะเลจำนวนมาก ประเทศนี้เป็นหนึ่งในผู้ก่อมลภาวะพลาสติกที่มากที่สุดในโลก โดยแหล่งน้ำหลายแห่งของประเทศต่างเต็มไปด้วยขยะมากมาย

แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีกฎหมายจำนวนมากที่มุ่งมั่นที่จะลดมลภาวะพลาสติก แต่การบังคับใช้ยังถือว่ายังไม่เข้มงวดมากพอ และยังมีพลาสติกจำนวนมากที่ใช้ห่อผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

แบลทช์ลีย์ได้นำซากวาฬกว่า 61 ตัวที่ตายบริเวณอ่าวดาเวา เขาประเมินว่าพลาสติกเป็นสาเหตุของการตายของวาฬทั้งหมด 45 ตัวจากทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวยังมีความรุนแรงขึ้นโดยการประมงในพื้นที่บริเวณนั้น การตกปลาทำให้อาหารของวาฬมีจำนวนที่น้อยลง ส่งผลให้พวกมันมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะบริโภคเศษพลาสติกที่ลอยอยู่บนทะเลเข้าไป

“มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่เรื่องแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (วาฬตายจากพลาสติก)” เขาเปิดใจ “พวกเราสูญเสียพวกวาฬไปในจำนวนที่มากและเร็วกว่าที่พวกมันจะปรับตัวพร้อมกับตระหนักได้ว่าพลาสติกไม่ใช่อาหารที่ควรบริโภคเข้าไป”

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : แพลงก์ตอนในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก

Recommend